ความสำเร็จจากความคิดต่าง คิดนอกกรอบ และคิดเชิงบวก

ศาสตราจารย์ ดร.หทัยกานต์ มนัสปิยะ หรือ “อ.ปุ๊ก” นักวิทยาศาสตร์หญิงคนเก่ง หลังจากบ่มเพาะความรู้ระดับปริญญาตรีและปริญญาโทด้านวัสดุศาสตร์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อ.ปุ๊กได้ข้ามน้ำข้ามทะเลไปคว้าปริญญาเอกด้านวิศวกรรมวัสดุจาก Pennsylvania State University ประเทศสหรัฐอเมริกา และได้กลับมายังรั้วจามจุรีเพื่อเริ่มต้นบทบาทการเป็นอาจารย์ในปี 2547

ในด้านการศึกษา อ.ปุ๊ก ได้รับโปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่ง “ศาสตราจารย์” ในสาขาวิทยาการพอลิเมอร์ สังกัดวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาฯ ในปี 2564
ในด้านการบริหาร อ.ปุ๊ก ได้ผ่านงานบริหารมากมายและได้รับการแต่งตั้งเป็นรองผู้อำนวยการ PETROMAT ในปี 2559 และได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการ PETROMAT ในปี 2563

Q : ความฝันวัยเด็ก

A: “แม้ว่าจะเป็นเด็กต่างจังหวัด แต่ก็ชอบหาสิ่งใหม่ ๆ ให้ตัวเองตลอดเวลา” ในขณะที่เด็กคนอื่นอยากจะเรียนต่อ ม. 1 ในโรงเรียนประจำจังหวัด แต่ อ.ปุ๊กกลับมองหาสิ่งที่จะให้โอกาสในการพัฒนาตัวเองมากกว่านี้ เวลานั้นที่ภาคใต้มีโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งความท้าทายคือนักเรียนจะต้องไปอยู่หอพักของเอกชนรอบ ๆ โรงเรียน การที่เด็ก ม. 1 ตัวเล็ก ๆ จะไปอยู่ต่างจังหวัดคนเดียว แน่นอนว่าครอบครัวต้องไม่สนับสนุน แต่ตอนนั้นไม่ได้รู้สึกกลัว กลับรู้สึกท้าทายว่าเด็กเก่ง ๆ จากทุกจังหวัดจะต้องไปสอบแข่งขันเพื่อให้ได้รับเลือกเพียง 50 – 60 คนเท่านั้น จึงพยายามขวนขวายไปสอบให้ได้ ไม่ได้บอกพ่อแม่ หนีไปนอนบ้านเพื่อน ใจตอนนั้นมุ่งมั่นที่จะสอบให้ได้ จากนั้นก็ดื้อกับที่บ้านจนได้เรียนสมใจ

Q : โตขึ้นอยากเป็นอะไร ?

A : คำตอบของเด็กสมัยก่อน ถ้าไม่อยากเป็นหมอ ก็เป็นวิศวกร แต่ในใจยังมองหาสิ่งใหม่ ๆ ที่ท้าทายอยู่เสมอ พอ ม. 5 สอบเทียบได้ จึงได้รับโอกาสมาสอบเอ็นทรานซ์ ตอนนั้นคิดว่าไม่มีอะไรจะเสีย เลือกสอบแต่คณะที่มีคะแนนสูง ๆ และบังเอิญว่าคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ในปีนั้น มีการแยกเป็นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีออกมา เช่น สาขาปิโตรเคมี สาขาเคมีเทคนิค สาขาวิทยาศาสตร์ภาพถ่าย ฯลฯ ซึ่งเป็นสาขาวิชาใหม่ในสมัยนั้น

Q : ปิโตรเคมีและพอลิเมอร์

A : “คำ ๆ นี้ ดึงดูดความสนใจตั้งแต่ครั้งแรกที่อ่านเจอ พอประกาศผล ออกมาว่าสอบติดคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงตัดสินใจมาเรียนเลย ทั้งที่เพื่อนบางคนยังที่เลือกจะเรียน ม. 6 ต่อ หรือใช้โควต้าเพื่อเข้ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พอเข้าเรียนที่จุฬาฯ ปี 1 จะต้องเรียนรวมกันและใช้เกรดเพื่อเลือกสาขาในปี 2 ด้วยความที่ตั้งเป้าอยากเรียน “พอลิเมอร์” ซึ่งเป็นสาขาที่คะแนนสูงมาก ตอนปี 1 จึงต้องฝ่าฟันค่อนข้างหนัก หลังจากได้เรียนพอลิเมอร์ ได้เรียนวัสดุศาสตร์ ก็คิดว่ามันน่าจะทำให้ได้เจออาชีพหรือสาขาใหม่ ๆ ซึ่งอาจจะเป็นคนส่วนน้อยของประเทศ ณ ตอนนั้น

