EPR ขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต สู่การสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน

เรื่องโดย ศุภวิชญ์ จันทน์ขาว

ขยะในประเทศไทยมีการสะสมอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ส่วนใหญ่ผลิตขึ้นเพื่อการใช้งานในระยะสั้น จากนั้นก็ถูกทิ้งไปกลายเป็นภาระแก่ท้องถิ่นที่ต้องนำขยะไปกำจัด อย่างไรก็ตามผู้ผลิตจะมีส่วนรับผิดชอบมากขึ้นต่อขยะบรรจุภัณฑ์ที่ตนเองผลิตและจำหน่าย ภายใต้หลักการที่เรียกว่า Extended Producer Responsibility หรือ EPR ซึ่งนอกจากจะช่วยลดปัญหาขยะสะสมแล้ว ยังนำไปสู่การสร้างรูปแบบธุรกิจที่สอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนได้อีกด้วย

ปัญหาขยะ ภาระของใคร

ประเทศไทยปล่อยขยะพลาสติกให้รั่วไหลออกสู่มหาสมุทรในสัดส่วนมากที่สุดเป็นลำดับที่ 6 จากการรายงานของธนาคารโลกในปี พ.ศ. 2563 ซึ่งแสดงถึงการขาดประสิทธิภาพในการจัดการขยะและทรัพยากร โดยไทยมีอัตราการใช้พลาสติกประมาณ 3.49 ล้านตันต่อปี แต่กลับมีอัตราการรีไซเคิลเฉลี่ยเพียงปีละ 616,000 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 17.6 เท่านั้น ส่วนที่เหลือมักกลายเป็นขยะสะสม ซึ่งหนึ่งในนั้นที่พบได้บ่อยก็คือบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว

ปัญหาขยะถูกทิ้งให้เป็นภาระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น กรุงเทพมหานคร และเทศบาลในจังหวัดต่างๆ ทั้งที่หากมองย้อนกลับไปแล้ว ผู้บริโภคตลอดจนผู้ผลิตก็มีส่วนก่อให้เกิดขยะที่ปลายทางด้วยกันทั้งสิ้น โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมักประสบปัญหาขยะเทรวมกันจากที่ผู้บริโภคไม่แยกประเภทขยะที่ต้นทาง ทำให้การนำบรรจุภัณฑ์พลาสติกกลับไปรีไซเคิลทำได้ยาก

ปัจจุบันผู้บริโภคส่วนหนึ่งเริ่มหันมาแยกขยะกันมากขึ้น แต่ส่วนมากขยะรีไซเคิลมักได้รับการแยกโดยพนักงานเก็บขยะ และกลุ่มซาเล้งที่นำขยะไปขายต่อให้กับร้านรับซื้อของเก่า ซึ่งจะรวบรวมแล้วนำขยะรีไซเคิลไปขายต่อให้กับโรงงานรีไซเคิล อย่างไรก็ตาม ขยะพลาสติกหลายประเภทกลับไม่มีปลายทางรองรับ เพราะขายได้ราคาถูกเกินไป อาทิ บรรจุภัณฑ์พลาสติกประเภทถุง กล่องอาหาร ช้อนส้อม หลอด กล่องยูเอชที กระดาษเคลือบพลาสติก ฯลฯ ส่วนฟิล์มพลาสติกยืด ซึ่งมีน้ำหนักเบาก็ต้องใช้ระยะเวลานานในการรวบรวม อีกทั้งบรรจุภัณฑ์พลาสติกบางประเภทที่ใช้แล้วไม่สามารถนำไปขายต่อ เพราะรีไซเคิลยาก เช่น บรรจุภัณฑ์ที่ผลิตด้วยวัสดุผสมหลายชนิด และขวดพลาสติกที่สกรีนสีไว้บนขวด เป็นต้น นอกจากนี้การผลิตพลาสติกรีไซเคิลยังมีต้นทุนมาก ทำให้เม็ดพลาสติกรีไซเคิลมีราคาแพงกว่าเม็ดพลาสติกใหม่

