Circular Farming

เรื่องโดย ศุภวิชญ์ จันทน์ขาว

การเกษตรเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศไทย เห็นได้จากจำนวนแรงงานที่มากกับการเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรในอันดับต้นๆ ของโลก แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงมีรายได้ต่ำและการเข้าถึงแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ก็กำลังเป็นเรื่องท้าทาย ทั้งนี้ หลักเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นทางออกหนึ่ง ซึ่งจะนำการเกษตรของไทยไปสู่ความยั่งยืนได้

ทำเกษตรเพื่ออาหารแต่ส่งผลมหาศาลต่อโลก

ประชากรโลกที่เพิ่มจำนวนหลายเท่าในศตวรรษที่ผ่านมาทำให้เกิดความต้องการอาหารเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ปัจจุบันครึ่งหนึ่งของบริเวณที่อยู่อาศัยได้บนโลกถูกใช้เป็นพื้นที่ทำการเกษตรเพื่อผลิตอาหาร โดยอุตสาหกรรมการเกษตรนั้นใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากมาย ซึ่งมีส่วนทำลายสิ่งแวดล้อม รวมถึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนด้วย

  • ปุ๋ยและยา การเติบโตของภาคการเกษตรทั่วโลกทำให้มีการใช้เพิ่มขึ้นของปุ๋ยเคมีและยากำจัดศัตรูพืช โดยปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีนั้นเพิ่มขึ้นจาก 12 ล้านตัน เมื่อปี พ.ศ. 2504 เป็น 110 ล้านตัน ในปี พ.ศ. 2561 ซึ่งหมายถึงต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของเกษตรกรอีกด้วย
  • น้ำ ภาคการเกษตรมีความต้องการใช้น้ำในปริมาณมากถึงร้อยละ 70 ของการใช้น้ำจืดทั่วโลก ขณะเดียวกันภัยแล้ง การจัดการทรัพยากรน้ำอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนมลพิษทางน้ำจากการปนเปื้อนของปุ๋ยและยา ซึ่งใช้ทำการเกษตร ก็อาจส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลนน้ำสะอาดได้เช่นกัน
  • ดิน ขณะนี้หนึ่งในสี่ของดินทั่วโลกกำลังสูญเสียความอุดมสมบูรณ์จากการทำการเกษตร ส่วนหนึ่งเกิดจากการใช้ปุ๋ยและยา ซึ่งส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรและรายได้จากภาคการเกษตรนั้นลดลง ตามมาด้วยการรุกพื้นที่ป่า
  • พื้นที่ทำการเกษตร การรุกแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติเพื่อทำการเกษตร ทำให้ป่าไม้ทั่วโลกถูกทำลายมากขึ้นกว่าร้อยละ 20 ระหว่างปี พ.ศ. 2533 – 2558 ส่งผลให้สิ่งมีชีวิตในป่าถูกคุกคามจนเกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ

นอกจากนี้ กิจกรรมทางการเกษตรยังก่อให้เกิดของเสียมหาศาล รวมถึงปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าร้อยละ 30 ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก ซึ่งก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน

เกษตรกรรมหมุนเวียนเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่า

เกษตรกรรมหมุนเวียน (Circular Farming หรือ Circular Agriculture) เพื่อการผลิตอาหารนั้นมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอันมีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด นำไปสู่การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการเพิ่มผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ได้ดังนี้

  • ลดของเสีย เศษพืชที่เหลือทิ้งจากการเกษตร ส่วนที่เหลือจากการตัดแต่งอาหาร และมูลสัตว์ สามารถนำไปหมักทำก๊าซชีวภาพเอาไว้ใช้เป็นพลังงานทดแทน หรือหมักทำปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งช่วยลดการใช้ปุ๋ยเคมี นำไปสู่การรักษ์น้ำและดิน รวมถึงช่วยลดค่าใช้จ่ายในการทำการเกษตร
  • ประหยัดน้ำ ระบบชลประทานช่วยพัฒนาประสิทธิภาพในการใช้น้ำในพื้นที่การเกษตร ส่วนการปลูกผักแบบไม่ใช้ดิน ที่เรียกว่า อะควาโพนิกส์ เป็นการปลูกผักพร้อมกับเลี้ยงปลาไปด้วยในระบบปิด โดยเอาน้ำที่อุดมด้วยแร่ธาตุไนโตรเจนจากการขับถ่ายของเสียของปลาและเป็นที่ต้องการของพืชนั้นกลับมาหมุนเวียนใช้ในการปลูกผัก จากนั้นก็เอาน้ำที่ผ่านการปลูกผักนั้นกลับไปใช้เลี้ยงปลาได้อีก
  • ฟื้นฟูดิน การปลูกพืชคลุมดินช่วยป้องกันการชะล้างหน้าดิน ทำให้ดินยังคงความอุดมสมบูรณ์ทั้งแร่ธาตุ ความชุ่มชื้น สารอินทรีย์ และจุลินทรีย์ ซึ่งช่วยเพิ่มผลผลิตขณะที่ลดความจำเป็นในการใช้ปุ๋ยเคมีและยากำจัดศัตรูพืช
  • ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ ความอุดมสมบูรณ์ของน้ำและดิน ทำให้สิ่งมีชีวิตเจริญเติบโตได้ดีขึ้น จึงป้องกันการมิให้เกิดการรุกแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติเพื่อทำพื้นที่การเกษตร
  • รับมือกับโลกร้อน การใช้ทรัพยากรอย่างเป็นระบบด้วยวิธีต่างๆ ในข้างต้นช่วยลดอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น ลดคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาขยะทางการเกษตร
  • สร้างความมั่นคงทางอาหาร ทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่ทำการเกษตร และการพึ่งพาที่ลดลงของปัจจัยภายนอกอย่างปุ๋ยเคมีและยากำจัดศัตรูพืช ส่งผลให้ความมั่นคงทางอาหารนั้นมีเพิ่มมากขึ้น
  • กระตุ้นเศรษฐกิจ เกษตรกรรมหมุนเวียนนั้นนอกจากจะช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและลดค่าใช้จ่ายในการซื้อปุ๋ยเคมีและยากำจัดศัตรูพืชแล้ว ก็ยังช่วยสร้างอาชีพใหม่และรายได้ให้กับเกษตรกรจากกิจกรรม อาทิ แปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร แปรรูปพลังงานชีวมวล ฯลฯ