สมัยนั้นคนจะถามว่าเรียนปิโตรเคมีและพอลิเมอร์แล้วจะไปทำงานอะไร แต่ปัจจุบันการได้ทำงานในภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและพอลิเมอร์จะได้ทั้งความก้าวหน้าและมั่นคง นอกจากนี้ยังได้เจอสิ่งใหม่ ๆ เข้ามาอยู่เสมอ เช่น พลังงานทดแทน วัสดุชีวภาพ มีอะไรให้เล่นได้เยอะมาก

“ความฝันในวัยเด็ก คือ อยากจะทำอะไรใหม่ ๆ ที่ยังไม่มีในตอนนั้น”

Q : รางวัล “ลอรีอัล ประเทศไทย เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ปี 2554

A : หลังจากได้รับโอกาสไปเรียนปริญญาเอกด้าน Polymer Processing ที่ Penn State แต่ด้วยนิสัยเดิม(อีกแล้ว) อยากเรียนสาขาใหม่ ๆ จึงไปเรียนด้าน Electrical & Optical Properties ของวัสดุ และนำมาประยุกต์ใช้กับพอลิเมอร์ ในช่วงนั้นมีโอกาสทำงานกับกลุ่มวิจัยที่เก่งและมีความกระตือรือร้น ทำให้มีผลงานวิจัยตีพิมพ์ราว ๆ 10 เรื่อง พอกลับมาทำงานที่วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาฯ จึงได้โอกาสนำความรู้มาเปิดรายวิชาใหม่ “Electrical, Optical, and Magnetic Properties of Polymers” ซึ่งเป็นรายวิชาที่วิทยาลัยฯ ไม่เคยมีสอนมาก่อน

พอเริ่มทำงานวิจัยทำให้มีผลงานเพิ่มขึ้น เมื่อรวมกับผลงานตีพิมพ์ที่เป็นทุนเดิม ทำให้มีผลงานวิจัยมากพอที่ทางวิทยาลัยฯ จะส่งรายชื่อเข้าประกวด คิดว่าคณะกรรมการคงจะสืบค้นจาก H-index ส่วนหนึ่ง และอาจจะเล็งเห็นถึงประโยชน์ของงานวิจัยอีกส่วนหนึ่ง เนื่องจากได้คำแนะนำจากอาจารย์ผู้ใหญ่ให้พยายามนำวัสดุที่มีในประเทศซึ่งก็คือ Clay มาปรับใช้ในงานวิจัย โดยใช้องค์ความรู้ด้านไฟฟ้า ด้าน Optical มาปรับปรุงคุณสมบัติของ Clay ทำให้เกิด Application ด้าน Smart Film

หลังจากได้รางวัล “ลอรีอัล ประเทศไทย เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” จึงเป็นจุดเปลี่ยนให้เป็นที่รู้จักในแวดวงวิชาการมากขึ้น ประกอบกับขณะนั้นมีงานวิจัยร่วมกับภาคเอกชนจำนวนมาก โดยเฉพาะบริษัท พีทีที ฟีนอล จำกัด และ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ที่มีงานวิจัยต่อเนื่องมาโดยตลอด เมื่อได้รางวัล จึงเชิญผู้ใหญ่จากกลุ่ม ปตท. มาร่วมงานด้วย จากนั้นจึงเชิญผู้ใหญ่มาจุฬาฯ เกิดเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้นิสิตและตัวเราเองด้วย “เมื่อรับรางวัลมาแล้วต้องรักษามาตรฐานให้สมกับที่ได้รางวัลมา” เหมือนเป็นสิ่งที่คอยผลักดันให้ทำผลงานดียิ่ง ๆ ขึ้นไป

