ภาชนะจากธรรมชาติ

เรื่องโดย ดร.ทัศชา ทรัพย์มีชัย

ปัจจุบันภาชนะใส่อาหารที่เราพบเห็นทั่วไปและหาซื้อได้ง่าย มักทำมาจากพลาสติก และเมื่อเราใช้เสร็จ พลาสติกเหล่านี้ก็จะกลายเป็นขยะที่ย่อยสลายยาก โดยพลาสติกอาจใช้เวลาในการย่อยสลายนานหลายร้อยปี หากนำไปเผาก็จะทำให้เกิดสารประกอบที่สร้งปัญหามลภาวะและทำให้โลกร้อน ส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมทั่วโลก

วันนี้ PETROMAT ขอเชิญชวนทุกคนให้หันมาใช้ภาชนะจากธรรมชาติแทน ซึ่งนอกจากจะสวยเก๋ มีสไตล์ไม่เหมือนใครแล้ว ยังช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้งและส่งเสริมอาชีพให้แก่เกษตรกรอีกด้วย

ภาชนะจากธรรมชาติ  มีอะไรบ้างวันนี้เราจะเอาข้อมูลมาฝากกันค่ะ

ใบเล็บครุฑลังกา เป็นพืชที่มีใบค่อนข้างหนา ลักษณะคล้ายชาม สามารถนำมาเป็นภาชนะใส่อาหารต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นของทอด ของนึ่งและของทานเล่น กินเสร็จก็สามารถทิ้งได้เลย ใบเล็บครุฑจะย่อยสลายเองตามธรรมชาติแต่สิ่งสำคัญอยู่ตรงที่ความคิดสร้างสรรค์และการใส่ใจสิ่งแวดล้อม จัดว่าเป็นไอเดียที่เก๋มากสำหรับยุคสมัยนี้

ภาชนะจากใบเล็บครุฑลังกา

Credited ภาพ : https://acuisineth.com/food-story/

ใบตองตึง วัสดุท้องถิ่นของอำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ภาชนะจากวัสดุธรรมชาติที่คิดค้นจากมันสมองของคนไทยและได้รับการยอมรับไกลในระดับโลก โดยผลงานนี้เป็นของรองนายกเทศมนตรีตำบลแม่เมาะ ซึ่งขณะนี้มีความต้องการซื้อจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ล่าสุดในการประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 34 เมื่อปีพ.ศ. 2562 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ นายกรัฐมนตรีได้นำเอาจาน-ชามใบตองตึงแม่เมาะ มาเป็นภาชนะที่ใช้เสิร์ฟในงานเลี้ยงรับรองให้แก่คณะผู้นำที่เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย

ภาชนะจากใบตองตึง

Credited ภาพ : https://www.salika.co/2019/11/08/3-container-models-from-natural/

จานที่ผลิตจาก กาบหมาก นี้ มีคุณสมบัติเด่นคือ มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ สามารถนำเข้าไมโครเวฟและเตาอบได้อย่างปลอดภัย ใส่อาหารได้ทุกประเภท เหนียว ทนทาน กันน้ำ ใช้เสร็จสามารถนำมาล้าง ตากแดด แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีก 6-7 ครั้ง

ภาชนะจากกาบหมาก

Credited ภาพ : https://www.salika.co/2019/11/08/3-container-models-from- natural/

กล้วย นอกจากใบตองที่เรานำมาทำเป็นภาชนะสำหรับห่อและใส่อาหารต่าง ๆ แล้ว ปัจจุบันยังมีการนำใบตองและหยวกกล้วยมาผลิตเป็นจาน ชาม โดยใช้เทคนิคการขึ้นรูปคล้าย ๆ กับเปเปอร์มาเช่ (Paper mache) โดยที่ไส้ตรงกลางเป็นกระดาษ อัดหยวกกล้วยเป็นผิวหน้าด้วยมือและเคลือบทับด้วยน้ำมันแบบ Food grade สามารถใส่อาหารรับประทานได้คล้ายกับภาชนะทั่วไป แต่จะต้องหลีกเลี่ยงอาหารจำพวกแกงหรือเมนูที่มีน้ำและไม่ควรแช่น้ำไว้นาน การล้างทำความสะอาดก็เหมือนภาชนะที่ทำจากไม้ทั่วไป ล้างด้วยน้ำยาล้างจานแล้วผึ่งลมให้แห้ง

