บทบาทของ Recycle ใน Circular Economy

เรื่องโดย ณัฐภัทร รัตนวิชัย

จากบทความที่ผ่านมาเรื่อง “Circular Economy คืออะไร…PETROMAT มีคำตอบ” ได้กล่าวถึง ความเป็นมาและนิยามของเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือที่เรียกว่า “Circular Economy” มุมมองและการนำแนวคิดของเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้กับธุรกิจในองค์กร และ อีกหนึ่งบทความเรื่อง “Circular Economy แนวคิดธุรกิจโลกยุคใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” ได้กล่าวถึง ปัญหาที่เกิดจากเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม หรือ เศรษฐกิจแบบเส้นตรง (Linear Economy) และ การแก้ไขปัญหาระบบเศรษฐกิจในโลกยุคใหม่โดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมไปถึงข้อดีของเศรษฐกิจหมุนเวียน ในบทความนี้ ขอนำท่านผู้อ่านไปทำความรู้จักกับคำว่า “รีไซเคิล” (Recycle) ซึ่งมีบทบาทที่สำคัญมากในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน การรีไซเคิลอยู่ตรงไหนของระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน และการนำกระบวนการรีไซเคิลไปประยุกต์ใช้กับภาคอุตสาหกรรมจะเป็นอย่างไร เราไปดูกันเลยครับ

รีไซเคิล คืออะไร ?

“รีไซเคิล” (Recycle) คือ การจัดการวัสดุเหลือใช้ที่กำลังจะกลายเป็นขยะ การนำสิ่งที่เราไม่สามารถที่จะใช้ซ้ำได้แล้ว ซึ่งอาจจะฉีกขาด แตกหัก กลับไปเข้ากระบวนการแปรรูปให้เป็นวัตถุดิบ โดยนำไปผ่านกระบวนการแปรสภาพ โดยเฉพาะการหลอม เพื่อให้เป็นวัสดุใหม่แล้วนำกลับมาใช้ได้อีกและมีคุณภาพเทียบเท่าหรือใกล้เคียงของเดิม ซึ่งวัสดุที่ผ่านการแปรสภาพนั้นอาจจะเป็นผลิตภัณฑ์เดิมหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ก็ได้ [1] ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือ กระดาษที่เหลือใช้นำมาเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเป็นกระดาษเพื่อใช้ในการพิมพ์ หรือเปลี่ยนไปเป็นกระดาษแข็งสำหรับใช้เพื่องานบรรจุภัณฑ์ อีกตัวอย่างหนึ่ง การนำเอาขวดน้ำพลาสติกมาผ่านกระบวนการย่อยให้กลายเป็นเม็ดพลาสติกแล้วนำกลับมาหลอมขึ้นเป็นเส้นใย เพื่อนำไปถักเป็นเสื้อยืด เป็นต้น [2] โดยการรีไซเคิลนั้นมีกระบวนการหลัก ๆ อยู่ 4 ขั้นตอน [3] ดังนี้

รีไซเคิลอยู่ตรงไหนของระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ?

อย่างที่ทราบกันนะครับว่า ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เป็นระบบเศรษฐกิจที่มุ่งลดของเสียและใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด โดยมีหัวใจสำคัญ คือ ความพยายามที่จะลดการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งเป็นการสนับสนุนการดำเนินงานลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน/พลังงานทดแทน (renewable energy technologies) ซึ่งส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม โดยแนวคิดนี้ จะประกอบด้วยกระบวนการหลายอย่างรวมกันเป็นวงจร เรียกว่า “แบบจำลองแนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน” ได้แก่ การออกแบบที่ยั่งยืน การบำรุงรักษา การซ่อมแซม การนำกลับมาใช้ใหม่ การผลิตซ้ำและการประกอบใช้ใหม่ จนสุดท้ายคือการรีไซเคิล [4] ซึ่งการรีไซเคิลนั้นมีประโยชน์มากมายทั้งทางด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ และด้านสิ่งแวดล้อม [5] อาทิเช่น

