พลิกโฉมวัสดุเหลือใช้…สู่นวัตกรรมสร้างมูลค่าด้วยหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน

เรื่องโดย ณัฐภัทร รัตนวิชัย

จากบทความที่ผ่านมาเรื่อง “Circular Economy Business Models พาธุรกิจสู่ความยั่งยืน” ได้กล่าวถึง เครื่องมือที่ช่วยให้ผู้ประกอบการ หรือ ผู้ที่มีส่วนร่วมในธุรกิจเลือกใช้ทรัพยากรทั้งหมดที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด นำไปสู่การไม่มีของเสียและมลพิษตลอดทั้งระบบสินค้าและบริการ รวมไปถึงการต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์สร้างมูลค่าให้กับธุรกิจในที่สุด ในวันนี้ PETROMAT ขอนำท่านผู้อ่านไปทำความรู้จักและสัมผัสกับนวัตกรรมในปัจจุบันที่มีการนำวัสดุเหลือใช้มาประยุกต์เป็นผลิตภัณฑ์สร้างมูลค่าให้กับธุรกิจ ทั้งเศษเหลือใช้ทางการเกษตร ขยะพลาสติก เศษผ้าในโรงงาน เศษจากงานจักสาน รวมถึงขยะที่ไม่มีใครต้องการ มาหมุนเวียนใช้อีกครั้งด้วยการผสมผสานกับวัสดุอื่น ๆ จนกลายเป็น “วัสดุใหม่” ด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ พร้อมเพิ่มมูลค่าวัสดุในเชิงเศรษฐกิจ ที่สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดเป็นงานออกแบบ สินค้า ผลิตภัณฑ์ และวัสดุทดแทนได้อีกไม่รู้จบ จะมีนวัตกรรมอะไรบ้าง ติดตามพร้อมกันได้เลยครับ

วัสดุทดแทนไม้จากเส้นใยธรรมชาติ

RE-Hub Studio จังหวัดเชียงใหม่ ได้พัฒนาวัสดุทดแทนไม้ในงานอุตสาหกรรม ซึ่งผลิตจากเส้นใยที่ได้จากเศษเหลือทิ้งทางการเกษตรในชุมชน เช่น ใบสับปะรด ฟางข้าว เปลือกข้าวโพด ใยกัญชง ใยนุ่น รวมถึงเศษที่ไร้เส้นใยอย่างกากกาแฟ โดยมีส่วนผสมของวัสดุธรรมชาติสูงถึง 85 – 90% วัสดุเหล่านี้ผ่านกระบวนการอัดโดยไม่ใช้ความร้อนในการขึ้นรูป ทำให้ตัดแต่งชิ้นงานได้อย่างไร้ขีดจำกัด กระบวนการผลิตยังใช้พลังงานต่ำ สามารถปล่อยให้วัสดุแห้งเอง วัสดุที่ได้ใหม่จะมีความแข็งแรง ทนทาน ตัววัสดุจะทิ้งกลิ่นหอมจากธรรมชาติและจะค่อย ๆ จางไปตามกาลเวลา เหมาะกับนำมาขึ้นรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ใช้เป็นวัสดุตกแต่งภายใน วัสดุปิดผิว แม้แต่เครื่องประดับ เช่น แหวน หรือกำไลข้อมือ อีกทั้ง นำมาขึ้นรูปเป็นอุปกรณ์สำหรับใช้เมล็ดบดกาแฟ ท่านผู้อ่านสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/REHUB.ECO/

สินค้าแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ที่มาจากผ้ากระสอบข้าวเก่า

          Saxtex Sheet เป็นวัสดุที่ถูกพัฒนาจาก D&C Design and Concept ซึ่งเป็นวัสดุที่เกิดจากการนำผ้ากระสอบเก่าที่ทิ้งแล้วมาเคลือบกับน้ำยางพาราธรรมชาติ โดยใช้แนวคิดจากกระบวนการ Upcycling เกิดเป็นวัสดุใหม่ที่มีความคงทนเพิ่มขึ้น สวยงามขึ้น คุณภาพดีขึ้น กันเปียก กันฝน ทั้งยังเช็ดทำความสะอาดง่าย สามารถทำให้มีสีสันและลวดลายแบบงานศิลปะได้ตามที่ต้องการ ทั้งนี้ มีการเปิดโอกาสให้แบรนด์ นักออกแบบ หรือโรงงานนำเอาวัสดุดังกล่าวนี้ ไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้ โดยเฉพาะการนำมาตัดเย็บเป็นสินค้าแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ได้หลากหลาย อาทิเช่น กระเป๋า รองเท้า เป็นต้น รวมถึงใช้เป็นวัสดุปิดผิวที่สวยงาม พร้อมด้วยคุณสมบัติในการยึดเกาะ นอกจากนี้ เศษที่เหลือทิ้งจากวัสดุ Saxtex Sheet ยังสามารถ Upcycling ได้อีกครั้ง ด้วยการนำไปเข้ากระบวนการบดผสมกับยางแผ่นด้วยสูตรเฉพาะ สามารถขึ้นรูปเป็นวัสดุใหม่คล้ายซีเมนต์ที่สามารถหักงอได้อีกด้วย ท่านผู้อ่านสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.thaipower.co/saxtexชุบชีวิตผ้ากระสอบเก่า/