ภาชนะจากกล้วย

Credited ภาพ : https://acuisineth.com/food-story/

ใบทองกวาว เป็นพืชสารพัดประโยชน์ มีสรรพคุณหลากหลายไม่ว่าจะแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ รวมไปถึงการใช้ประโยชน์จากใบที่มีลักษณะค่อนข้างใหญ่ ภาชนะที่ทำจากใบทองกวาวสามารถใส่อาหารได้ทั้งของคาว หวาน รวมไปถึงเมนูของร้อน เมนูทอดและแกงต่าง ๆ โดยที่ไม่ต้องกังวลว่าจะมีการรั่วซึม ถ้วยจากใบทองกวาวสามารถใส่อาหารทิ้งไว้เป็นเวลา 2-3 วันได้โดยไม่รั่วซึมแถมยังคงรูปทรงเดิม ไม่ย้วย ไม่เสียรูปทรงไปในระหว่างทางอย่างแน่นอน

ภาชนะจากใบทองกวาว

Credited ภาพ : https://acuisineth.com/food-story/

ปัจจุบัน ผักตบชวา สามารถนำมาทำเป็นข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันได้หลายอย่าง เช่น กระเป๋า จาน กล่อง เก้าอี้ ไปจนถึงเสื้อผ้าจากผักตบชวา รองประธานกลุ่มศูนย์ฝึกมีชีวิต กศน. อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา ประสบความสำเร็จในการคิดค้นจานใบผักตบชวาทั้ง 2 แบบ คือแบบจานใบผักตบชวาสดและจานใบผักตบชวาแห้ง และยังมีแบบชามสำหรับใส่ก๋วยเตี๋ยวได้เนื่องจากสามารถทนความร้อนได้ การผลิตภาชนะจากใบผักตบชวายังช่วยกำจัดผักตบชวาที่กีดขวางลำน้ำอีกด้วย

ภาชนะจากผักตบชวา

Credited ภาพ : https://acuisineth.com/food-story/

ภาชนะจากวัสดุธรรมชาติกำลังเป็นที่ต้องการทั่วโลกสืบเนื่องจากนโยบายและเทรนด์ของโลกที่ประกาศเลิกใช้ถุงและภาชนะพลาสติกหลายชนิด ความต้องการของตลาดภาชนะที่ย่อยสลายได้ง่ายกำลังเป็นที่จับตามองและเติบโตอย่างรวดเร็วทั้งในประเทศและตลาดส่งออก ปัจจุบันมีการวิจัยพัฒนานวัตกรรมภาชนะจากวัสดุชีวภาพ ได้แก่ การนำใบไม้ เช่น ใบสัก ใบบัว กาบกล้วย ใยมะพร้าว เป็นต้น มาขึ้นรูปเป็นภาชนะ อย่างที่เราได้เห็นกันตามรายงานข่าว ทว่า แม้วัสดุพวกนี้จะสามารถนำไปขึ้นรูปได้แต่มีข้อเสียคือ ไม่สามารถควบคุมคุณภาพและปริมาณของวัตถุดิบให้สม่ำเสมอได้ ทำความสะอาดวัตถุดิบได้ยาก มีสารปนเปื้อนหลุดออกจากภาชนะเมื่อนำมาใส่อาหาร ดังนั้น ผู้ผลิต จึงจำเป็นต้องควบคุมปัจจัยในเรื่องนี้ เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของผู้บริโภคด้วย

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
  petromat@chula.ac.th