จากโลกร้อนสู่โลกรวน เตรียมเทคโนโลยีเพื่อรองรับ Net Zero Emission

เรื่องโดย ฤทธิเดช แววนุกูล

“อีกี้นี้มันเป็นสก๊อยไปกับผู้บ่อย ผู้พาไป skrt” ท่อนฮิตติดหูจากเพลง “ธาตุทองซาวด์” ของศิลปิน “YOUNGOHM” ซึ่งมาพร้อมๆ กับแฟชั่น Y2K และท่าโพสแลบลิ้นมุมปากพร้อมชู 2 นิ้ว ที่เป็นกระแสฮิตตอนต้นปี 2023 ในกลุ่มวัยรุ่น Gen Z ที่เกิดในช่วงปี 1997 – 2012

เมื่อพูดถึงยุค Y2K ทำให้นึกถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ ที่เข้ามาในยุคนั้น เช่น ตู้ถ่ายรูปสติกเกอร์ เพจเจอร์ โทรศัพท์มือถือ ทีวีจอแบน คอมพิวเตอร์ Hi5 เกมส์ออนไลน์ ฯลฯ เราได้เห็นการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย กล้องดิจิทัลเข้ามาแทนกล้องฟิล์ม การล้มละลายของ Kodak การเข้ามาของสตีฟ จอบส์ พร้อมกับโทรศัพท์มือถือ iPhone ที่ไม่มีปุ่มกด ซึ่งล้มยักษ์ใหญ่อย่าง Nokia และ BlackBerry ในด้านภาพยนตร์เราได้รับรู้ถึงความยิ่งใหญ่ของภูเขาน้ำแข็งที่แม้แต่เรือยักษ์ที่เชื่อว่าไม่มีวันจมยังร่วงหล่นสู่ก้นทะเลเมื่อเข้าปะทะใน Titanic ปี 1997 จากนั้นในปี 2004 เราได้รับรู้ว่าภาวะโลกร้อนทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลาย สภาพอากาศแปรปรวน และโลกเข้าสู่ยุคน้ำแข็งอีกครั้งใน The Day After Tomorrow หนังถ่ายทอดเรื่องราวได้น่าติดตาม ลุ้นระทึก แทรกสาระความรู้ แต่ก็คิดว่าฮอลลีวูดสร้างเรื่องเกินจริงไปหน่อย แต่พอผ่านมาอีก 2 ปี อัล กอร์ รองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา คนที่ 45 ได้นำเสนอข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ผ่าน ภาพยนตร์สารคดี An Inconvenient Truth ปี 2006 ว่าด้วยโลกของเราร้อนขึ้นจากก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases: GHG) ที่มนุษย์สร้างขึ้น ทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และกระทบต่อสิ่งมีชีวิตต่างๆ รวมถึงมนุษย์ เป็นการตอกย้ำว่าหนังที่เราดูมันใกล้ตัวกว่าที่คิด

วันเวลาผ่านไป ผู้คนตระหนักถึงปัญหาภาวะโลกร้อน (Global Warming) ผู้คนรู้ถึงสาเหตุของปัญหาว่ามาจากการสะสมก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases: GHG) มากเกินสมดุลในช่วงไม่กี่ร้อยปีที่ผ่านมา ตั้งแต่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรม และรู้ว่ากิจกรรมของมนุษย์เป็นส่วนหลักที่ทำให้เกิด GHG มากขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และ มีเทน (CH4) มีการประชุมพูดคุยกันในวงกว้างเพื่อขอความร่วมมือจากนานาประเทศในการรับมือภาวะโลกร้อน มีการร่วมลงนามในความตกลงปารีส (Paris Agreement) ในการประชุม COP 21 ที่ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี 2015 แต่ความตกลงก็เป็นเพียงความตกลง มีแนวทางให้ปฏิบัติ แต่ไม่มีการบังคับให้ปฏิบัติ นอกจากนั้น ในสมัยของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สหรัฐอเมริกายังถอนตัวออกจากความตกลงปารีสอย่างเป็นทางการอีกด้วย

