Circular Tourism

เรื่องโดย ศุภวิชญ์ จันทน์ขาว

การท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่สร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศไทย แต่ก็ได้ทำลายทรัพยากรธรรมชาติไปมากมาย ปัจจุบันจึงเกิดแนวคิด “การท่องเที่ยวแบบหมุนเวียน” ซึ่งจะเปลี่ยนอุตสาหกรรมนี้ให้รักษ์โลกกว่าแต่ก่อน โดยผู้ประกอบการท่องเที่ยวต้องรู้จักปรับธุรกิจ เพื่อตอบโจทย์นักท่องเที่ยวยุคใหม่ที่ต่างหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น

ท่องเที่ยวยุคนี้ต้องสไตล์รักษ์โลก

การท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย เฉพาะครึ่งแรกของปี 2566 การท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้กับเรามากถึงเกือบ 1 ล้านล้านบาท โดยมีการเยี่ยมเยือนสถานที่ท่องเที่ยวกว่า 155 ล้านครั้ง จากนักท่องเที่ยวชาวไทย และชาวต่างประเทศเกือบ 18 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวมีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากมายของประเทศและก่อขยะจำนวนมาก ขณะที่เว็บไซต์จองที่พักชื่อดังได้เปิดเผยข้อมูลว่านักท่องเที่ยวทั่วโลกยุคนี้จำนวนเกินครึ่งเลือกที่จะเดินทางไปยังสถานท่องเที่ยวที่ให้คุณค่ากับความยั่งยืน ดังนั้น ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวของไทยจึงต้องปรับตัว ทั้งนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้จัดทำแผนกลยุทธ์เพื่อการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวสีขาว ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2566 – 2570 โดยเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่สำคัญในการพัฒนา “การท่องเที่ยวแบบหมุนเวียน (Circular Tourism)” ซึ่งจะสนับสนุนการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งยังช่วยลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการอีกด้วย

ท่องเที่ยวแบบหมุนเวียนเป็นอย่างไรบ้าง

การท่องเที่ยวแบบหมุนเวียน มีกรอบแนวคิด 3 อย่างได้แก่

    • Design out waste and pollution เช่น จัดการกับขยะเศษอาหาร ลดการใช้พลาสติกและวัสดุที่ย่อยสลายยาก
    • Keep products and materials in use เช่น เลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีอายุยาวนานในการใช้งาน ตลอดจนซ่อมแซมผลิตภัณฑ์และรู้จักใช้ซ้ำ
    • Regenerate natural systems เช่น ใช้ทรัพยากรหมุนเวียน รวมถึงพลังงานหมุนเวียนอย่างพลังงานแสงอาทิตย์

ผู้ประกอบการสามารถนำกรอบแนวคิดดังกล่าวไปพัฒนาธุรกิจตนเองผ่านการบริหารจัดการทรัพยากรต่างๆ ได้ตามตัวอย่างดังนี้

ด้านอาหารมุ่งเน้นไปที่การลดขยะอาหารและบรรจุภัณฑ์อาหาร

    • ปลูกพืชผักผลไม้และสมุนไพรหากมีสวนภายในที่พัก เพื่อนำมาปรุงอาหารให้แก่ลูกค้าหรือเลือกซื้อสินค้าเกษตรจากชุมชนใกล้เคียงเพื่อประหยัดเชื้อเพลิงและค่าใช้จ่ายในการขนส่ง นอกจากนั้นยังเป็นการนำเสนออาหารจากวัตถุดิบพื้นถิ่นอันมีเอกลักษณ์
    • แปรรูปขยะอาหารจากโรงแรมและร้านอาหารให้เป็นอาหารสัตว์และปุ๋ยอินทรีย์ ส่วนน้ำมันเหลือทิ้งก็สามารถนำไปผลิตเป็นไบโอดีเซล
    • ยกเลิกการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งแล้วหันมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ หรือใช้ภาชนะที่สามารถใช้ซ้ำได้หลายครั้ง

ด้านอาคารและเครื่องใช้ มุ่งเน้นการออกแบบอาคารให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การรักษาอายุการใช้งานให้ยาวนาน การรีไซเคิล ฯลฯ

    • สร้างอาคารที่พักแบบรักษ์โลกโดยใช้วัสดุ เช่น ไม้ไฟเบอร์บอร์ด รวมถึงตกแต่งห้องด้วยงานฝีมือจากท้องถิ่นที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติ ส่วนเครื่องใช้อย่างขวดสบู่และแชมพูก็เลือกแบบรีฟิลล์ไว้บริการสำหรับลูกค้าของโรงแรมที่พัก
    • สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ และอุปกรณ์ฟิตเนส อาจลองหาผู้จำหน่ายที่ขายแบบเช่าซื้อแทนการซื้อขาด ซึ่งช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย พร้อมสนับสนุนหลักแบ่งปันการใช้ทรัพยากรร่วมกัน
    • บริจาคของที่เหลือใช้ และส่งคืนของที่หมดอายุการใช้งานแล้วกลับคืนให้ผู้ผลิตนำไปใช้ประโยชน์ต่อ

ด้านพลังงานและน้ำ มุ่งเน้นการประหยัดและการหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่

