ทางออกขยะกรุงเทพฯ กับหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน

เรื่องโดย ศุภวิชญ์ จันทน์ขาว

กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่สร้างขยะมากที่สุดของประเทศไทย ปัจจุบันขยะส่วนใหญ่ถูกกำจัดด้วยวิธีฝังกลบ ขณะเดียวกันกรุงเทพฯ มีแนวทางการจัดการขยะมูลฝอยแบบมุ่งเน้นให้ขยะเหลือศูนย์ โดยสนับสนุนให้ลดและคัดแยกขยะที่ต้นทาง รวมถึงนำขยะไปแปรรูป ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรให้คุ้มค่าตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน

10,000 ตัน คือขยะในแต่ละวันของกรุงเทพมหานคร

ปริมาณขยะที่มากมายทำให้เกิดปัญหาขยะมูลฝอยตกค้าง ส่งผลให้เกิดความยากลำบากในการจัดเก็บรวบรวม การขนส่ง การคัดแยก ตลอดจนการนำไปกำจัดด้วยวิธีฝังกลบ ซึ่งต้องอาศัยพื้นที่และงบประมาณจำนวนมากในการบริหารจัดการ ขณะเดียวกันปริมาณขยะที่มากมายเช่นนี้อาจชี้ให้เห็นว่าผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ มีพฤติกรรมการใช้ทรัพยากรแบบฟุ่มเฟือย

ข้อมูลปริมาณขยะมูลฝอย โดยสำนักสิ่งแวดล้อมของกรุงเทพฯ ระบุว่าในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 (เดือนตุลาคม 2563 – เดือนกันยายน 2564) กรุงเทพฯ จัดเก็บขยะมูลฝอยรวมทั้งปีในปริมาณมากถึง 3.17 ล้านตัน หรือเฉลี่ยวันละ 8,674.73 ตัน

ขณะที่กรมควบคุมมลพิษได้รายงานข้อมูลสถานการณ์ขยะมูลฝอยทั่วประเทศ โดยระบุว่าในปีเดียวกันนี้ ขยะมูลฝอยในกรุงเทพฯ ที่นำกลับมาใช้ประโยชน์ เช่น นำไปหมักทำปุ๋ยหรือรีไซเคิล มีเพียง ประมาณร้อยละ 30

เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2560 ที่ขยะมีปริมาณมากที่สุดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คือเฉลี่ยวันละ 10,526.92 ตัน พบว่าแนวโน้มขยะมีปริมาณลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่สร้างขยะในอัตราที่สูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับจังหวัดอื่นๆ จากข้อมูลปริมาณขยะในปี พ.ศ. 2564 พบว่ากรุงเทพฯ สร้างขยะรวมกันทั้งปีในอัตราเกือบร้อยละ 20 ของปริมาณขยะมูลฝอยทั้งประเทศ

ในจำนวนขยะทั้งหมด ขยะมูลฝอยบางส่วนยังคงมีการจัดการอย่างไม่ถูกต้อง เช่น เทกองรวมกัน เผาในเตาแบบไม่มีระบบบำบัดมลพิษอากาศ และเผากำจัดกลางแจ้ง ซึ่งก่อให้เกิดมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม

ขยะล้นกรุงเทพฯ สู่ Landfill to Zero Waste

ขณะที่ขยะตกค้างในแต่ละวันกำลังสะสมเพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยกรุงเทพฯ ไม่มีพื้นที่เหมาะสำหรับการก่อสร้างระบบกำจัดขยะมูลฝอย ส่วนใหญ่แล้วขยะจึงถูกนำไปฝังกลบ ส่วนเตาเผาขยะที่ปลอดมลพิษทางอากาศก็มีต้นทุนสูงและค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา

แผนพัฒนากรุงเทพมหานครระยะ 20 ปี พ.ศ. 2556 – 2575 ในส่วนยุทธศาสตร์ “มหานครปลอดภัย-ปลอดมลพิษ” ภายใต้แนวคิดขยะเหลือศูนย์ หรือ Zero Waste Management ระบุว่ากรุงเทพฯ มีรูปแบบและการจัดการขยะมูลฝอยอย่างครบวงจร โดยขยะที่รถขยะของกรุงเทพฯ จัดเก็บได้จะเข้าสู่กระบวนการกำจัด อันประกอบไปด้วยขั้นตอนโดยคร่าวดังนี้

(1) ขนย้ายและคัดแยกขยะจากแหล่งกำเนิดที่ต้นทาง

(2) จัดเก็บรวบรวมและขนส่งขยะไปยังศูนย์กำจัดขยะมูลฝอย 3 แห่ง ได้แก่ ที่อ่อนนุช หนองแขม และท่าแร้ง