ในขณะที่ผู้คนยังถกเถียงถึงสภาพเศรษฐกิจและปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้น ปัญหาภาวะโลกร้อนไม่ได้หายไปไหนแต่กลับทวีความรุนแรงขึ้น เกิดการการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงและเกิดผลกระทบมากมาย เข้าสู่ปัญหาภาวะโลกรวน (Climate Change)

คุณเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO) และผู้ทรงคุณวุฒิ PETROMAT เคยให้ข้อมูลว่า “มีการประเมินว่าปัจจุบันอุณหภูมิสูงขึ้น 1.2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม และถ้าอุณหภูมิสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส มนุษย์จะเริ่มที่จะอยู่ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นผลผลิตการเกษตร อาหาร ปริมาณน้ำจืด สมดุลของระดับน้ำทะเล การละลายของน้ำแข็ง พายุ ภัยพิบัติต่างๆ จะทวีมากกว่านี้หลายเท่า เป็นการขึ้นแบบ Exponential ไม่ใช่แบบ Linear โดยประเมินว่า 0.3 องศาเซลเซียส ที่เหลืออยู่ จะใช้เวลาไม่เกิน 20 ปี”

ภัยพิบัติต่างๆ ที่เกิดในภาพยนตร์ เริ่มทยอยเกิดขึ้นในโลกความเป็นจริง น้ำแข็งในทะเลอาร์กติกละลาย ป่าแอมะซอนแห้งแล้ง พายุที่รุนแรง น้ำท่วมใหญ่ ไฟป่าที่เกิดง่ายขึ้น คลื่นความร้อน พายุหิมะ อุณหภูมิติดลบอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ในอดีตที่ผ่านมา มีการเกิดภาวะโลกรวนเช่นกัน โดยจะใช้ช่วงเวลาหลายร้อยปีหรือหลายพันปี แต่ในปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นไวมาก และเป็นเรื่องยากที่จะคาดเดาว่าแต่ละปีจะเกิดภัยพิบัติอะไรบ้าง

“How dare you?” คำถามด้วยความโกรธเกรี้ยวและสายตาที่แข็งกร้าวของ เกรียตา ทืนแบร์ย (Greta Thunberg) เด็กสาวชาวสวีเดนวัย 16 ปี ในปี 2019 ที่ส่งต่อถึงผู้มีอำนาจของโลกและกระแทกจิตใจผู้คนทั่วโลกให้หันมาสนใจสิ่งแวดล้อม “นานเกินไปแล้ว ที่นักการเมืองและผู้ที่มีอำนาจลอยนวลโดยการไม่ลงมือทำอะไรเพื่อต่อสู่กับวิกฤติสภาพภูมิอากาศ แต่พวกเราจะทำให้มั่นใจว่า พวกเขาจะไม่สามารถหนีปัญหานี้ได้อีกต่อไป พวกเราจะหยุดเรียนและออกมาประท้วง จนกว่าพวกเขาจะทำอะไรซักอย่างเกี่ยวกับปัญหาเหล่านี้” (จาก workpointTODAY)

ข้อมูลที่น่าสนใจจากสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ชี้ว่า ในช่วง 40-50 ปีที่ผ่านมา ในประเทศไทย อุณหภูมิเพิ่มขึ้นประมาณ 1.2 องศาเซลเซียส และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกเป็นประมาณ 2 องศาเซลเซียส ในปี ค.ศ. 2050 ถ้าไม่มีการแก้ปัญหา โดยจะผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจที่เป็นตัวขับเคลื่อนประเทศขณะที่ Global Risk Index จัดอันดับให้ประเทศไทยมีความเสี่ยงต่อผลกระทบจากภาวะโลกรวนเป็นอันดับ 9 ของโลก โดยประเทศไทยมีความเสี่ยงต่อภัยแล้งสูงเป็นอันดับ 6 ของโลก แต่มีขีดความสามารถในการรับมืออยู่ในอันดับที่ 39 จาก 48 ประเทศ ผลการศึกษาจาก Swiss Re Institute รายงานว่า หากประเทศไทยยังไม่มีมาตรการปรับตัวใดๆ เพื่อลดผลกระทบจากภาวะโลกรวน หากอุณหภูมิเฉลี่ยโลกเพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียส GDP ของประเทศจะลดลง 4.9% และหากอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 3.2 องศาเซลเซียส GDP ของประเทศจะลดลงถึง 43.6%

ปัจจุบันรัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญกับภาวะโลกรวนมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากการประชุม COP26 ในปี 2021 ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ รัฐบาลไทยจึงได้ประกาศว่าประเทศไทยจะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 ทำให้เกิดการตื่นตัวในทุกภาคส่วน โดยคุณเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ได้ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนาต่อจากนี้ไป ไว้ดังนี้ “New Technology และการทำ R&D จะเปลี่ยนไปหมด เกิด Race to Zero องค์กรต่างๆ จะแข่งขันกันทั้งหมด ใครอยู่ข้างหลังจะเป็นผู้ซื้อ ใครอยู่ข้างหน้าจะเป็นผู้ขาย ทั้งประเทศจะพยายามวิ่งไปเป็นผู้ขาย ตั้งแต่ปี 2050 ทุกประเทศจะถูกห้ามปล่อยคาร์บอน และในปี 2070 ทุกประเทศจะต้องไม่มีการปล่อยคาร์บอนอีกเลย จะมี 2 เทคโนโลยีที่ถูกนำเข้ามาใช้ คือ เทคโนโลยีเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน แต่ถ้าไม่สามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้ ก็ต้องกักเก็บคาร์บอนให้ได้ ดังนั้น เทคโนโลยีการกักเก็บคาร์บอน จึงเป็นอีกเทคโนโลยีที่สำคัญ”

ข้อเท็จจริงหนึ่งที่ต้องยอมรับคืออุตสาหกรรมปิโตรเลียม ปิโตรเคมี และต่อเนื่อง เป็นอุตสาหกรรมที่มีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ในฐานะที่ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ (PETROMAT) เป็นหน่วยวิจัยที่เป็นศูนย์รวมนักวิจัยที่มีเชี่ยวชาญ (Hub of Talents) ด้านปิโตรเลียม ปิโตรเคมี วัสดุ และอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ ในด้านหนึ่ง PETROMAT ทำหน้าที่ยื่นข้อเสนอโครงการวิจัยเพื่อของบประมาณจากภาครัฐ ซึ่งแน่นอนว่าหัวข้อโครงการวิจัยที่ยื่นเสนอขอต้องสอดคล้องกับนโยบายภาครัฐ ณ เวลานั้น ในอีกด้านหนึ่ง PETROMAT ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและรับทำวิจัยตามโจทย์วิจัยจากภาคเอกชน จากหน้าที่ทั้งสองด้านทำให้ PETROMAT รับรู้ว่าทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต่างให้ความสำคัญกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และมีแนวโน้มชัดเจนมากขึ้นเมื่อภาครัฐผลักดันนโยบายเศรษฐกิจ BCG ในขณะที่ภาคเอกชนก็ตอบรับนโยบายด้วยเช่นกัน ทิศทางการวิจัยและพัฒนาจึงขับเคลื่อนไปในด้าน Biorefinery ด้าน Digital and Green Transformation และ ด้าน Net-Zero Emission ซึ่งสอดคล้องกับความคิดเห็นของคุณเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ในข้างต้น

