Circular Economy Business Models พาธุรกิจสู่ความยั่งยืน

เรื่องโดย ณัฐภัทร รัตนวิชัย

จากบทความที่ผ่านมาเรื่อง “แนวทาง 10R อัพเกรดอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน” ได้กล่าวถึง หลักสากลและแนวคิดเพื่อมุ่งสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน 10 หลักการ เรียกว่า หลักการสากล “10R” ซึ่งเป็นแนวทางในการปฏิบัติเพื่อช่วยลดปริมาณขยะให้น้อยลงและเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าเป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ในบทความนี้ ขอนำท่านผู้อ่านไปสัมผัสกับการนำหลักการ 10R และหลักการของเศรษฐกิจหมุนเวียน มาพัฒนาและประยุกต์ใช้กับธุรกิจทั้งธุรกิจขนาดเล็กจนไปถึงธุรกิจขนาดใหญ่ รวมไปถึงอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด นำไปสู่การไม่มีของเสียและมลพิษตลอดทั้งระบบสินค้าและบริการ เรียกว่า โมเดลทางธุรกิจเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy Business Models (CBM) ติดตามพร้อมกันได้เลยครับ

โมเดลทางธุรกิจของระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน คืออะไร ?

โมเดลทางธุรกิจของระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy Business Models ; CBM) คือ เครื่องมือที่ช่วยให้ผู้ประกอบการ หรือ ผู้ที่มีส่วนร่วมในธุรกิจเลือกใช้ทรัพยากรทั้งหมดที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ไม่ปล่อยให้กระบวนการผลิตเพิ่มปริมาณของเสียเข้าไปสู่สิ่งแวดล้อมและไม่ทำให้สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมไปด้วยสารพิษ การปล่อยแก๊สเรือนกระจก และมลพิษ ซึ่งทำให้เกิดความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม แนวทางของทางเลือกต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหมุนเวียน ได้แก่ การรีไซเคิล การใช้พลังงานสะอาด การปรับเปลี่ยนโครงสร้างต้นทุนที่สามารถควบคุมจากภายใน และ การลดปัญหามลพิษหรืออันตรายจากผลผลิต นอกจากนี้ โมเดลธุรกิจดังกล่าว ยังทำให้เกิดความจำเป็นที่จะต้องควบคุมให้การใช้ทรัพยากรมีประสิทธิภาพสูงสุด ไม่ว่าจะด้วยการลด สร้างวัฏจักรหมุนเวียนทรัพยากรให้ช้าลง เพิ่มการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนให้มากขึ้น และลดความหลากหลายของทรัพยากรที่ใช้ จนได้แนวทางที่เป็นรูปแบบของเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่สร้างความยั่งยืนอย่างแท้จริง

โมเดลทางธุรกิจของระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน มีทั้งหมดกี่รูปแบบ ?

ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นทางเลือกใหม่ที่มุ่งให้ความสำคัญกับการเลือกใช้วัสดุ การออกแบบผลิตภัณฑ์ การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในกระบวนการที่เกี่ยวข้องตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด นำไปสู่การไม่มีของเสียและมลพิษตลอดทั้งระบบสินค้าและบริการ ซึ่งปัจจุบัน มีทั้งหมด 5 โมเดลหลัก ดังนี้

1. การสนับสนุนวัสดุทดแทน / พลังงานหมุนเวียน (Circular Supplies)

การนำวัสดุจากการรีไซเคิล วัสดุชีวภาพ (Bio-Based Materials) และวัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้ทั้งหมด มาใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต เพื่อลดการใช้ทรัพยากรในการผลิตและลดการเกิดของเสีย ตลอดจนการใช้พลังงานหมุนเวียนในกระบวนการผลิต ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมเป็นพลังงานหลัก ตัวอย่างเช่น การนำยางรถยนต์ใช้แล้วไปรีไซเคิลเป็นกระเบื้องยาง หมึก พรม หรือชิ้นส่วนรถยนต์ บริษัท Philips พัฒนาต้นแบบธุรกิจจากแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยใช้กับกลุ่มเป้าหมายระบบแสงสว่างตามอาคารไปจนถึงเครื่องมือแพทย์ IKEA Sweden เริ่มจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์จากไม้และขวดพลาสติก PET รวมถึงการใช้พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมเป็นพลังงานหลักใน IKEA Store ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

2. การนำทรัพยากรกลับมาผลิตใหม่ (Resource Recovery)

การออกแบบให้มี “ระบบนำกลับ” (Take-Back System) ในกระบวนการผลิตเพื่อนำวัตถุดิบเหลือใช้ ผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่ต้องการกำจัด แต่ยังใช้งานได้กลับเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ เพื่อลดการเหลือทิ้งให้มากที่สุด แตกต่างกับ Circular Supplies ซึ่งจะให้ความสำคัญกับการเลือกใช้วัตถุดิบและพลังงานที่นำมาใช้ในการผลิต (Inputs) ในขณะที่ Resource Recovery จะเน้นจัดการของเสีย (Waste) หรือผลพลอยได้ (By Product) ที่เหลือจากกระบวนการผลิต โดยจะพยายามดึงส่วนที่ยังใช้งานได้หรือพลังงานที่แฝงอยู่ในของเสียหรือผลพลอยได้ออกมาใช้ให้คุ้มค่าที่สุด ตัวอย่างเช่น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัมพิรา เจริญแสง และ น.ส.สานฝัน ลิ้มประไพพงษ์ ทำวิจัยภายใต้โครงการวิจัย “มาตรการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมการพัฒนาระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในอุตสาหกรรมพลาสติกระดับ SMEs” ร่วมกับ บริษัท ไบโอ-อีโค จำกัด นำของเสียจากไบโอพลาสติกที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตกลับมาใช้ประโยชน์เป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบอื่น ๆ บริษัท โพสโค ไทยน็อกซ์ จำกัด (มหาชน) มีการนำกระดาษ Interleaving กลับมาใช้ซ้ำ

3. การยืดอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์ (Product Life Extension)

มุ่งเน้นการออกแบบผลิตภัณฑ์หรือส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ให้มีอายุการใช้งานยาวนาน โดยการซ่อมบำรุง การปรับสภาพใหม่ ตกแต่งใหม่ปรับปรุงให้ดีขึ้น รวมถึงออกแบบให้เอื้อต่อการนำผลิตภัณฑ์ไปรีไซเคิลได้ง่ายหลังจากที่ไม่สามารถใช้งานได้แล้ว ตัวอย่างเช่น รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภกิจ สุทธิเรืองวงศ์ และ นางสาวหัทยา จิตรพัสตร์ ทำวิจัยภายใต้โครงการวิจัย “มาตรการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมการพัฒนาระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในอุตสาหกรรมพลาสติกระดับ SMEs” ร่วมกับ บริษัท สมาร์ทไบโอพลาสติก จำกัด สร้างทางเลือกให้เกษตรกรที่ต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ถุงเพาะเชื้อเห็ดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้พลาสติกชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้เข้ามาทดแทนพลาสติกที่ใช้ในปัจจุบัน

4. การขายสินค้าพร้อมบริการ (Product as a Service)

การนำผลิตภัณฑ์หรือสินค้ามาให้บริการในรูปแบบ “การเช่า” หรือ “การจ่ายเมื่อใช้งาน” (Pay-for-Use) แทนการซื้อขาด และจากการขายอย่างเดียวเป็นการบริการด้านอื่น ๆ เพื่อช่วยให้สินค้ามีอายุการใช้งานนานขึ้น เช่น บริการซ่อมแซมหลังการขาย ซึ่งเป็นการลดภาระผู้ซื้อในการดูแลรักษาผลิตภัณฑ์ในขณะเดียวกันก็ยังเป็นการการช่วยลดการซื้อสินค้าอื่นที่ไม่จำเป็น และทำให้เกิดการใช้ผลิตภัณฑ์อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเช่น KINTO คือ บริการรูปแบบใหม่จาก โตโยต้า ให้บริการเช่ารถระยะยาวสำหรับลูกค้าบุคคล พร้อมครอบคลุมการใช้งานรถด้วยบริการแบบครบวงจร ภายใต้แนวคิดการให้บริการที่มีความคล่องตัว ทันสมัย ซึ่งมีความแตกต่างจากระบบการเช่าซื้อในปัจจุบันด้วยการบริการออนไลน์เช่ารถแบบระยะยาวกับรถใหม่ไม่ต้องดาวน์ สะดวกสบาย นอกจากนี้ ยังมีธุรกกิจการให้บริการเช่า / ซื้อ อีกมากมาย อาทิเช่น การเช่าเสื้อผ้าเด็ก หรือ เสื้อผ้าแบรนด์เนม กระเป๋าแบรนด์เนม การเช่าอุปกรณ์สำนักงาน เป็นต้น

5. เศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Platform)

มุ่งเน้นการใช้และแบ่งปันทรัพยากรร่วมกัน เพื่อการใช้ผลิตภัณฑ์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ตัวอย่างเช่น บริการแบ่งปันพื้นที่หรือสถานที่ทำงานร่วมกัน (Co-Working Spaces) การเช่าพื้นที่ระยะสั้น การเช่าเครื่องมือหรืออุปกรณ์ หรือบริการร่วมเดินทาง (Ridesharing) ที่ให้ผู้โดยสารใช้รถร่วมกัน เพื่อลดปัญหาการจราจร ลดการปล่อยมลภาวะ และการใช้พื้นที่ในการจอดรถ

แหล่งข้อมูล
[1] https://www.weforum.org/agenda/2022/01/5-circular-economy-business-models-competitive-advantage/
[2] ดร.ภัสราพร พลับเจริญสุข. กรมโรงงานอุตสาหกรรม. เนื้อหาวิชาหลักสูตร.การสร้างที่ปรึกษาการพัฒนาระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในโรงงานอุตสาหกรรม (Circular Economy Coach) ภายใต้โครงการมาตรการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมการพัฒนาระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน.
[3] ศ. ดร.หทัยกานต์ มนัสปิยะ. ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ. เอกสารประกอบการสัมมนาเชิงปฏิบัติการระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนและเทคโนโลยีนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องในโรงงานอุตสาหกรรม.
[4] คณะทำงานฯ รายวิชาการศึกษาทั่วไปด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับระดับอุดมศึกษาคู่มือการสอน.รายวิชาการศึกษาทั่วไป: เศรษฐกิจหมุนเวียน วิถีชีวิตตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในศตวรรษที่ 21 (Circular Lifestyle for the 21st Century)
[5] https://bh4s.no/sustainable-business-model-archetypes/circular-economy-business-models
[6] https://www.salika.co/2022/01/31/best-5-circular-economy-model/
[7] https://wrwcanada.com/en/get-involved/resources/circular-economy-themed-resources/five-business-models-circularity

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
  petromat@chula.ac.th