ปัจจุบันจึงพบว่าเจ้าของสินค้าบางรายได้เริ่มเรียกคืนซากบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ตนเองเป็นผู้ผลิตหรือผู้จำหน่าย เพื่อนำกลับไปรีไซเคิล ซึ่งเป็นการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ต้นทาง นอกจากนี้ยังทำให้ผู้ผลิตต้องคำนึงถึงการทำบรรจุภัณฑ์ให้สามารถนำกลับไปใช้ประโยชน์ได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ใช้หลักการที่เรียกว่า EPR

EPR แก้ปัญหาขยะด้วยความรับผิดชอบ

Extended Producer Responsibility (EPR) คือหลักการที่กำหนดให้ผู้ผลิตมีบทบาทมากขึ้นในการร่วมรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์ที่ตนเองผลิตและจำหน่าย รวมถึงเมื่อผลิตภัณฑ์เหล่านั้นหมดอายุการใช้งาน ซึ่งต่างกับในอดีตที่ผู้ผลิตมักไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับซากผลิตภัณฑ์ที่หลงเหลืออยู่หลังจากที่ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ถูกขายให้แก่ผู้บริโภคไปแล้ว โดยผู้ผลิตต้องมีวิธีจัดการกับผลิตภัณฑ์ที่หมดอายุการใช้งาน รวมทั้งซากบรรจุภัณฑ์ เพื่อลดขยะด้วยแนวทาง 3 ข้อดังนี้

  1. สร้างระบบรวบรวมและขนส่งซากบรรจุภัณฑ์ เพื่อส่งเสริมการแยกขยะที่ต้นทาง ตามตัวอย่างดังนี้
  • Take – Back System โดยผู้ผลิตและผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ ต้องหาวิธีในการรับคืนซากบรรจุภัณฑ์จากผู้บริโภค ซึ่งอาจดำเนินการผ่านหน่วยงานความรับผิดชอบของผู้ผลิตที่เรียกว่า PRO (Producer Responsibility Organization) ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการรวบรวมซากบรรจุภัณฑ์
  • Deposit – Refund Scheme โดยผู้บริโภคจะถูกเรียกเก็บเงินค่ามัดจำบรรจุภัณฑ์ แล้วจะได้เงินจำนวนนั้นคืนก็ต่อเมื่อส่งมอบบรรจุภัณฑ์กลับสู่ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายในบริเวณที่กำหนด
  1. เพิ่มการใช้ประโยชน์จากวัสดุที่มาจากซากบรรจุภัณฑ์ เช่น ใช้ซ้ำ รีไซเคิล แปลงไปเป็นพลังงาน ฯลฯ ทั้งนี้ภาครัฐอาจสนับสนุนให้ผู้ผลิตนำวัสดุรีไซเคิลมาใช้ประโยชน์ โดยกำหนดปริมาณขั้นต่ำของวัสดุรีไซเคิลที่ผู้ผลิตต้องใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์ชิ้นใหม่
  2. ออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้เป็นมิตรมากขึ้นกับสิ่งแวดล้อม เช่น ลดการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ไม่จำเป็น ไม่ใช้วัสดุผสมหลายชนิดในการผลิตบรรจุภัณฑ์และไม่สกรีนสีบนบรรจุภัณฑ์ ซึ่งจะทำให้บรรจุภัณฑ์เหล่านั้นนำไปรีไซเคิลได้ยาก นอกจากนี้ ภาครัฐอาจเรียกเก็บภาษีวัสดุที่นำไปรีไซเคิลยากหรือก่อให้เกิดมลพิษ เพื่อให้ผู้ผลิตลดปริมาณการใช้วัสดุดังกล่าว โดยหันมาใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

หลัก EPR นอกจากจะช่วยลดขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกให้น้อยลงแล้ว หลักการดังกล่าวยังสามารถนำไปใช้เพื่อลดขยะผลิตภัณฑ์อื่นๆ อาทิเช่น ขยะขวดแก้วและกระป๋องอะลูมิเนียม ซากแบตเตอรี่ ยางรถยนต์เก่า เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งเสื่อมสภาพแล้ว โดยผู้ผลิตและผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์สามารถนำแนวทางในข้างต้นมาสร้างเป็นโมเดลธุรกิจ ซึ่งส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน

EPR พัฒนาผู้ผลิตสู่ผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน

ผู้ผลิตมีบทบาทสำคัญที่สุดในการผลักดันการลดขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกโดยใช้หลัก EPR ซึ่งสามารถนำมาปรับให้สอดคล้องกับโมเดลธุรกิจตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนได้ ตัวอย่างเช่น

  1. Circular Supplies เป็นโมเดลที่สนับสนุนการใช้วัตถุดิบในการผลิตจากวัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้ ซึ่งช่วยลดการใช้ทรัพยากรใหม่จากแหล่งธรรมชาติ
  2. Resource Recovery ซึ่งคล้ายกับโมเดลในข้อแรก ทว่าให้ความสำคัญต่อการนำซากบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ โดยผู้ผลิตสามารถรวบรวมซากบรรจุภัณฑ์ได้ผ่านระบบ Take – Back System
  3. Product Life Extension คือการออกแบบผลิตภัณฑ์มีอายุยาวนานในการใช้งาน โดยอาจออกแบบให้บรรจุภัณฑ์สามารถนำไปใช้ประโยชน์อื่นได้เพิ่มเติมหลังจากที่จบการใช้งานบรรจุสินค้า

ขณะเดียวกันผู้บริโภค หน่วยงานภาครัฐ ซาเล้ง ร้านรับซื้อของเก่า โรงงานรีไซเคิล ผู้ผลิตเม็ดพลาสติก ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ ผู้ผลิตสินค้า รวมถึงร้านจำหน่ายสินค้า ต่างก็เป็นส่วนสำคัญและต้องร่วมมือกัน เพื่อผลักดันการลดขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกให้เกิดขึ้นได้ทั้งระบบ

Credit รูปถ่ายโดยเพจ Sustainability Expo 2022 https://www.facebook.com/SX.SustainabilityExpo

หลัก EPR มีส่วนผลักดันให้ผู้ผลิตพัฒนาธุรกิจจนกลายมาสู่ผู้ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ดังต่อไปนี้

  • ลดปริมาณซากบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ต้องส่งไปกำจัด ซึ่งจะช่วยลดภาระขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดการขยะ
  • ลดการสะสมของซากบรรจุภัณฑ์ รวมถึงลดการรั่วไหลของขยะพลาสติกสู่ทะเล
  • ลดการนำวัตถุดิบใหม่เข้าสู่ระบบการผลิตและการใช้งาน ซึ่งเป็นการลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ
  • สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านการจัดการขยะ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรีไซเคิล
  • ส่งเสริมให้เกิดการจ้างงาน รวมถึงซาเล้งผู้เป็นกำลังสำคัญในการรวบรวมและคัดแยกซากบรรจุภัณฑ์พลาสติก อันเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คนและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน

ภายใต้หลัก EPR ผู้ผลิตจะมีความรับผิดชอบมากขึ้นต่อผลิตภัณฑ์ของตัวเอง ไม่เว้นกระทั่งซากบรรจุภัณฑ์พลาสติก ซึ่งผู้ผลิตต้องหาแนวทางในการเก็บรวบรวมและใช้ประโยชน์ ตลอดจนยกระดับธุรกิจไปสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน

แหล่งข้อมูล

  1. ข้อเสนอเชิงนโยบายต่อการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์ในประเทศไทยด้วยหลักการความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต (EPR) https://www.pcd.go.th/wp-content/uploads/2022/02/pcdnew-2022-02-18_03-24-24_729536.pdf
  2. หลักการความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility)” เครื่องมือในการจัดการขยะและส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนhttp://www.ej.eric.chula.ac.th/content/6134/277
  3. มาตรการทางภาษีกับการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม https://www.fpo.go.th/main/getattachment/General-information-public-service/Tax-Policy-Journal/10446/Tax-Policy-Journal_Jan-2019_Material-Tax_Final.pdf.aspx
  4. Circular Models สร้างธุรกิจด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียน https://petromat.org/home/circular-economy-business-models/

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
  petromat@chula.ac.th