Circular Fashion ปฏิวัติวงการเสื้อผ้า พาของเหลือใช้ไปรันเวย์

เรื่องโดย ศุภวิชญ์ จันทน์ขาว

เสื้อผ้าเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่สำคัญในการใช้ชีวิตประจำวัน ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมเสื้อผ้าและสิ่งทอก็มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก แต่ปัจจุบันวงการแฟชั่นมีการใช้ทรัพยากรจำนวนมหาศาลและก่อให้เกิดขยะขึ้นมากมาย จึงต้องมีการปฏิวัติแฟชั่นครั้งใหม่เพื่อให้ทรัพยากรถูกใช้ไปอย่างยั่งยืน

แฟชั่นปัจจุบันมาไวไปไวและกำลังทำลายสิ่งแวดล้อม

แฟชั่นในปัจจุบันถูกเรียกว่าแฟชั่นหมุนเร็ว (Fast Fashion) เพราะมีการเปลี่ยนคอลเล็กชันเสื้อผ้าในลักษณะที่เรียกว่ามาไวไปไว เพื่อให้ทันต่อความทันสมัยและความต้องการของผู้บริโภค โดยผู้ประกอบธุรกิจมีการทำการตลาดให้ผู้บริโภคสามารถหาซื้อเสื้อผ้าได้ง่ายและซื้อบ่อยขึ้น ส่วนทางด้านผู้ผลิตก็อาจมีการลดระดับคุณภาพของวัตถุดิบในการผลิตเสื้อผ้าเพื่อให้สินค้ามีราคาถูก ซึ่งกระตุ้นให้ผู้บริโภคซื้อเสื้อผ้ามากขึ้น ทั้งนี้กระแสแฟชั่นที่มาไวไปไวและคุณภาพที่ด้อยลงของเสื้อผ้า ทำให้เสื้อผ้ามีอัตราการใช้งานที่น้อยครั้ง ในที่สุดก็ถูกทิ้งไปกลายเป็นขยะแฟชั่น

ข้อมูลภาพรวมอุตสาหกรรมแฟชั่นทั่วโลก ซึ่งรายงานโดย World Economic Forum ระบุว่าในช่วงปี พ.ศ 2543 – 2558 มีการผลิตเสื้อผ้าเพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่า เนื่องจากการเติบโตของชนชั้นกลางในประเทศกำลังพัฒนา และอัตราการบริโภคที่สูงขึ้นของประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตดี แต่อัตราการใช้งานเสื้อผ้าในช่วงเวลานี้กลับลดลงจากสมัยก่อนถึงร้อยละ 40 โดยส่วนใหญ่ถูกทิ้งไปเป็นขยะที่ต้องกำจัดด้วยวิธีเผาหรือฝังกลบในปริมาณมากถึงร้อยละ 75 โดยขยะเสื้อผ้าเพียงร้อยละ 12 เท่านั้นที่ได้รับการรีไซเคิล ในจำนวนดังกล่าวมีเพียงร้อยละ 1 ที่ได้รับการนำกลับไปผลิตเป็นเสื้อผ้าใหม่

ส่วนในประเทศไทยพบว่าในแต่ละปีจะมีขยะเสื้อผ้าและสิ่งทอกว่าร้อยละ 85 ถูกทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ โดยมีเพียงร้อยละ 15 ที่ได้รับการนำไปบริจาคหรือนำกลับไปรีไซเคิล

ขยะในปริมาณมหาศาลที่ไม่ได้รับการหมุนเวียนกลับมาใช้ประโยชน์ซ้ำ ทำให้ในแต่ละปีการผลิตเสื้อผ้าต้องใช้ทรัพยากรใหม่รวมกันทั้งโลกกว่า 98 ล้านตัน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไปหรือต้องใช้ไปอย่างสิ้นเปลือง เช่น สารปิโตรเลียมที่ใช้ผลิตเส้นใยสังเคราะห์ ปุ๋ยและน้ำมหาศาลสำหรับการปลูกฝ้าย สีย้อมและสารเคมีสำหรับการผลิตสิ่งทอ ทั้งหมดนี้กำลังเป็นหายนะอย่างยิ่งต่อสิ่งแวดล้อม

