Liquid Nano Clay (LNC)

ทะเลทรายก็ปลูกพืชได้ ด้วย Liquid Nano Clay

ใครที่เคยคิดว่า ทะเลทรายแห้งแล้งปลูกพืชไม่ได้ อาจต้องเริ่มกลับไปคิดใหม่แล้ว เพราะในอนาคตอันใกล้นี้เราจะเห็นพืชสีเขียวถูกปลูกท่ามกลางทะเลทราย ซึ่งจากในอดีตที่มีความพยายามแปรสภาพทะเลทรายให้สามารถปลูกพืชได้โดยการใช้ดินเหนียวมาเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินมาระยะเวลานาน การใช้ดินเหนียวที่มีน้ำหนักมากอาจเกิดความยากลำบากและใช้ระยะเวลานานในการขนส่ง แต่บริษัทสตาร์ตอัป Desert Control สามารถเอาชนะอุปสรรคนี้ได้ด้วยการทำให้อนุภาคดินเหนียวใน Nano Clay มีขนาดเล็กที่สุด มาช่วยในการปลูกพืชบนทะเลทรายได้ วันนี้ PETROMAT ขอนำผู้อ่านทุกท่านมารู้จักกับ Liquid Nano Clay (LNC) ว่าคืออะไร แล้วสามารถช่วยในการปลูกพืชบนทะเลทรายได้อย่างไรกันค่ะ

Liquid Nano Clay (LNC) คืออะไร ?

Liquid Nano Clay (LNC) เป็นเทคโนโลยีที่นำดินเหนียวมาทำให้มีอนุภาคขนาดเล็กจิ๋วแล้วนำมาผสมกับน้ำ ทำให้ดินเหนียวมีสภาพเป็นของเหลวที่บางราวกับน้ำ ซึ่งถูกค้นพบในปี 2000 โดยนักวิทยาศาสตร์ชาวนอร์เวย์ “Kristian Olesen” ซึ่ง Liquid Nano Clay มีคุณสมบัติช่วยประสานอนุภาคทรายไว้ด้วยกันหลังจากพ่น Liquid Nano Clay ลงบนผืนทรายแล้วซึมผ่านดินชั้นบนสุดลงไป ทำให้ดินเหนียวเกาะกับอนุภาคทรายและสามารถเปลี่ยนเป็นดินที่สามารถกักเก็บน้ำและให้พืชงอกเงยเจริญเติบโตได้ นอกจากนี้ LNC จะสร้างชั้นฟิล์มบาง ๆ บนผิวดิน ซึ่งจะช่วยในการกักเก็บน้ำ สารอาหาร และช่วยลดการระเหยของน้ำได้อีกด้วย

LNC ทำงานอย่างไร ?

  1.  ผสมน้ำและดินเหนียวจนเกิดเป็น Liquid Nano Clay (LNC)
  2.  นำ LNC มารดลงบนดิน
  3.  LNC จะไหลซึมผ่านชั้นของดินและจับตัวกับอนุภาคของทราย
  4.  ก่อนที่จะมีการใส่ LNC ลงบนทราย น้ำและสารอาหารจะไหลผ่านทรายทำให้พืชไม่สามารถดูดซึมได้ทัน แต่เมื่อใส่ LNC ลงบนทรายแล้ว น้ำและสารอาหารจะยังคงอยู่บริเวณที่มีอนุภาคของดินเหนียวและทรายจับกันจนเกิดเป็นชั้นของดินที่สามารถปลูกพืชได้
  5.  LNC จะช่วยให้พืชเจริญเติบโตและสามารถมีชีวิตอยู่รอดได้ในพื้นที่ที่เป็นไปไม่ได้