จะเห็นได้ว่าองค์ความรู้ใหม่และทักษะงานวิจัยในด้านที่เกี่ยวข้องเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมในกลุ่มปิโตรเลียม ปิโตรเคมี และต่อเนื่อง เช่น ด้านเทคโนโลยีใหม่ศักยภาพสูงไม่ก่อให้เกิด (Avoid) การลด (Reduce) และดักจับ (Capture and Sequestration) ก๊าซเรือนกระจก การใช้พลังงานทดแทนจากชีวมวลและไฮโดรเจน (Biogas and Green Hydrogen) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture Use and Storage, CCUS)  การกลั่นชีวภาพ (Biorefinery) พลาสติกชีวภาพ (Bioplastics) การใช้ประโยชน์จากของเสีย (Waste Utilization) และนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycling)  นอกจากนี้ยังรวมถึง การออกแบบเชิงเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Design) หรือการออกแบบเพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Net-Zero Carbon) และอาหารแห่งอนาคต (Food  for the Future) เป็นต้น เมื่อทิศทางการวิจัยและพัฒนาของประเทศทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนชัดเจนขนาดนี้แล้ว สิ่งจำเป็นต่อไปคือการเตรียมกำลังคนที่จะรองรับต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมไปในทิศทางดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มบุคลากรใหม่ (New & Emerging Job) กลุ่มบุคลากรเดิมที่ได้รับผลกระทบ (Job Affected by the Transition) และกลุ่มบุคลากรเดิมที่มีความต้องการเพิ่มมากขึ้น (Job Will Need in Greater Number) ทั้งนี้ความสามารถและของบุคลากรที่จะตอบสนองต่อความต้องการ จะต้องอาศัยทั้งองค์ความรู้และทักษะที่หลากหลายและผสมผสานเพื่อที่จะบูรณาการให้เกิดการจัดการก๊าซคาร์บอนอย่างบูรณาการและยั่งยืน อาทิเช่น องค์ความรู้ด้านดิจิทัลและความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Digital and Green Literacy) การคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) การปรับปรุงประสิทธิภาพ (Optimization) และองค์ความรู้เชิงลึกที่มีความเฉพาะต่อกระบวนงานและระเบียบวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีต่างๆ  รวมถึงทักษะอื่นๆ เช่น การออกกระบวนงาน/การผลิตแบบเชิงเศรษฐกิจหมุนเวียน  และปรับปรุงระบบเพื่อยืดอายุการใช้งาน เป็นต้น

ที่ผ่านมา PETROMAT ได้พัฒนางานวิจัยด้านความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) มาโดยตลอดผ่านโครงการวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐ เช่น โครงการวิจัยการจัดเก็บและใช้ประโยชน์ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเพื่อสิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรมพลังงานและเคมีชีวภาพ ปี 2018 โครงการวิจัย GHG Utilization for Circular Economy ปี 2019 โครงการวิจัยการกักเก็บและการใช้ประโยชน์ก๊าซเรือนกระจกอย่างยั่งยืนสำหรับอุตสาหกรรมเคมีและปิโตรเคมี ปี 2020 ซึ่งการดำเนินโครงการวิจัยเหล่านี้ นอกจากจะได้องค์ความรู้ด้านวิชาการแล้ว ยังเป็นการบ่มเพาะนักวิจัยปริญญาโท นักวิจัยปริญญาเอก และนักวิจัยหลังปริญญาเอก เพื่อรองรับความต้องการด้านกำลังคนระดับสูงของภาคเอกชนอีกทางหนึ่ง

ถึงแม้ว่า PETROMAT จะดำเนินการเพื่อเตรียมพร้อมต่อการมุ่งสู่สังคมคาร์บอนเป็นศูนย์มาระยะเวลาหนึ่งแล้ว แต่ยังมีกิจกกรมอีกมากที่ต้องทำเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้สู่สังคม และต่อยอดงานวิจัยให้ภาคเอกชนสามารนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศพร้อมกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่ง PETROMAT จำเป็นจะต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อสร้างเครือข่ายที่มีความเข้มแข็งเพียงพอที่จะผลักดันการแก้ปัญหาภาวะโลกรวนต่อไป

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
  petromat@chula.ac.th