อาหารยั่งยืน, อาหารพิถีพิถัน, กินอย่างละเมียด

เรื่องโดย พรพิมล ชุ่มแจ่ม

การใช้ชีวิตแต่ละวันเป็นไปอย่างเร่งรีบ ทำให้หลาย ๆ คนโหยหาการใช้ชีวิตแบบช้า ๆ เนิบ ๆ วิถีชีวิตแบบ  Slow life จึงเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมมากขึ้น  การใช้ชีวิตแบบค่อยเป็นค่อยไป ชะลอตัวเองไม่ให้หลงใหลไปตามกระแสสังคม ทำทุกอย่างให้ช้าลง เพื่อมีสติและซึมซาบถึงความหมายของชีวิตได้มากขึ้น ทั้งนี้การใช้ชีวิตอย่าง Slow life ไม่ได้แปลว่าเราจะหยุดการเรียนรู้จนกลายเป็นคนล้าหลัง แต่การใช้ชีวิตที่แข่งกับเวลาแล้ว เร่งรีบอย่างที่เคยทำมาตลอดเป็นระเวลาต่อเนื่องนาน อาจทำให้ส่งผลลบกับเราหลายอย่าง เช่น ระบบการทำงานของร่างกายที่ถูกบังคับให้ทำงานหนักกว่าเดิม หรือการเร่งรีบทำให้เราละเลยมองข้ามความสัมพันธ์ในครอบครัว พลาดอะไรในชีวิตไป ดังนั้นหากเราใช้ชีวิตในทุก ๆ อย่างระมัดระวัง ก้าวเดินอย่างละเมียดละไม น่าจะได้อะไรกับชีวิตที่มากกว่า

เมื่อใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบแบบนั้นแล้วส่งผลทำให้วัฒนธรรมการกินเปลี่ยนแปลงไป อาหารจานด่วนหรือฟาสต์ฟู้ด จึงได้รับความนิยม ช่วยย่นระยะเวลาการกิน เพื่อนำเวลาไปใช้ทำอย่างอื่น แต่อาหารฟาสต์ฟู้ดนั้น ไม่ตอบโจทย์เรื่องสุขภาพ รวมทั้งความพิถีพิถันในการปรุงอาหาร ความสุนทรียศาสตร์ในการปรุงอาหาร ตั้งแต่ความพิถีพิถันในการหาวัตถุดิบ การจัดเตรียมอุปกรณ์ เทคนิควิธีการประกอบอาหาร การใช้เครื่องปรุงและเครื่องเทศนานาชนิด เพื่อให้ได้ซึ่งการรับรู้อรรถรสของอาหารอย่างดื่มด่ำ  แนวความคิดนี้ก่อให้เกิดเครือข่าย Slow food organization ในปี  ค.ศ. 1986 ซึ่งมีผู้ก่อตั้งชื่อ Mr.Carlo Petrini ชาวอิตาลี โดยมีสมาชิกมีทั้งชาวเกษตรกร ชาวประมง ผู้เลี้ยงสัตว์ เชฟ นักชิม เข้าร่วมกว่า 160 ประเทศทั่วโลก

อาหารแบบ Slow food จึงหมายถึง อาหารที่มีเอกลักษณ์ (หรือชาวตะวันตกเรียกว่ามี taste) มีรสชาติ ที่เป็นจุดเด่นของชาติ หรือท้องถิ่นนั้น ๆ ใช้วัตถุดิบที่ผลิต และหาได้ในท้องถิ่น ได้รับการปรุงอย่างประณีต ใส่ใจในทุก ๆ รายละเอียด ทุกขั้นตอน และการกินอาหาร แบบ Slow food เป็นการกินอาหารที่ผู้กินสามารถลิ้มลองสัมผัส และมีความสุขกับอาหารที่กินได้อย่างแท้จริง

หน้าที่หลักขององค์กร Slow food คือ การปกป้องและป้องกันการสูญหายของอาหารท้องถิ่น ปลูกฝังสร้างจิตสำนึกให้ผู้คนสนใจในอาหารที่เราบริโภคว่ามาจากที่ใด ใครเป็นคนปรุงอาหาร มีองค์ประกอบที่สำคัญ 3 อย่างด้วยกัน คือ

  • ดี คุณภาพดี รสชาติดี สุขภาพดี
  • สะอาด ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
  • เป็นธรรม ราคาที่สามารถให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้ ผู้ผลิตอยู่ได้ รวมถึงมีความเมตตาธรรมกับสัตว์ที่นำมาประกอบอาหาร

ประโยชน์ของ Slow food

เมืองไทยเรามีอาหารพื้นเมืองท้องถิ่นอยู่มาก ข้าวแกง ก๋วยเตี๋ยวเรือ ผัดไทย อาหารท้องถิ่นที่หลากหลาย การปรุงอย่างละเอียดที่ต้องทำช้า ๆ ใช้วัตถุดิบท้องถิ่นที่สดใหม่ตามฤดูกาล มีประโยชน์ปลอดภัย ปราศจากการตัดต่อทางพันธุกรรมหรือสารเคมี ผ่านกระบวนการปรุงอย่างใส่ใจในทุกขั้นตอนอย่างพิถีพิถัน

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยสำหรับชาว Slow life ที่ต้องการลองทำอาหาร Slow food ที่บ้านสักมื้อ อาจจะชวนเพื่อนสนิท คนรัก หรือคนในครอบครัว มาร่วมกิจกรรมทำอาหาร ตั้งแต่เลือกสินค้าท้องถิ่นจากเกษตรกร เลี่ยงอาหารที่ถูกดัดแปลง หันมาซื้อสินค้าออร์แกนิคแทน พร้อมเสิร์ฟเมนูเด็ดที่ได้จัดทำด้วยกัน ถือเป็นช่วงเวลาที่มีคุณภาพ และเมื่อได้ทานอาหารที่มาจากแหล่งวัตถุดิบที่ดี มีความสดใหม่ สะอาด โอกาสจะเกิดโรคร้ายต่าง ๆ ข้างต้น ก็จะน้อยลงไปด้วย

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
  petromat@chula.ac.th