ในการผลิตเสื้อผ้าจะมีวัตถุดิบกว่าร้อยละ 40 กลายเป็นขยะ โดย moreloop เป็นธุรกิจที่ดำเนินการรวมรวมผ้าจากหลายโรงงานแล้วจำหน่ายให้แก่ผู้ผลิตรายย่อย รวมถึงนำไปผลิตเป็นสินค้าต่างๆ

ปรับลุคแฟชั่นหมุนเร็วสู่ยุคแฟชั่นหมุนเวียน

แฟชั่นหมุนเวียน (Circular Fashion) ได้รับการพัฒนาตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยสนับสนุนการใช้ทรัพยากรอย่างเป็นวงจรในระบบการผลิตและการบริโภค นั่นคือทรัพยากรที่ใช้ผลิตเป็นเสื้อผ้าจะได้รับการใช้งานอย่างยาวนานและคุ้มค่า เพื่อลดการเกิดขยะแฟชั่นและการถลุงทรัพยากรเพื่อใช้ในการผลิตเสื้อผ้าใหม่

หลายคนคุ้นเคยกับการซื้อเสื้อผ้ามือสอง ซึ่งเป็นตัวอย่างที่สอดคล้องกับแนวคิดแฟชั่นหมุนเวียน โดยเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดีนักในปัจจุบันและแนวคิดรักษ์โลกที่กำลังมาแรง ส่งผลให้ธุรกิจเสื้อผ้าต้องปรับตัวเข้าสู่ยุคแฟชั่นหมุนเวียน

บริษัท ซีโร่ เวสท์ โยโล จำกัด นำขยะพลาสติกอันมีมากกว่า 1.5 ล้านตันต่อปีในประเทศไทย ไปรีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ รวมทั้งชิ้นส่วนสำหรับทำกระเป๋า (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://pipatchara.com/home/) โดยครั้งหนึ่งทางบริษัทฯ ได้ร่วมมือกับ PETROMAT เพื่อพัฒนารูปแบบธุรกิจในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน

พลิกโฉมธุรกิจเสื้อผ้าเพื่อแฟชั่นที่ยั่งยืน

แนวทางพัฒนาธุรกิจแฟชั่นในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน มีด้วยกัน 3 มิติ ได้แก่ การนำวัตถุดิบเข้ามาใช้ในการผลิต การใช้งานผลิตภัณฑ์เสื้อผ้า และการจัดการกับขยะแฟชั่นที่เกิดขึ้น

(1) ด้านการผลิต วัตถุดิบที่ใช้ผลิตเสื้อผ้าต้องมาจากแหล่งทรัพยากรหมุนเวียน แม้แต่ของเหลือใช้และขยะก็เป็นแหล่งที่มาของวัตถุดิบได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น กระเป๋า moreloop ชิ้นส่วนกระเป๋าของ YOLO และรองเท้าทะเลจร นอกจากนี้กระบวนการผลิตเสื้อผ้าก็ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น หันมาใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อลดการเกิดของเสียและมลพิษ

(2) ด้านการใช้งาน เสื้อผ้าต้องมีคุณภาพดี คงทน และได้รับการออกแบบให้สามารถสวมใส่ได้หลากหลาย โดยรูปแบบธุรกิจที่ช่วยให้เสื้อผ้ามีการใช้งานได้ยาวนาน เช่น
o ธุรกิจซักรีด เพื่อทำความสะอาดและบำรุงรักษาให้เสื้อผ้ามีอายุที่ยาวนานในการใช้งาน
o ธุรกิจรับซ่อมแซม สำหรับเสื้อผ้าที่ชำรุดเสียหาย เช่น ฉีกขาด เปรอะเปื้อนคราบต่างๆ รวมถึงการตัดเย็บแก้ชุดให้พอดีตัว ทำให้เสื้อผ้านำกลับมาสวมใส่ได้อีกครั้ง
o ธุรกิจเช่าชุด บริการให้เช่าเสื้อผ้าแทนการซื้อขาด ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคเข้าถึงเสื้อผ้าที่หลากหลาย และช่วยลดความฟุ่มเฟือยในการซื้อเสื้อผ้า