(3) คัดแยกขยะ ณ สถานที่กำจัด เพื่อนำขยะมูลฝอยไปแปรรูปแล้วนำกลับมาใช้ประโยชน์ โดยกรุงเทพฯ จำแนกขยะมูลฝอยที่นำไปแปรรูปได้ออกเป็น 2 ประเภทย่อย ได้แก่ มูลฝอยย่อยสลายได้ (Compostable Waste) และมูลฝอยที่ยังใช้ได้ (Recyclable Waste)

(4) แปรรูปขยะมูลฝอยที่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ ด้วยเทคโนโลยีอันเหมาะสมกับมูลฝอยแต่ละประเภท

     o มูลฝอยย่อยสลายได้ เช่น ขยะอินทรีย์ต่างๆ สามารถนำไปเลี้ยงสัตว์ หรือแปรรูปเป็นปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ ก๊าซชีวภาพ ฯลฯ โดยมูลฝอยที่นำไปหมักทำปุ๋ยในโรงงานปริมาณ 1,000 ตันต่อวัน จะได้ปุ๋ยหมักประมาณ 300 ตันต่อวัน

     o มูลฝอยที่ยังใช้ได้ เช่น ขวดแก้ว พลาสติก ชิ้นส่วนโลหะ กระดาษ และกระป๋องเครื่องดื่ม สามารถนำไปรีไซเคิลแล้วนำกลับมาใช้อีกครั้ง

(5) กำจัดขยะส่วนที่เหลือ ซึ่งมีในปริมาณที่สูงมาก โดยวิธีปัจจุบันคือการฝังกลบตามหลักสุขาภิบาล ณ อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม และอำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่อยู่นอกเขตกรุงเทพฯ

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีการแปรรูปขยะในปัจจุบัน ทำให้เราสามารถนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลายมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดปริมาณขยะที่ต้องนำไปฝังกลบให้เหลือศูนย์ จึงเป็นแนวทางสู่การจัดการขยะอย่างยั่งยืน ที่สำคัญกว่านั้นคือเทคโนโลยีสมัยใหม่จะช่วยให้เราสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่า ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน

ทางออกปัญหาขยะกรุงเทพฯ กับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน

นอกจากเราจะเปลี่ยนมูลฝอยย่อยสลายได้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ และเปลี่ยนมูลฝอยที่ยังใช้ได้เป็นผลิตภัณฑ์รีไซเคิลแล้ว เรายังสามารถเปลี่ยนขยะเป็นทรัพยากรอื่นๆ ได้อีก โดยอาศัยเทคโนโลยีใหม่ในการบริหารจัดการขยะ

แผนพัฒนากรุงเทพมหานครระยะ 20 ปี ระบุว่ากรุงเทพฯ ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มปริมาณการนำขยะมูลฝอยกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้เป็น 2 พันตันต่อวัน ภายในปี พ.ศ. 2565 โดยใช้หลัก 3Rs ในการแก้ไขปัญหาขยะกรุงเทพฯ ร่วมกับภาครัฐและเอกชน รวมถึงประชาชนคนกรุงเทพฯ ซึ่งได้แก่

(1) Reduce สนับสนุนให้ลดการบริโภคทรัพยากร เพื่อป้องกันมิให้มีขยะเกิดขึ้นแต่แรก

(2) Reuse ส่งเสริมให้มีการนำทรัพยากรไปใช้ซ้ำ เพื่อลดการเกิดขยะในแต่ละวัน

(3) Recycle เพิ่มประสิทธิภาพการกำจัดมูลฝอยด้วยการแปรรูปเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์

ตัวอย่างโครงการที่ระบุในแผนพัฒนากรุงเทพฯ อาทิเช่น โครงการธนาคารขยะ โครงการก่อสร้างโรงงานหมักปุ๋ย โครงการก่อสร้างโรงงานหมักก๊าซชีวภาพเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า โครงการก่อสร้างโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานความร้อนจากขยะ โครงการก่อสร้างโรงงานรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ

เทคโนโลยี MBT (Mechanical and Biological Waste Treatment) หรือระบบบำบัดขยะมูลฝอยด้วยวิธีเชิงกลและชีวภาพ เป็นวิธีการหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับกรุงเทพฯ ในการแปรรูปขยะ โดยขยะอินทรีย์และขยะที่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิล เช่น เศษถุงพลาสติกและกระดาษ จะถูกนำไปหมักรวมกัน หลังจากนั้นแล้วจึงนำไปคัดแยก ซึ่งจะได้ผลผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์และอีกส่วนที่เรียกว่า RDF (Refuse-derived Fuel) ซึ่งก็คือขยะแปรรูปที่สามารถนำไปเผาเป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไอน้ำและความร้อนได้

นโยบายผู้ว่ากรุงเทพฯ คนใหม่เรื่องการแก้ไขปัญหาขยะ กทม.

