โพรไบโอติกส์และพรีไบโอติกส์ คืออะไร ต่างกันอย่างไร

เรื่องโดย ดร.ทัศชา ทรัพย์มีชัย

โพรไบโอติกส์และพรีไบโอติกส์ คืออะไร ต่างกันอย่างไร

ปัจจุบัน โฆษณาอาหารเสริมหรืออาหารเพื่อสุขภาพมักจะต้องมีการหยิบยกผู้ช่วยที่เป็นมิตรกับลำไส้และระบบขับถ่าย อย่างโพรไบโอติกส์และพรีไบโอติกส์ขึ้นมาเป็นส่วนผสมในอาหารเหล่านั้นอยู่เสมอ แต่ความหมายของมันคืออะไร เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร ติดตามไปพร้อม ๆ กันเลยค่ะ

โพรไบโอติกส์คืออะไร ?

โพรไบโอติกส์ (Probiotics) เป็นจุลินทรีย์ขนาดเล็กซึ่งจัดเป็นกลุ่มจุลินทรีย์ชนิดดี สามารถพบได้ในอาหาร เช่น นมเปรี้ยว โยเกิร์ต กิมจิ มิโสะ เป็นต้น ผู้เชี่ยวชาญด้านทางเดินอาหารให้คำจำกัดความว่า โพรไบโอติกส์ คือ “จุลินทรีย์ที่มีชีวิต เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วจะทำให้สุขภาพดีในภาวะต่าง ๆ โดยเป็นจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติทนต่อกรดและด่าง สามารถจับที่บริเวณผิวของเยื่อบุลำไส้แล้วผลิตสารต่อต้านหรือกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ชนิดอื่น ๆ รวมถึงก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพได้”

โพรไบโอติกส์ สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ดังนี้

  1. แลคโตบาซิลลัส (Lactobacillus) เป็นแบคทีเรียชนิดดีในกลุ่มของโพรไบโอติกส์ที่พบได้มากที่สุด โดยสามารถพบได้ในอาหารจำพวก โยเกิร์ต นมเปรี้ยว อาหารหมักดองต่าง ๆ ดีต่อระบบขับถ่าย และดีต่อผู้ที่มีประสบปัญหาไม่สามารถย่อยแลคโตสในนมได้
  2. ไบฟิโดแบคทีเรียม (Bifidobacterium) ได้รับการจัดว่าเป็นหนึ่งในจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ที่ดีที่สุด สามารถพบได้ในอาหารจำพวกผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากนม มีส่วนช่วยในการบรรเทาอาการลำไส้แปรปรวน

นอกจากจุลินทรีย์สองกลุ่มใหญ่แล้ว อีกส่วนหนึ่งของโพรไบโอติกส์ก็ยังเป็นเชื้อยีสต์ ได้แก่ แซคคาโรไมซิส (Saccharomyces boulardii) เป็นยีสต์ที่พบได้ในกลุ่มของโพรไบโอติกส์ มีส่วนช่วยบรรเทาอาการท้องเสียและบรรเทาอาการปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร

ประโยชน์ของโพรไบโอติกส์

โพรไบโอติกส์นั้นเป็นจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ เมื่อรับประทานโพรไบโอติกส์เข้าไปแล้ว จะเข้าไปแทนที่จุลินทรีย์ชนิดไม่ดีและเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ชนิดดี มีส่วนสำคัญที่ใช้ในทางการแพทย์ เพื่อการรักษาและป้องกันภาวะลำไส้อักเสบ ไม่ว่าจะเป็นอาการท้องเสีย โรคลำไส้แปรปรวน ภาวะลำไส้อักเสบจากการที่ได้รับยาปฏิชีวนะ แม้กระทั่งภาวะท้องผูกเรื้อรังก็พบว่าการใช้โพรไบโอติกส์ มีส่วนทำให้ภาวะต่าง ๆ นี้ดีขึ้น

 

ประโยชน์ต่อระบบอื่น ๆ ซึ่งอยู่ในระหว่างการวิจัยแต่มีหลักฐานว่ามีประโยชน์

  • ระบบภูมิคุ้มกัน เช่น ในภาวะโรคภูมิแพ้ โดยเฉพาะโรคภูมิแพ้ของผิวหนัง
  • ระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น การติดเชื้อราในระบบทางเดินปัสสาวะ
  • ระบบประสาทและภาวะทางจิตเวช
  • โรคโคลิคในเด็ก
  • โรคตับ เช่น ภาวะไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์

 

ทั้งนี้ โพรไบโอติกส์ก็ไม่ได้เหมาะกับคนทุกคน เนื่องจาก หากคุณเป็นคนหนึ่งที่เม็ดเลือดขาวต่ำ ภูมิคุ้มกันต่ำ ผู้ที่ได้รับยากดภูมิหรือได้รับเคมีบำบัดอยู่ ก็ควรจะงดเว้นอาหารประเภท โยเกิร์ต นมเปรี้ยวรวมไปถึงอาหารหมักดองทั้งหลาย เพราะอาจจะก่อให้เกิดการติดเชื้อได้ นั่นเอง

พรีไบโอติกส์คืออะไร ?

