Cultured Meat อีกทางเลือกความมั่นคงด้านอาหารในอนาคต

เรื่องโดย ดร.ทัศชา ทรัพย์มีชัย

Cultured Meat หรือเนื้อแห่งอนาคต ซึ่งมีชื่ออื่น ๆ เช่น Clean Meat, Synthetic Meat หรือ In Vitro Meat โดยเนื้อดังกล่าวเกิดจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อสเต็มเซลล์ (Stem Cell) ของสัตว์ ภายนอกร่างกายของสัตว์นั้น ๆ โดยนำไปเพาะเลี้ยงในห้องทดลองด้วยเทคนิคทางวิศวกรรม เพื่อตอบโจทย์ความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ที่เพิ่มมากขึ้น ขณะที่พื้นที่การปศุสัตว์มีจำกัดและการทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์ส่งผลกระทบต่อสภาวะโลกร้อน

การพัฒนานี้ สืบเนื่องมาจาก การเคลื่อนไหวของนักสิ่งแวดล้อม ที่เตือนว่าการเลี้ยงสัตว์เพื่อบริโภคไม่เป็นมิตรต่อโลก ตัวอย่างเช่น จีน ที่มีการทำปศุสัตว์เพื่อผลิตเนื้อวัว เนื้อหมูและเนื้อไก่ ทำให้ต้องใช้ทรัพยากรต่าง ๆ อย่างมหาศาล เมื่อเทียบกับโปรตีนจากพืช โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตเนื้อวัวที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาจำนวนมากจนส่งผลต่อภาวะโลกร้อน

ปัจจุบันเนื้อเทียมที่มีขายโดยทั่วไป มักมีการทำมาจาก Plant Based Protein เสียส่วนใหญ่ เช่น ถั่วชนิดต่าง ๆ ข้าวสาลี ธัญพืช (อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://petromat.org/home/plant-based-protein) การเข้ามาของ Cultured Meat จึงถือเป็นอีกจุดเปลี่ยนที่สำคัญ และยังมีไม่กี่ประเทศที่ออกกฎหมายเรื่องการขายเนื้อเทียมประเภทสังเคราะห์จากแล็บสู่ภาคประชาชนอย่างจริงจัง

Cultured Meat กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น

เมื่อเดือนมิถุนายน 2564 บริษัท Future Meat Technologies Ltd. บริษัทสตาร์ตอัปสัญชาติอิสราเอลอยู่ระหว่างการเจรจากับหน่วยงานที่กำกับดูแลของประเทศสหรัฐอเมริกา ในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์จากการเพาะเลี้ยงเซลล์เนื้อเยื่อ (Cell-Based Meat products) ในร้านอาหารต่าง ๆ ภายในปลายปี 2565

ทั้งนี้ ตามรายงานของสำนักข่าว Bloomberg บริษัท Future Meat Technologies เพิ่งเปิดโรงงาน ที่เรียกว่าโรงงานผลิตเนื้อสัตว์จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อแห่งแรกของโลก โดยโรงงานดังกล่าวมีกำลังการผลิตได้มากกว่า 1,000 ปอนด์ต่อวัน (453.59 กิโลกรัมต่อวัน) และบริษัทกำลังอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการตั้งโรงงานเพิ่มเติมในหลายแห่งในสหรัฐฯ

โดยโรงงานแห่งนี้สามารถผลิตเนื้อไก่ เนื้อหมูและเนื้อแกะจากการเพาะเลี้ยงเซลล์เนื้อเยื่อ โดยไม่มีการใช้น้ำเหลือง (Serum) จากสัตว์และไม่มีการใช้การดัดแปลงพันธุกรรม (non-GMO) ขณะที่การผลิต เนื้อวัวกำลังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาและคาดว่าจะสามารถผลิตได้ในไม่ช้านี้ นอกจากนี้การผลิตในรูปแบบนี้จะช่วยให้วงจรการผลิตรวดเร็วมากกว่าการทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์แบบเดิมถึง 20 เท่า ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Emission) ลงร้อยละ 80 ลดการใช้พื้นที่ทำฟาร์มลงร้อยละ 99 และลดการใช้น้ำจืดที่ใช้สำหรับการทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์แบบเดิมลงร้อยละ 96

สำหรับอุตสาหกรรมนี้ ในปัจจุบันมีบริษัทมากกว่า 75 บริษัทในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์จากการ เพาะเลี้ยงเซลล์เนื้อเยื่อ ที่ผลิตเนื้อวัวและเนื้อไก่ที่มาจากการเพาะเลี้ยงเซลล์เนื้อเยื่อ และคาดการณ์ว่าจะมีสัดส่วนของมูลค่าทางตลาดสูงถึง 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จากทั่วโลกภายในปี 2573 ตามรายงานของ McKinsey and Company

