NET ZERO : ทำไมใคร ๆ ก็พูดถึง

เรื่องโดย นุสรา จริยะสกุลโรจน์

เดาว่านี่คงไม่ใช่ครั้งแรกที่พบคำว่า “Net Zero” เพราะทุกวันนี้ไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็มักจะพบกับคำนี้บ่อยครั้ง เคยสงสัยกันไหมว่าจริง ๆ แล้วคำนี้คืออะไร เกี่ยวข้องอย่างไรกับก๊าซเรือนกระจก ทำไมใคร ๆ ก็พูดถึง นอกจากนี้ยังมี Carbon Neutrality และ Climate Neutrality แต่ละคำต่างกันอย่างไร แล้วทุกอย่างที่กล่าวมามีผลต่อเราหรือไม่ เราจะอธิบายให้ฟังแบบง่าย ๆ โดยเริ่มตั้งแต่ต้นเหตุที่ก๊าซเรือนกระจกกันก่อนนะคะ

ก๊าซเรือนกระจกคืออะไร?

ก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse gases: GHG) คือ กลุ่มก๊าซในชั้นบรรยากาศโลกที่สามารถดูดซับและปล่อยรังสีภายในช่วงความถี่เฉพาะของรังสีอินฟราเรดที่ปล่อยสู่ผิวโลก ชั้นบรรยากาศ และเมฆ ก๊าซเรือนกระจกประกอบด้วยก๊าซ 7 ชนิดตามที่กำหนดภายใต้พิธีสารเกียวโต ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มีเทน (CH4) ไนตรัสออกไซด์ (N2O) ไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFCs) เพอร์ฟลูออโรคาร์บอน (PFCs) ซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ (SF6) และไนโตรเจนไตรฟลูออไรด์ (NF3) ก๊าซเรือนกระจกมีความจำเป็นและมีความสำคัญต่อการรักษาระดับอุณหภูมิของโลก หากปราศจากก๊าซเรือนกระจก โลกจะหนาวเย็นจนอยู่อาศัยไม่ได้ แต่หากมีปริมาณมากเกินไปก็จะส่งผลให้อุณหภูมิภายในโลกสูงขึ้นดังเช่นทุกวันนี้เพราะก๊าซเรือนกระจกจะกักเก็บรังสีความร้อนและคายกลับลงมายังผิวโลกจึงเรียกว่า ปรากฏการณ์เรือนกระจก การประเมินและคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามหลัการจะคำนวณก๊าซทุกตัวออกมาเป็นคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าและเรียกการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เข้าใจง่ายว่า การปล่อยคาร์บอน

ก๊าซเรือนกระจกมาจากไหน?

มาจากธรรมชาติและกิจกรรมของมนุษย์ ในอดีตก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมปริมาณ CO2 ที่เกิดจากธรรมชาติมีปริมาณสูงกว่าจากกิจกรรมของมนุษย์ประมาณ 20 เท่าแต่ปริมาณดังกล่าวอยู่ในภาวะสมดุลด้วยการกักเก็บตามธรรมชาติ และตั้งแต่หลังปฏิวัติอุตสาหกรรมจนถึงปัจจุบันแหล่งกำเนิดหลักมาจากกิจกรรมของมนุษย์ซึ่งส่งต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามมาอย่างรุนแรง

แหล่งกำเนิดก๊าซเรือนกระจกแต่ละชนิด

ก๊าซเรือนกระจกมีผลต่อพวกเราอย่างไร?

จากรายงาน IPCC’s Climate Change 2021 ของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ระบุว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของมนุษย์ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกปัจจุบันสูงกว่ายุคก่อนอุตสาหกรรมแล้ว 1.1OC ทำให้ขีดกำหนด 1.5OC จะมาถึงก่อนที่เคยคาดการณ์ไว้ 10 ปีหรืออาจจะเกิดขึ้นภายในปีค.ศ. 2030 หากไม่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โลกที่ร้อนขึ้น 1.5OC อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ควบคุมไม่ได้ เช่น อากาศร้อนถึงขั้นที่ปลูกพืชผลไม่ได้หรือคนสามารถเสียชีวิตได้เพียงแค่ออกไปอยู่กลางแจ้ง ผลกระทบที่เกิดให้เห็นแล้วในยุคปัจจุบันมีทั้งคลื่นความร้อนในมหาสมุทรเกิดขึ้นบ่อยกว่าเดิม 4 เท่า ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นเร็วกว่าอดีต 3 เท่า พายุเฮอริเคนและสภาพอากาศสุดขั้วต่าง ๆ ที่เป็นไปได้ว่าจะรุนแรงเพิ่มขึ้น

ที่มา: เอกสารประกอบการสัมมนากิจกรรมชดเชยคาร์บอนเพื่อบรรลุ Carbon Neutrality องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) วันที่ 29 พฤศจิกายน 2564

ใครบ้างที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้?

ทุกคนรวมถึงกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจก็ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ โดยวิธีการลดมีหลากหลายวิธีเริ่มได้ตั้งแต่ตัวเรา (ดังภาพ) จนถึงการบริหารจัดการระดับประเทศ

ส่วนหนึ่งของแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ปฏิบัติได้ง่าย

การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของมนุษย์ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นส่งผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรงนั้น ทั่วโลกจึงมีการตื่นตัวประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์และกิจกรรมต่าง ๆ ที่เรียกว่า คาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) โดยคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในหน่วยคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เพื่อหาทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases Reduction) การชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ไม่สามารถลดได้ให้เป็นกลาง (Climate Neutrality) หรือ การชดเชยการปล่อยคาร์บอนที่ไม่สามารถลดได้ให้เป็นกลาง (Carbon Neutrality) นำไปสู่การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Emission

อะไรคือการชดเชยคาร์บอน?

การชดเชยคาร์บอน (Carbon Offsetting) คือการซื้อคาร์บอนเครดิตมาชดเชยกับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่างๆ ขององค์กร ผลิตภัณฑ์ เหตุการณ์ หรือบุคคลเพื่อทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้นลดลงหรือเท่ากับศูนย์ (Carbon Neutrality)

แล้วคาร์บอนเครดิตคืออะไร?

คาร์บอนเครดิต คือปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่สามารถลดได้จากการดำเนินโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด หรือ ที่เรียกว่า CDM (Clean Development Mechanism) โครงการพัฒนาที่สะอาดตามพิธีสารเกียวโต ซึ่งมีสิทธิ์ขายคาร์บอนเครดิต ได้แก่ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพลังงาน การผลิตพลังงานหมุนเวียน การเปลี่ยนเชื้อเพลิง การกักเก็บและการเผาทำลายก๊าซมีเทน การปรับเปลี่ยนวิธีการทำเกษตรกรรมและปศุสัตว์ การจัดการน้ำเสียและขยะ และการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม เป็นต้น

Climate Neutrality / Carbon Neutrality / Net Zero ต่างกันอย่างไร?

คำ 3 คำมีความแตกต่างกันเล็กน้อย เปรียบเทียบได้ดังนี้

หากสรุปง่ายๆ :

• ตามหลักการ Climate Neutrality สนใจก๊าซเรือนกระจกทั้ง 7 ชนิด ส่วน Carbon Neutrality สนใจก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เท่านั้น แต่เนื่องจากการคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะคิดก๊าซทุกชนิดออกมาเป็นคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ดังนั้นในทางปฏิบัติจึงมักใช้หรือได้ยินคำว่า Carbon Neutrality เป็นหลักและถูกใช้แทน Climate Neutrality เสมอ
• โครงการ/กิจกรรมสำหรับ Climate Neutrality และ Carbon Neutrality ที่จะนำมาชดเชยปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เหลือปล่อยให้เป็นกลางด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิต สามารถเป็นได้ทั้งโครงการ/กิจกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือ โครงการ/กิจกรรมกักเก็บก๊าซเรือนกระจก อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้ง 2 ประเภทก็ได้
• Net Zero Emission สนใจก๊าซเรือนกระจกทั้ง 7 ชนิด ประเมินและคำนวณก๊าซทุกชนิดออกมาเป็นคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โครงการ/กิจกรรมที่จะนำมาชดเชยปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เหลือปล่อยให้สุทธิเป็นศูนย์ ต้องเป็นการดักจับหรือกักเก็บก๊าซเรือนกระจกเท่านั้น (โครงการ/กิจกรรมที่เป็นการลดการปล่อยก๊าซ ไม่สามารถนำมาชดเชยได้) และการชดเชยเป็นได้ทั้งการซื้อคาร์บอนเครดิตหรือดำเนินโครงการ/กิจกรรมดังกล่าวด้วยตนเอง

สำหรับแนวทางของประเทศไทยนั้น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แสดงเจตนารมย์ของประเทศไทยในการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2564 – วันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ว่า…

“…ประเทศไทยจะยกระดับการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศอย่างเต็มที่และด้วยทุกวิถีทาง เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปีค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emission) ภายในหรือก่อนหน้าปีค.ศ. 2065 ด้วยการสนับสนุนทางด้านการเงินและเทคโนโลยีอย่างเต็มที่และเท่าเทียม รวมถึงการเสริมสร้างขีดความสามารถจากความร่วมมือระหว่างประเทศและกลไกภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ…”

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ได้เป็นปัญหาของใครคนใดคนหนึ่ง ดังนั้นทุกภาคส่วนของประเทศไทยตั้งแต่ตัวเราจนถึงการบริหารประเทศต้องตระหนักถึงความสำคัญ ตั้งเป้าหมายและร่วมมือช่วยกันแก้ปัญหาลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้

แหล่งข้อมูล

  1. องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน), ข้อกำหนดและแนวทางการคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์, พิมพ์ครั้งที่ 7, หน้า 8, 19.
  2.  องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน), เอกสารประกอบการสัมมนากิจกรรมชดเชยคาร์บอนเพื่อบรรลุ Carbon Neutrality วันที่ 29 พฤศจิกายน 2564
  3. https://th.wikipedia.org/wiki/แก๊สเรือนกระจก
  4. http://www.tgo.or.th/2020/index.php/th/post/รายงานipccของยูเอ็นเตือน
  5. http://www.tgo.or.th/2020/index.php/th/page/ปรากฏการณ์ก๊าซเรือนกระจก-319
  6. http://www.tgo.or.th/2020/index.php/th/page/กิจกรรมชดเชยคาร์บอน-134
  7. http://www.tistr.or.th/tistrblog/?p=663
  8. https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/47700

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
  petromat@chula.ac.th