พรีไบโอติกส์ (Prebiotics) คืออาหารชนิดหนึ่ง เป็นสิ่งไม่มีชีวิต ซึ่งร่างกายไม่สามารถย่อยและดูดซึมได้ที่ลำไส้เล็ก อาหารเหล่านี้จึงสามารถเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ได้ในรูปไม่เปลี่ยนแปลงและจะถูกย่อยสลายโดยแบคทีเรียโพรไบโอติกส์ ทำให้กระตุ้นการเจริญเติบโตและการทำงานของแบคทีเรีย แหล่งอาหารที่มีพรีไบโอติกส์พบได้ในน้ำนมแม่ พืช ผัก ผลไม้ ที่มีใยอาหารมาก เช่น เซลลูโลส เฮมิเซลลูโลส อินูลิน เพคติน ฟรุคโตโอลิโกแซ็คคาไรด์ ตัวอย่างอาหารที่เป็นแหล่งของ Prebiotics แสดงดังตาราง

ประโยชน์ของพรีไบโอติกส์

พรีไบโอติกส์มีประโยชน์ในแง่ที่ช่วยส่งเสริมการทำงานของจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ กล่าวคือ ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตและเป็นอาหารให้กับจุลินทรีย์ตัวดีในลำไส้ ทำให้จุลินทรีย์เหล่านี้เติบโตและยับยั้งการทำงานของจุลินทรีย์ก่อโรค ปรับลำไส้ให้เข้าสู่สภาวะสมดุล ป้องกันการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ลดความเสี่ยงในการเกิดหัวใจและหลอดเลือด ช่วยลดน้ำหนัก ช่วยให้การดูดซึมแคลเซียมและแร่ธาตุดีขึ้น และยังมีส่วนช่วยทำให้ระบบภูมิคุ้มกันดีขึ้นอีกด้วย

พรีไบโอติกส์ กับ โพรไบโอติกส์ ต่างกันอย่างไร

เห็นได้อย่างชัดเจนว่าทั้งพรีไบโอติกส์และโพรไบโอติกส์นั้นเป็นสิ่งที่ทำงานสัมพันธ์กัน และให้ประโยชน์ต่อร่างกายในเรื่องของระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่ายเหมือนกัน แต่จะมีความแตกต่างกันตรงที่พรีไบโอติกส์นั้นเป็นสารอาหารที่ได้จากการรับประทานอาหารและอาหารเสริม ในขณะที่โพรไบโอติกส์จะเป็นจุลินทรีย์ที่มีชีวิตและมีประโยชน์ต่อร่างกายซึ่งสามารถพบได้จากการรับประทานอาหารและอาหารเสริมเช่นเดียวกับโพรไบโอติกส์

นอกจากนี้พรีไบโอติกส์ยังไม่สามารถถูกย่อยที่ลำไส้เล็กได้ จำเป็นต้องอาศัยโพรไบโอติกหรือจุลินทรีย์ที่ดีมาทำการย่อยเพื่อเป็นอาหารให้แบคทีเรียที่ดีในลำไส้ ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ร่างกายไม่ควรขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ว่าจะเป็นพรีไบโอติกส์หรือโพรไบโอติกส์ เพราะทั้งสองสิ่งนี้ทำงานเกื้อกูลซึ่งกันและกันเพื่อช่วยส่งเสริมการทำงานของลำไส้ให้ทำงานได้อย่างสมดุลและมีประสิทธิภาพ

 

ระบบทางเดินอาหารก็มีความสำคัญไม่แพ้ระบบอื่น ๆ ของร่างกาย เราจึงควรใส่ใจดูแลตั้งแต่ตอนยังปกติดีอยู่ รู้อย่างนี้แล้วคนไหนที่รู้สึกว่าท้องไส้ไม่ค่อยสมดุล เดี๋ยวท้องผูก เดี๋ยวท้องเสีย ก็อย่าลืมลองหาอาหารที่เป็นแหล่งของพรีไบโอติกส์และโพรไบโอติกส์มาลองทานกันดูนะคะ

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
  petromat@chula.ac.th