ข้อมูลจากเว็บไซต์สมัยที่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ หาเสียงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร https://www.chadchart.com ระบุนโยบายที่เกี่ยวกับการจัดการขยะและหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ได้แก่

o “สร้างต้นแบบการแยกขยะ ต่อยอดให้การแยกขยะระดับเขตสมบูรณ์ครบวงจร” ซึ่งเน้นให้ประชาชนแยกขยะที่ต้นทางออกเป็น 3 ประเภท คือ ขยะอินทรีย์ ขยะรีไซเคิล และขยะทั่วไป โดยมีแรงจูงใจ เช่น คืนปุ๋ยอินทรีย์แก่ประชาชนที่ให้ความร่วมมือ และงดเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับการเก็บขยะอินทรีย์และขยะรีไซเคิล

o “มุ่งเน้นแยกขยะต้นทางและขยะเปียกจากองค์กรแบบมุ่งเป้า” สำหรับนโยบายนี้จะเน้นการจัดการขยะที่ต้นทางในหน่วยงานหรือองค์กร เช่น สำนักงานและศูนย์บริการภายใต้ กทม. โรงเรียนในกรุงเทพฯ ตลาดและห้างสรรพสินค้า พร้อมส่งเสริมให้มีการแปรรูปขยะเป็นเชื้อเพลิง RDF

o “ส่งขยะคืนสู่ระบบ: From Waste to Worth” เป็นนโยบายที่ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน เพื่อแยกขยะที่ต้นทางโดยมีนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น เพิ่มจุดรับทิ้งขยะรีไซเคิลตามปั๊มน้ำมัน ซูเปอร์มาร์เก็ต ห้างค้าปลีกต่างๆ โดยผู้ทิ้งขยะจะได้รับสิทธิประโยชน์อย่างแต้มสะสมเพื่อใช้เป็นส่วนลดสำหรับซื้อสินค้า นอกจากนี้ ยังมีนโยบายร่วมมือกับผู้ผลิตสินค้าโดยใช้หลัก EPR

EPR (Extended Producer Responsibility) เป็นหลักการที่ผลักดันให้ผู้ผลิตสินค้ามีส่วนในการรับผิดชอบมากขึ้นต่อบรรจุภัณฑ์ของสินค้าที่ตนเองเป็นผู้ผลิต ตัวอย่างเช่น ออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างบรรจุภัณฑ์ไร้ฉลากเพื่อลดการใช้ทรัพยากรและลดขยะ รับคืนและรวบรวมบรรจุภัณฑ์ที่ใช้สินค้าหมดแล้วเพื่อนำบรรจุภัณฑ์ไปรีไซเคิลหรือนำกลับมาใช้ซ้ำ ฯลฯ ซึ่งส่งเสริมให้เกิดความตระหนักถึงการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า รวมถึงสนับสนุนให้เกิดระบบการใช้ทรัพยากรอย่างครบวงจรมากยิ่งขึ้น

ขยะกรุงเทพฯ เป็นปัญหาเรื้อรังที่ต้องแก้ไข โดยแผนพัฒนากรุงเทพฯ และนโยบายของผู้ว่ากรุงเทพฯ คนใหม่ มีหลายส่วนที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ทว่าต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายเพื่อให้การเปลี่ยนแปลงกรุงเทพฯ ในเรื่องนี้เกิดได้จริง

แหล่งข้อมูล

  1. ข้อมูลสถิติขยะมูลฝอยของกรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพฯ  https://webportal.bangkok.go.th/environmentbma/page/sub/7405/สถิติปริมาณมูลฝอย
  2. ข้อมูลสถิติขยะมูลฝอยของประเทศและกรุงเทพมหานคร โดยกรมควบคุมมลพิษ https://thaimsw.pcd.go.th/report1.php?
  3. แผนพัฒนากรุงเทพมหานครระยะ 20 ปี พ.ศ. 2556 – 2575 https://webportal.bangkok.go.th/public/user_files_editor/130/BMA-developmentplan/P20ys(2556-2575).pdf
  4. นโยบายหาเสียงด้านสิ่งแวดล้อมของผู้ว่ากรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ https://www.chadchart.com/policy/
  5. เทคโนโลยีการจัดการขยะแบบครบวงจร โดยศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านชีวมวล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี http://biomass.sut.ac.th/biomass/?page=WebInfoMenu/webInfoShow&id=18
  6. Extended Producer Responsibility (EPR) โดยกรีนพีซ https://www.greenpeace.org/thailand/story/18369/plastic-infographic-extended-producer-responsibility

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
  petromat@chula.ac.th