นอกจากจะเป็นรางวัลที่ดีแล้ว ทาง “ลอรีอัล” ยังจัดกิจกรรมช่วยสนับสนุนเราตลอด มีการประชาสัมพันธ์ และงานก็จัดต่อเนื่องทุกปี เหมือนกับเราเข้าไปอยู่ในครอบครัวของลอรีอัล ทุกปีที่เราไปร่วมงานจะได้รู้จักน้อง ๆ นักวิจัยรุ่นต่อ ๆ มา ที่ได้รับรางวัล เหมือนเป็นพี่เป็นน้องและทำให้เรารู้จักคนมากขึ้นด้วย

Q : ถ้าให้คะแนนความสนุกเต็ม 10 ระหว่าง นักวิจัย อาจารย์ และนักบริหาร

A : ความสนุกเหรอ ? (หัวเราะ) ให้นักบริหารน้อยสุดเลยละกัน ถ้าความสนุกเลยจะให้อาจารย์กับนักวิจัย แรกเริ่มหลังจากจบปริญญาเอกมา จะมีความเป็นนักวิจัยมากกว่าความเป็นอาจารย์ ต้องรับผิดชอบงานวิจัยที่ได้รับมอบหมายมาให้ประสบความสำเร็จ

แต่พอมาเป็นอาจารย์จะทำงานคนเดียวไม่ได้แล้ว งานบางอย่างเราไม่ต้องดำเนินงานเอง ต้องมอบหมายงานให้ลูกศิษย์ ให้คำแนะนำ ที่จริงก็อยากลงมือทำเองนะ แต่จะทำให้ลูกศิษย์ไม่ได้เรียนรู้ อาจจะมีวิตกกังวลนิดหน่อยว่าลูกศิษย์จะได้รับการถ่ายทอดไปดีไหม นอกจากนี้จะต้องดูแลลูกศิษย์ในหลาย ๆ ด้าน บางคนอาจจะไม่มีความพร้อม บุคลิกส่วนตัวมีปัญหา หรือมีปัญหาในการทำงาน การที่ได้เจอลูกศิษย์ในหลาย ๆ รุ่น ทำให้มีความกังวลและความสนุกไปด้วยกัน

ในด้านการบริหาร ที่จริงถือว่าเริ่มงานเร็วเหมือนกัน จากผู้ช่วยคณบดี รองคณบดีที่วิทยาลัยฯ และมาทำงานที่ PETROMAT จะไม่ได้ทำงานกับลูกศิษย์อย่างเดียวแล้ว เริ่มมีการทำงานกับผู้ร่วมงานหลากหลาย ทั้งบุคลากรประจำและคณาจารย์ แน่นอนว่าความวิตกกังวลหรือความเครียดมันเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว

“ถ้าเป็นเรื่องความสนุกนักวิจัยจะมากสุด รองลงมาเป็นอาจารย์ และนักบริหาร”

Q : การทำวิจัยร่วมกับภาคเอกชน

A : “ต้องปรับตัวเยอะเลยค่ะ การทำงานกับภาคเอกชนจะต้องเปิดใจ เปิดความคิด และยอมรับในธรรมชาติของฝั่งเอกชนด้วย” เนื่องจากภาคเอกชนจะมีความแตกต่างจากนักวิชาการหรือฝั่งมหาวิทยาลัย ดังนั้น จะต้องมีความกล้าได้กล้าเสีย มีเสียเปรียบบ้าง ได้เปรียบบ้าง ทุกอย่างมันอยู่ที่การเจรจาต่อรองเพื่อให้ได้ผลที่ดีที่สุด ส่วนตัวแล้วเข้าใจที่ภาคเอกชนอยากได้ผลงานที่เร็วและคุณภาพดี แต่นักวิจัยหลายท่านอาจจะมีทัศนคติที่ไม่อยากทำงานกับภาคเอกชน เพราะภาคเอกชนไม่ให้เวลา ไม่เข้าใจว่าคุณภาพงานดี ๆ ต้องมากับระยะเวลาที่เพียงพอ แต่ส่วนตัวคิดว่าบางอย่างมันก็ต้องเสี่ยงดู กล้าได้กล้าเสีย เขาอยากได้อะไร เราก็ต้องบอกว่าทำได้ไว้ก่อน พยายามคิดแต่เชิงบวก ส่วนจะทำให้ประสบผลสำเร็จอย่างไร ค่อยมาคิดทีหลัง แต่ที่แน่ ๆ จะต้องมีทีมที่ดีคอยสนับสนุนด้วย เพราะรับงานมาแล้ว ถ้าไม่มีลูกศิษย์และเจ้าหน้าที่คอยช่วย ไม่มีทางทำได้เลย ที่สามารถทำงานร่วมกับภาคเอกชนมาได้กว่า 10 ปี เพราะว่าสามารถสร้างผลงานให้ภาคเอกชนได้ตลอด และเป็นผลงานที่ภาคเอกชนยอมรับด้วย