  • ช่วยลดปัญหากากของเสีย ขยะที่ใช้แล้ว ซึ่งจะเป็นการลดปัญหามลภาวะด้านสิ่งแวดล้อม

  • ช่วยลดปัญหาในการจัดหาพื้นที่ฝังกลบ และลดปริมาณมลพิษที่เกิดจากการเผาไหม้กากของเสีย ทำให้ลดมลพิษที่เกิดขึ้นในสิ่งแวดล้อม

  • ช่วยลดภาระในการกำจัดกากของเสียจากกระบวนการทางอุตสาหกรรม

  • ลดการใช้พลังงานและวัตถุดิบในการผลิต ส่งผลให้ประหยัดเงินต้นทุนการผลิต

  • ช่วยให้การใช้ทรัพยากรโลกเป็นไปอย่างคุ้มค่า

สุดท้ายนี้ ขอยกตัวอย่างประเภทของอุตสาหกรรมที่เหมาะสมกับการนำกระบวนการรีไซเคิลมาใช้ในการดำเนินทางธุรกิจ เพื่อลดต้นทุนการผลิตและเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพสูงที่สุด อาทิเช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมสิ่งทอ ธุรกิจก่อสร้าง อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการบรรจุภัณฑ์ อุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบจำพวกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และแร่ธาตุที่สำคัญ (Critical Raw Materials) และ อุตสาหกรรมเคมี [6] เป็นต้น

ตัวอย่างของภาคอุตสาหกรรมที่มีการนำเทคโนโลยีการรีไซเคิลมาใช้ในการดำเนินทางธุรกิจ การทำวิจัยนี้อยู่ภายใต้โครงการวิจัย “มาตรการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมการพัฒนาระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในอุตสาหกรรมพลาสติกระดับ SMEs” โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม ร่วมกับ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ และ สถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ จุฬาฯ [7]

ผศ. ดร.รัฐพล รังกุพันธุ์ น.ส.ปพิชญา แม้นด้วง และ น.ส.เพ็ญพิชชา ธรรมสโรช ทำวิจัยร่วมกับ บริษัท เอทูโอ อินโนเวทิฟ จำกัด นำเศษพลาสติกชนิด PET และ PET-G จากกระบวนการการผลิตและผลิตภัณฑ์ที่ถูกคัดทิ้งมาขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และ filament สำหรับเครื่องพิมพ์สามมิติ [7]

รศ. ดร.ศรุต อามาตย์โยธิน และ นายพงษ์พัฒน์ ศุขวัฒนะกุล ทำวิจัยร่วมกับ บริษัท ซีโร่ เวสท์ โยโล จำกัด นำวัสดุรีไซเคิล มาใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ [7]

ผศ. ดร.ทองใส จำนงการ และ นายเวสารัช เสมอชีพ ทำวิจัยร่วมกับ บริษัท พาณิชย์ พาร์ท เเอนด์โมลด์ จำกัด  นำพอลิโพรพิลีนเหลือใช้จากกระบวนการผลิตพลาสติกมาใช้ใหม่ โดยพัฒนาประสิทธิภาพและเพิ่มคุณสมบัติต้านทานไฟฟ้าสถิต [7]

แหล่งข้อมูล
[1] https://www.iurban.in.th/diy/reduce-reuse-recycle-repair-upcycle/
[2] https://www.greennetworkthailand.com/upcycle-upcycling-recycle-คืออะไร/
[3] http://yongrecycle.blogspot.com/2012/06/recycle.html
[4] Hagelüken, C., et al. (2016). “The EU Circular Economy and Its Relevance to Metal Recycling.” Recycling 1(2): 242-253.
[5] https://www.recycleengineering.com/knowledge_base-recycling/
[6] ดร.ภัสราพร พลับเจริญสุข. กรมโรงงานอุตสาหกรรม. เอกสารประกอบการสัมมนาเชิงปฏิบัติการระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนและเทคโนโลยีนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องในโรงงานอุตสาหกรรม
[7] ศ. ดร.หทัยกานต์ มนัสปิยะ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ เอกสารประกอบการสัมมนาเชิงปฏิบัติการระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนและเทคโนโลยีนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องในโรงงานอุตสาหกรรม

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
  petromat@chula.ac.th