Cultured meat กับการยอมรับของคนในสังคม

แม้จะดูล้ำหน้าขนาดไหน แต่ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่มองว่า การนำเนื้อสังเคราะห์จากห้องแล็บเข้ามาขายนั้นดูจะเร็วเกินไปสักหน่อย โดยมีความคิดเห็นต่าง ๆ ดังนี้

  • ต้นทุนของเนื้อสัตว์ที่ผลิตจากแล็บยังคงสูงอยู่ หากเปรียบเทียบกับเนื้อสัตว์ปกติตามธรรมชาติ แม้ว่าแนวโน้มด้านราคาโดยรวมจะกำลังลดลงก็ตาม
  • สืบเนื่องจากข้อแรก ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่มองว่า Cultured Meat นั้นดูไม่น่าเชื่อถือ เนื่องจากถูกผลิตออกมาจากแล็บวิจัย ยิ่งเป็นของแพงมากกว่าเนื้อปกติ ยิ่งทำให้ประชาชนส่วนมากเข้าถึงได้ยากพอสมควร
  • แม้แต่คำเรียก “เนื้อเทียม” เองก็เป็นประเด็นอยู่ไม่ใช่น้อย เพราะทางองค์กรปศุสัตว์สหรัฐอเมริกา (USCA) ก็เคยออกมาเรียกร้องกับกระทรวงเกษตรประเทศตนเองเมื่อปี 2018 ว่าควรใช้คำอื่นแทน Meat ที่แปลว่าเนื้อสัตว์ เนื่องจากเป็นสิ่งที่ได้มาจากแล็บทดลอง แต่เห็นได้ชัดว่าในปัจจุบันระดับสากลก็ยังมีการใช้ศัพท์ Meat กันอย่างแพร่หลาย
  • ผู้คนยังยึดติดกับ “เนื้อจริง ๆ” อยู่ เพราะแม้ว่าจะมีการโฆษณาขนาดไหน ผู้ที่ทานเนื้อเทียมจำนวนมากก็ยังให้ความเห็นว่ารสชาติของมันยังไม่เทียบเท่าเนื้อที่ทานกันแบบปกติ

 

ด้วยปัจจัยทั้งหมดจึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่า ก้าวต่อไปของเนื้อเทียมทั้งจากการสังเคราะห์ในแล็บ และเนื้อประเภทอื่น ๆ จะเติบโตไปในทิศทางใด และจะมีบริษัทไหนบ้างที่สามารถทำเนื้อเทียมออกมาได้ “อร่อยและคุ้มค่า” ถูกใจคนทั่วไปจริง ๆ

สิงคโปร์เป็นประเทศแรกของโลกที่อนุมัติขาย Cultured meat

เมื่อปี 2563 สิงคโปร์กลายเป็นประเทศแรกของโลกที่อนุมัติการวางจำหน่ายเนื้อสัตว์ที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ หลังจากบริษัทสตาร์ตอัป Eat Just ของสหรัฐฯ ได้รับอนุญาตจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติของสิงคโปร์ ในการขายเนื้อไก่ที่เพาะเลี้ยงในห้องแล็บ

โดยบริษัทได้นำเนื้อไก่จากห้องแล็บมาวางจำหน่ายในรูปของ ‘นักเก็ต’ ซึ่งตั้งราคาเอาไว้ที่ 50 ดอลลาร์สหรัฐต่อห่อ ทางบริษัท Eat Just กล่าวว่า ปัจจุบันต้นทุนการผลิตเนื้อสัตว์สังเคราะห์ในห้องแล็บลดลงไปมากแล้ว ทำให้เนื้อไก่จากห้องแล็บคงจะมีราคาพอ ๆ กับเนื้อไก่คุณภาพสูงทั่วไป

การพัฒนา Cultured Meat ในประเทศไทย

ปัจจุบันบริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยศูนย์ Veterinary Stem Cell and Bioengineering Innovation Center (VSCBIC) คณะสัตวแพทยศาสตร์ เพื่อพัฒนาเนื้อหมูรูปแบบ Cultured Meat แต่ยังอยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้ได้เนื้อหมูที่มีรสสัมผัส คุณค่าทางอาหาร และต้นทุนที่ใกล้เคียงกับอุตสาหกรรมการผลิตในปัจจุบัน รวมทั้งสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้

นอกจากนี้ ภายใต้เมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้จัดให้มีศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One-Stop Service) เพื่อให้บริการแบบครบวงจรด้านการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมด้านอาหาร โดยมุ้งเน้นการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมเอื้อต่อการทำกิจกรรมวิจัยและนวัตกรรม (Innovation Ecosystem) เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารให้เติบโตอย่างยั่งยืนและแข่งขันในระดับสากลได้ จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการที่สนใจธุรกิจ Cultured Meat และต้องการต่อยอดการพัฒนาสู่การค้าเชิงพาณิชย์ต่อไป

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
  petromat@chula.ac.th