การนำไปใช้งานจริง

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาและวิจัยต่าง ๆ จะไม่เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงถ้าไม่ลองนำไปทดลองใช้จริงในพื้นที่ที่เป็นทะเลทราย ซึ่งบริษัทสตาร์ตอัป Desert Control มีเป้าหมายอยู่ที่ UAE เนื่องจากมีภูมิประเทศเป็นทะเลทราย จึงทำให้พืชเจริญเติบโตยาก ปัจจุบันมีการบรรทุกน้ำเข้าไปเพื่อรดพืชผลในพื้นที่ที่มีสภาพอากาศร้อนซึ่งต้องใช้น้ำมากกว่าการปลูกพืชในดินปกติเกือบ 3 เท่า ส่งผลให้ประเทศต้องมีการนำเข้าพืชผักและอาหารมากกว่า 90% โดย LNC ถูกนำไปทดลองใช้ในประเทศแถบทะเลทราย เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดิอาระเบีย และโมร็อกโก พบว่าการนำ LNC ไปรดลงบนดินทรายสามารถเพิ่มผลผลิตของพืชได้อย่างมาก ตัวอย่างเช่น ข้าวโพดที่ปลูกในดินที่ฉีดพ่นด้วย LNC จะให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นถึง 40% เมื่อเทียบกับข้าวโพดที่ปลูกในดินธรรมดา

ส่วนประเทศไทยในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีสภาพดินส่วนใหญ่เป็นดินร่วนปนทรายที่ไม่อุ้มน้ำ หากสามารถนำเทคโนโลยี LNC มาศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม น่าจะช่วยให้สามารถพัฒนาสภาพดินให้เหมาะสมกับการเพาะปลูกและเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรของประเทศไทยได้ในอนาคต

ข้อดีและข้อจำกัดของการใช้ LNC

นอกจากงานวิจัยที่ต้องการพัฒนาดินทรายให้สามารถปลูกพืชด้วยเทคโนโลยี LNC แล้วนั้น ยังมีวิธีอื่น ๆ ที่ถูกพัฒนา แต่ประสิทธิภาพยังไม่ดีเท่ากับเทคโนโลยีของ LNC ซึ่งเทคโนโลยีอื่น ได้แก่

  • Clay and Sand Mixture : การผสมดินเหนียวลงในดินเป็นวิธีการที่เกษตรกรใช้กันมาเป็นระยะเวลานานเพื่อให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งการผสมดินเหนียวกับดินโดยไม่ใช้เทคโนโลยี LNC จะเป็นการผสมดินเหนียวกับดินทางกายภาพ และต้องใช้เครื่องจักรเฉพาะเพื่อเกลี่ยและไถดินเหนียวลงไปในดิน วิธีนี้ต้องใช้ทั้งกำลังคนและเวลา อีกทั้งยังต้องใช้ดินเหนียวมากกว่าวิธี LNC เกือบ 10 เท่า
  • Polymers and Sand Mixture : การผสมพอลิเมอร์กับดินนั้น พอลิเมอร์อาจสามารถดูดน้ำได้ถึง 100,000 % ของน้ำหนักพอลิเมอร์ภายในระยะเวลาสั้นๆ เพื่อรักษาความชื้นไว้ได้ แต่พอลิเมอร์จะมีราคาแพงกว่าดินเหนียวและยังจำเป็นต้องให้พอลิเมอร์อยู่ใกล้กับรากของพืชเพื่อช่วยรักษาความชื้นในดินได้มีประสิทธิภาพสูง ดังนั้น วิธีนี้จะต้องหาตำแหน่งที่เหมาะสมที่จะนำพอลิเมอร์ผสมกับดินเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทำให้ต้องใช้แรงงานคนและเครื่องจักร และเกิดเป็นค่าใช้จ่ายแพงกว่าวิธี LNC อีกด้วย
  • Biochar : การเติมถ่านไบโอชาร์ลงในดินเป็นการปรับปรุงดินให้มีความชื้นเพิ่มขึ้นจากคุณสมบัติของไบโอชาร์ที่มีโครงการเป็นรูพรุนจึงช่วยกักเก็บความชื้นได้เช่นเดียวกับดินเหนียวและพอลิเมอร์ และการผสมถ่านไบโอชาร์ลงในดินนั้นจะต้องใช้แรงงานคนหรือเครื่องจักรเพื่อให้ลงไปผสมในดินอย่างเหมาะสมจนถึงระดับความลึกของรากอีกด้วย

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
  petromat@chula.ac.th