หลากหลายแนวคิดการเกษตรสู่ความยั่งยืน

ในประเทศไทยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีการขับเคลื่อนภาคการเกษตรด้วยโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี โดยนโยบายด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนจะเน้นการใช้ทรัพยากรทางการเกษตรให้คุ้มค่าอย่างเต็มประสิทธิภาพ รวมถึงสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อลดขยะของเสียในภาคการเกษตรให้เป็นศูนย์

ในทางปฏิบัติแล้วแนวคิดเกษตรกรรมหมุนเวียนคล้ายคลึงกับแนวคิดเกษตรกรรมยั่งยืน (Sustainable Agriculture) ซึ่งเป็นระบบการเกษตรที่เน้นความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจและสังคมกับระบบนิเวศ รวมทั้งชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรและผู้บริโภค ตัวอย่างเช่น

  • เกษตรอินทรีย์ (Organic Agriculture) ทำเกษตรโดยใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก และจุลินทรีย์ รวมถึงควบคุมศัตรูพืชด้วยวิธีทางกายภาพและชีวภาพ ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีหรือยากำจัดศัตรูพืช เพื่อฟื้นฟูน้ำและดิน ได้ผลผลิตที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค
  • วนเกษตร (Agroforestry) จัดการพื้นที่การเกษตรให้สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ร่วมกับป่าไม้ เพื่อรักษาพื้นที่ป่าไม้และเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น ปลูกพืชเศรษฐกิจที่เหมาะสมแซมในพื้นที่ป่าแทนการบุกรุก
  • เกษตรผสมผสาน (Integrated Farming) ปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่เดียวกัน เพื่อจัดการให้มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างเป็นวงจร เช่น ปลูกพืชตระกูลถั่วเพื่อตรึงไนโตรเจนในดิน หมักมูลสัตว์เป็นปุ๋ยของพืช และเลี้ยงปลาในนาข้าว

เกษตรกรรมหมุนเวียนและเกษตรกรรมยั่งยืน ยังประกอบด้วยแนวคิดที่หลากหลาย ทั้งเกษตรธรรมชาติ เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรมูลค่าสูง เกษตรอัจฉริยะ เกษตรแม่นยำ ฯลฯ ซึ่งเน้นใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างรู้คุณค่า รวมถึงนำเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดการทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยแต่ละแนวคิดมีจุดเด่นที่แตกแตกกันออกไป แต่มีเป้าหมายเดียวกันคือเพื่อความยั่งยืน

แหล่งข้อมูล

  • รายงานสรุปเชิงนโยบายเรื่อง Circular Agriculture for Sustainable Rural Development โดย United Nations

https://www.un.org/development/desa/dpad/publication/un-desa-policy-brief-105-circular-agriculture-for-sustainable-rural-development/

  • เอกสารเรื่องแนวทางการขับเคลื่อนการส่งเสริมการเกษตรด้วย BCG Model แบบบูรณาการเชิงพื้นที่ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

https://d29iw4c1csrw3q.cloudfront.net/wp-content/uploads/2023/02/%E0%B9%81%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%82%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%99-BCG-Model-%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B8%81_30%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%A265.pdf

  • เอกสารเรื่องเกษตรกรรมยั่งยืน (Sustainable Agriculture) โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

https://www.nesdc.go.th/ewt_w3c/ewt_dl_link.php?nid=2700

  • บทความเรื่อง How to Run a Profitable Circular Farm: One-acre Farm โดย The Ellen MacArthur Foundation

https://www.ellenmacarthurfoundation.org/circular-examples/one-acre-farm

  • บทความเรื่อง Circularity in Agriculture: Transforming Farming for Sustainability and Resilience โดย TraceX Technologies

https://tracextech.com/circularity-in-agriculture/#

  • บทความเรื่อง What is Circular Farming? โดย Ashfount Investments

https://www.ashfount.com/sustainability/what-is-circular-farming/

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
  petromat@chula.ac.th