“ภาคเอกชนจะคาดหวังมาตรฐานผลงานที่สูงกว่าในวงการวิชาการ” ยกตัวอย่างเช่นการนำเสนอผลงาน บางทีเราคิดว่า Presentation ที่ลูกศิษย์ทำมาสวยดีแล้ว แต่พอไปนำเสนอให้ภาคเอกชนนี่จบเลยนะ เขาวิจารณ์มาว่าการนำเสนอแบบนี้ไม่ Professional เลย เราต้องกลับมาทำการบ้านว่าการนำเสนอแบบ Professional เป็นอย่างไร ต้องทำให้สวย ดูทันสมัย ดูกระชับขึ้น สิ่งเหล่านี้สามารถนำมาปรับใช้ในงานวิชาการได้ด้วย แม้แต่การรายงานรูปเล่มก็จะแตกต่างกันเลย ของภาคเอกชนจะต้องเหมือนทำนิตยสาร จะเป็นรายงานปกติ พื้น ๆ ธรรมดา ไม่ได้เลย

Q : ภาพของ PETROMAT ในอีก 3 ปีข้างหน้า

A : “ภาพของ PETROMAT เปลี่ยนเกือบทุกวัน” ขึ้นอยู่กับโครงสร้าง ขึ้นอยู่กับต้นสังกัดของ PETROMAT และขึ้นอยู่กับสมาชิกของ PETROMAT เพราะฉะนั้นสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ประเทศตอนนี้ก็มีปัญหาเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ เป็นที่เข้าใจได้ว่าในเรื่องของงบประมาณด้านการวิจัยจะต้องลดลงอยู่แล้ว เพราะอาจจะมีสิ่งสำคัญที่รัฐบาลหรือผู้บริหารประเทศจำเป็นต้องใช้งบประมาณส่วนนี้มากกว่า ดังนั้น PETROMAT ต้องปรับตัว ไม่คาดหวังจะได้รับเงินทุนมาจากแหล่งทุนแหล่งเดียว ต้องมองหาแหล่งทุนอื่น ต้องคิดนอกกรอบ อย่างตอนนี้เราอาจจะติดขัดด้านการบริหารบางอย่าง เนื่องจากระเบียบราชการ เราอาจจะใช้ข้อดีของ PETROMAT ที่มีขนาดเล็กแต่คล่องตัวและบุคลากรที่มีประสิทธิภาพ ใช้การบริหารงานแบบเอกชน โดยอาจจะแก้ไขระเบียบบางอย่างให้ PETROMAT สามารถไปหาเงินทุนด้านวิจัยเข้ามามากขึ้น และทำให้สถาบันร่วมที่อยู่กับ PETROMAT มีความสนุกที่จะทำงานกับ PETROMAT ไปได้เรื่อย ๆ

Q : แนวทางในการใช้ชีวิต/ทำงาน

A : ปกติจะไม่ได้ยึดติดว่าจะต้องมีแนวทางในการใช้ชีวิตอย่างไร เพราะมันจะกลายมาเป็นกรอบกดดันตัวเราเอง เราต้องพร้อมที่จะเผชิญกับปัญหาที่จะเข้ามาและดำเนินชีวิตทุกวันไปด้วยความคิดเชิงบวก มีอารมณ์ดี อารมณ์แจ่มใส ถ้าเรามีทัศนคติแบบนี้ ก็จะทำให้เราใช้ชีวิตไปได้ทุกวันอยู่แล้ว

ขอขอบคุณ อ.ปุ๊ก – ศาสตราจารย์ ดร.หทัยกานต์ มนัสปิยะ ที่ให้เกียรติมาเปิดคอลัมน์ Interview ใน PETROMAT Today Online เป็นคนแรก และหวังว่าจะมีโอกาสในการสัมภาษณ์ อ.ปุ๊ก ในโอกาสต่อไป

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
  petromat@chula.ac.th