กระดาษเตยปาหนันจากเศษเหลือทิ้งในงานหัตถกรรมชุมชน

วิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์เตยปาหนันบ้านดุหุน จังหวัดตรัง พัฒนาและคิดค้นวิธีที่จะนำเศษที่เหลือจากการทำหัตถกรรมผลิตภัณฑ์เตยปาหนันไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผลิตภัณฑ์จักสานเตยปาหนัน (Panae Craft) เป็นสินค้าหัตถกรรมที่มีความละเอียด ประณีต บ่งบอกถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่เมื่อชุมชนนำมาขึ้นรูปเป็นภาชนะต่าง ๆ เช่น กระบุง กระเฌอ กระเป๋า หมวก จากการทำหัตถกรรมผลิตภัณฑ์ดังกล่าว จะมีเศษที่เหลือทิ้งประมาณ 5 – 20% ทางกลุ่มจึงมีการคิดต่อยอดจนกลายมาเป็น “วัสดุกระดาษจากเตยปาหนัน” โดย กระบวนการผลิต เริ่มจากการนำเศษไปต้มและเกลี่ยลงบนแผ่นเฟรม นอกจากจะเป็นกระดาษแล้ว ยังสามารถต่อยอดไปเป็นผลิตภัณฑ์หลากรูปทรง เช่น โคมไฟ ภาชนะต่าง ๆ เป็นต้น ท่านผู้อ่านสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/JanpenCraft/

เม็ดและเชือกพลาสติกรีไซเคิลกลิ่นธรรมชาติ

บริษัท รีเวสเทค จำกัด พัฒนาและนำขยะพลาสติกประเภทที่ 1 PET ประเภทที่ 2 HDPE และประเภทที่ 4 LDPE ซึ่งเป็นขยะพลาสติกที่เหมาะสมในการนำมา Recycle มากที่สุด โดยนำขยะพลาสติกดังกล่าว มาผสมกับขยะทางการเกษตร เช่น ชานอ้อย ใบไผ่ ฟางข้าว กากกาแฟ และอื่น ๆ เพื่อเพิ่มคุณสมบัติของวัสดุ กลายเป็น “เม็ดพลาสติกและเชือกพลาสติก” มากกว่า 50 สูตร โดยใช้เครื่องรีดพลาสติกแบบสกรูคู่ (Twin Screw Exclusion) ไม่เติมแต่งสารเคมี เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากกว่าเม็ดพลาสติกผลิตใหม่ เมื่อเปรียบเทียบกับเม็ดพลาสติกที่ต้องผลิตใหม่ พลังงานที่ใช้ในการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลนี้จะต่ำกว่า และยังลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ลงได้มากถึง 89% ซึ่งวัสดุที่ได้ออกมาจะให้สีแบบธรรมชาติตามสีของวัสดุทางการเกษตรที่นำมาผสม รวมถึงมีกลิ่นอ่อน ๆ ติดอยู่ด้วย วัสดุเม็ดและเชือกพลาสติกนี้สามารถนำไปฉีดขึ้นรูปได้ตามต้องการ เช่น บรรจุภัณฑ์ ภาชนะ เชือกป่าน หวายเทียม ที่นำไปเป็นผลิตเป็นสินค้าหัตถกรรมได้หลากหลายรูปแบบ ท่านผู้อ่านสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.bangkokbiznews.com/tech/innovation/1032486

รองเท้ารักษ์โลกจากยางพาราและเศษผ้า

          บริษัท GEMIO เป็นผู้ผลิตรองเท้าผ้าใบที่พบว่าหลังจากการผลิตรองเท้าทุกครั้งจะมีเศษผ้าที่เหลือทิ้งถึง 25% จึงพัฒนาและคิดค้นวิธีการนำเศษผ้าที่เหลือเหล่านี้นำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการนำมาผสมผสานกับยางพาราเกิดเป็นวัสดุใหม่ ECO2 Surface” ที่มีส่วนผสมของเศษผ้า 10% และยางพาราอีก 90%กระบวนการผลิตเริ่มจากการนำเศษผ้าไปสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ (Reuse) แล้วนำไปผสมกับยางที่เหลือจากการตัดพื้นรองเท้า (Recycle) ด้วยสูตรเฉพาะ จากนั้นเข้ากระบวนการอบยางด้วยเทคโนโลยี Vulcanization ซึ่งเป็นการขึ้นรูปด้วยมือแบบดั้งเดิมเพื่อให้คงรูป คุณสมบัติของวัสดุที่ได้ มีความแข็งแรง ทนทาน ยืดหยุ่นพอดี ไม่นิ่มยวบ ผิวสัมผัสดี มีความมันวาว ทนต่อแรงดึง กันลื่นได้ ทั้งยังมีลวดลายสวยงามจากการกระจายตัวของเศษผ้าบนเนื้อยางอีกด้วย นอกจากนี้ ทางบริษัทฯ ยังได้พัฒนาวัสดุตัวใหม่อีก 2 ชนิด คือ ECO2 Fuse” เป็นการนำเศษผ้าที่เหลือเกือบทั้งหมดมาผสมกับยาพารา ในอัตราส่วนเศษผ้า 90% และยางพารา 10% ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดร่วมกับกระบวนการผลิตผ้าต่าง ๆ เช่น ไปผสมผสานกับเทคนิคการย้อมครามจากธรรมชาติ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจมากขึ้น วัสดุอีกชนิดหนึ่ง คือ ECO2 Shine” เป็นการนำเศษไม้สักและเศษขี้เลื่อยที่เหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์มาผสมกับยางพารา สามารถใช้ขึ้นรูปเป็นแผ่นรองกันลื่นทั้งบนโต๊ะ หน้าประตู หรือวัสดุปิดผิวในงานตกแต่งภายใน หรือแม้แต่นำกลับมาทำเป็นพื้นรองเท้าได้อีกด้วย ท่านผู้อ่านสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.gridmag.co/gemio/

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
  petromat@chula.ac.th