(3) ด้านการจัดการขยะ โดยเพิ่มทางเลือกในการนำขยะแฟชั่นไปใช้ประโยชน์ รวมถึงสร้างระบบให้ผู้บริโภคสามารถส่งคืนเสื้อผ้าที่เสื่อมสภาพแล้วให้ร้านส่งต่อไปยังผู้ผลิตเพื่อนำกลับไปรีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น โต๊ะของ Saiburg ที่ผลิตจากกางเกงยีนส์เก่าผสมพลาสติก

แฟชั่นหมุนเวียนไม่เพียงแค่จะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม แต่จะช่วยปลดล็อกโอกาสทางเศรษฐกิจ ที่อาจมีมูลค่ารวมกันทั้งโลกมากกว่า 15 ล้านล้านบาท

รองเท้าทะเลจรเกิดจากความมุ่งมั่นของ ดร.ณัฐพงศ์ นิธิอุทัย และชุมชนในพื้นที่ในการแก้ไขปัญหาขยะรองเท้าในทะเล อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ https://online.anyflip.com/cpbdd/ulia/mobile/

สำหรับประเทศไทยก็เช่นกัน บทสัมภาษณ์นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ในฐานะผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์) โดยประชาชาติธุรกิจออนไลน์ เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2564 ระบุว่าผู้บริโภคในปัจจุบันโดยเฉพาะกลุ่ม Gen Y และ Gen Z ให้ความสำคัญต่อแนวคิดรักษ์โลก นอกจากนี้ผลกระทบจากสถานการณ์โรคโควิด-19 ทำให้ผู้คนมีรายได้ที่ลดลง ส่งผลให้ผู้บริโภคกว่าร้อยละ 51 ลดค่าใช้จ่ายสำหรับซื้อเสื้อผ้า และหันมาสนใจมากขึ้นในสินค้าที่มีคุณภาพและเป็นมิตรกับโลก ทั้งนี้ตลาดแฟชั่นหมุนเวียนมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

บริษัท ไซเบิร์ก (ประเทศไทย) จำกัด ประกอบธุรกิจผลิตและส่งออกสินค้าตกแต่งบ้านและเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งผลิตจากขยะรวมทั้งกางเกงยีนส์เก่า

โดยครั้งหนึ่งได้ร่วมมือกับ PETROMAT ในการบ่มเพาะนักวิจัยที่สนับสนุนการสร้างนวัตกรรมดังกล่าว

ทั้งนี้การผลิตยีนส์เพียง 1 คู่ ต้องใช้น้ำมากถึง 10,000 ลิตรในการปลูกฝ้าย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำกางเกงยีนส์ไปแปรรูปเพื่อใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่า

แฟชั่นหมุนเวียนกำลังเป็นกระแสใหม่ที่น่าจับตา ในอนาคตธุรกิจเสื้อผ้าจึงต้องมิกซ์แอนด์แม็ตช์ความมีสไตล์ให้เข้ากันได้กับความยั่งยืน

แหล่งข้อมูล

  1. บทความเรื่อง Fashion and the Circular Economy โดย Ellen Macarthur Foundation https://archive.ellenmacarthurfoundation.org/explore/fashion-and-the-circular-economy
  2. บทความเรื่อง 5 Ways the Circular Economy Will Transform Your Fashion Habits โดย World Economic Forum https://www.weforum.org/agenda/2022/01/5-ways-the-circular-economy-will-transform-your-fashion-habits/
  3. บทสัมภาษณ์นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ เรื่องแฟชั่นหมุนเวียน มาแรงรับแนวคิด Circular Economy โดยประชาชาติธุรกิจออนไลน์ https://www.prachachat.net/economy/news-731039

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
  petromat@chula.ac.th