    • ทำสวนสร้างร่มไม้เพื่อลดความร้อนและการใช้ไฟฟ้า
    • ติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าไว้ใช้ในที่พัก ติดตั้งระบบเซ็นเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหวเพื่อเปิดการใช้ไฟฟ้าเฉพาะเวลามีผู้เข้าพักในห้อง
    • ตกลงกับผู้เข้าพักว่าแม้อยู่ยาวก็อาจไม่ต้องซักเครื่องนอนและผ้าเช็ดตัวทุกวันก็ได้
    • ใช้เครื่องสุขภัณฑ์แบบประหยัดน้ำ เช่น ฝักบัวแรงดันสูงและก๊อกน้ำเซ็นเซอร์
    • น้ำทิ้งจากการชำระร่างกายและซักผ้านั้นสามารถนำไปใช้ในงานชำระล้างอื่นๆ ที่ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำก๊อก นอกจากนี้ น้ำฝนก็สามารถกักเก็บไว้เพื่อรดน้ำต้นไม้

ท่องเที่ยววนไปที่ไหนดี

นักท่องเที่ยวสามารถสัมผัสประสบการณ์การท่องเที่ยวแบบหมุนเวียนได้จากจังหวัดท่องเที่ยวในหลายที่ทั่วประเทศ อาทิ

    • เชียงใหม่ ซึ่งมีร้านอาหารกว่า 12,800 แห่ง ที่ก่อขยะเศษอาหารมากถึงวันละ 140 ตัน สมาคมร้านอาหารและสถานบันเทิงเชียงใหม่จึงจัดทำโครงการร้านอาหารเชียงใหม่สู่ Zero Food Waste ซึ่งมีการออกแบบปริมาณอาหารให้เหมาะสมกับลูกค้าและนำขยะอินทรีย์ไปทำเป็นอาหารสัตว์หรือปุ๋ยชีวภาพ
    • เพชรบุรี ณ ชุมชนบ้านถ้ำเสือ ในที่พักเน้นการใช้พลังงานสะอาดโดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ ส่วนกิจกรรมบริการนักท่องเที่ยวก็เช่นแปรรูปเพิ่มมูลค่าขนมทองม้วนสูตรเพชรบุรีและทำไข่เค็มอัญชัน ซึ่งมีการคัดแยกขยะและทำบ่อดักไขมันด้วย
    • เมืองพัทยาอันเป็นสถานที่พักผ่อนและจัดเทศกาลตลอดปี มีการสนับสนุนให้ลดการใช้พลาสติกแล้วเปลี่ยนเป็นใช้วัสดุธรรมชาติในพื้นที่จัดงาน รวมถึงต้องคัดแยกขยะเพื่อให้ท้องถิ่นจัดเก็บแล้วนำไปบริหารจัดการต่อได้อย่างถูกวิธี
    • เกาะสมุย มีการบริหารจัดการขยะอย่างครบวงจร ซึ่งจัดทำขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างเครือข่ายผู้ประกอบการท่องเที่ยว สถาบันการศึกษา และหน่วยงานภาครัฐ โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุมีโครงการบริหารจัดการขยะอาหารบนเกาะสมุยและโครงการเพิ่มมูลค่าขยะในชุมชนเกาะสมุย ซึ่งนำเสนอเทคโนโลยีใหม่ในการจัดการกับขยะ ได้แก่ (1) เครื่อง Bio-digester ที่ช่วยย่อยขยะอาหารเป็นสารปรับปรุงดิน (2) นวัตกรรมหนอนแมลงวันลายที่เลี้ยงด้วยขยะเศษอาหาร ซึ่งสามารถนำไปเป็นอาหารสัตว์ต่อไป (3) ถุงพลาสติกชีวภาพสำหรับใส่ขยะอินทรีย์ (4) เตาเผากะลามะพร้าวให้เป็นถ่านไร้ควัน และ (5) เทคโนโลยีรีไซเคิลแก้วและพลาสติกไปเป็นส่วนผสมในวัสดุก่อสร้าง

ขณะนี้กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมกำลังจัดทำโครงการ G-Green เพื่อสนับสนุนสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่ผ่านการรับรองจะได้โล่ตราสัญลักษณ์ G-Green ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม คือ Green Production, Green Hotel, Green Restaurant, Green National Park และ Green Office ทำให้นักท่องเที่ยวที่รักษ์โลกสามารถเลือกเที่ยววนไปอย่างสบายใจได้

การท่องเที่ยวแบบหมุนเวียนจะช่วยส่งเสริมการใช้ทรัพยากรในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้มีประสิทธิภาพ และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนต้อนรับนักท่องเที่ยวที่กำลังกลับมาคึกคักอีกครั้ง

แหล่งข้อมูล

  • แผนกลยุทธ์เพื่อการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวสีขาวภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG (พ.ศ. 2566 – 2570) จัดทำโดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ประเทศไทย

https://www.mots.go.th/images/v2022_1683099938532QkNHLnBkZg==.pdf

  • คู่มือเรื่อง Managing the Transition to Circular Economy for Tourism Providers จัดทำโดยโครงการ CEnTOUR (Circular Economy in TOURism) ภายใต้สหภาพยุโรป

https://circulartourism.eu/wp-content/uploads/2021/02/CIRCULAR-ECONOMY-TRANSITION-FOR-TOURISM-PROVIDERS.pdf

  • สถิตินักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทย ม.ค. – ส.ค. ปี 2566 (เบื้องต้น) และสถานการณ์การท่องเที่ยวในประเทศ รายจังหวัด ปี 2566 จัดทำโดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ประเทศไทย

https://www.mots.go.th/news/category/704

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
  petromat@chula.ac.th