สร้างอาคารอย่างรักษ์โลก

เรื่องโดย ศุภวิชญ์ จันทน์ขาว

การก่อสร้างเป็นอุตสาหกรรมที่เปลืองทรัพยากรอย่างมหาศาลและก่อให้เกิดขยะของเสียมากมาย การใช้ทรัพยากรให้น้อยลงและเป็นระบบมากขึ้นตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนจึงเป็นแนวทางการแก้ปัญหา โดยปัจจุบันมีนวัตกรรมที่น่าสนใจ ซึ่งจะช่วยให้การสร้างอาคารนั้นเป็นไปอย่างยั่งยืน

สร้างอาคารทำลายสิ่งแวดล้อมแค่ไหน

ทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตเป็นวัสดุก่อสร้างนั้นมีจำนวนมาก เช่น หินปูน เหล็ก ทราย ไม้ ฯลฯ โดยเฉพาะหินปูนที่ได้จากการระเบิดภูเขา ข้อมูลสถิติล่าสุดเกี่ยวกับการผลิตแร่ในประเทศที่รวบรวมโดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่าในช่วงปี พ.ศ. 2560 – 2564 ประเทศไทยผลิตหินปูนในปริมาณเฉลี่ยมากถึง 70 ล้านตันต่อปี โดยหินปูนเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตเป็นปูนซีเมนต์และคอนกรีต ซึ่งเป็นวัสดุหลักสำหรับการก่อสร้างทั่วไป นอกจากจะใช้ทรัพยากรมากแล้วอุตสาหกรรมคอนกรีตยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมาก คิดเป็นร้อยละ 6 – 10 ของการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วทั้งโลก

ขยะของเสียเกิดเยอะมากจากการก่อสร้างและการรื้อถอน ซึ่งประกอบด้วยซากอาคารขนาดใหญ่และหนัก รวมถึงเศษวัสดุก่อสร้าง เช่น คอนกรีต อิฐ กระจก ชิ้นส่วนโลหะ ไม้อาคาร ผนังและหลังคาบ้าน ฯลฯ โดยคอนกรีตเป็นขยะก่อสร้างอันมีสัดส่วนมากที่สุดถึงร้อยละ 70 ในประเทศไทย รองลงมาคือ อิฐ เหล็ก และกระเบื้อง ตามลำดับ ขณะเดียวกันขยะก่อสร้างก็มีปริมาณมากถึงร้อยละ 30 – 40 ของขยะฝังกลบทั่วโลก

สร้างอาคารอย่างไรไม่ให้ทำลายทรัพยากร

วัฏจักรของการก่อสร้างอาคารเริ่มต้นจากการผลิตวัสดุก่อสร้าง ตามมาด้วยการออกแบบและการก่อสร้างอาคาร การอยู่อาศัย การปรับปรุงซ่อมแซม แล้วสิ้นสุดลงที่การรื้อถอนทำลาย ซึ่งมีเคล็ดไม่ลับในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนี้

  • การผลิตวัสดุก่อสร้าง สามารถเลือกวัตถุดิบที่เป็นของเสียจากอุตสาหกรรม รวมทั้งวัตถุดิบรีไซเคิลจากอุตสาหกรรมก่อสร้าง อีกทั้งวัสดุก่อสร้างที่ผลิตขึ้นก็ต้องมีความทนทานและซ่อมแซมง่าย เพื่อให้มีอายุการใช้งานยาวนาน
  • การออกแบบและการก่อสร้าง ให้คำนึงถึงความคุ้มค่าในการใช้ทรัพยากร ตกแต่งอาคารเท่าที่จำเป็น รวมถึงคัดแยกของเสียจากการก่อสร้างเพื่อนำกลับมารีไซเคิล
  • การอยู่อาศัย ในระหว่างนี้ควรมีการบำรุงรักษาให้อาคารคงสภาพดีอยู่เสมอ
  • การปรับปรุงซ่อมแซม คล้ายกับการออกแบบและการก่อสร้างอาคาร แต่แนะนำว่าหลีกเลี่ยงการรื้อถอนที่ไม่จำเป็นจะดีกว่า
  • การรื้อถอนทำลาย สุดท้ายหากอาคารเก่าแล้วก็ต้องรู้จักรื้อถอนอย่างฉลาด มีการคัดแยกขยะของเสีย บางส่วนอาจใช้ซ้ำได้ ส่วนที่เหลือก็นำไปรีไซเคิล

สร้างอาคารรักษ์โลกด้วยนวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน

หลักเศรษฐกิจหมุนเวียนสนับสนุนการใช้ทรัพยากรอย่างเป็นระบบในวงจรของการผลิตและการใช้งาน ผ่านการนำทรัพยากรกลับมาใช้ซ้ำหรือการแปรรูปแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ ฯลฯ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุดในการใช้ทรัพยากร ซึ่งส่งผลให้ทรัพยากรต่างต่างนั้นเหลือทิ้งออกมาเป็นของเสียน้อยที่สุด

ปัจจุบันมีนวัตกรรมวัสดุก่อสร้างที่ผลิตจากวัตถุดิบรีไซเคิล อีกทั้งมีการพัฒนาวัสดุก่อสร้างให้สามารถใช้งานได้ยาวนาน รวมถึงมีเทคโนโลยีเปลี่ยนขยะของเสียจากวัสดุก่อสร้างให้เป็นวัสดุชนิดใหม่สำหรับการก่อสร้าง ตัวอย่างเช่น

  • วัสดุก่อสร้างแบบรักษ์โลก ซึ่งผลิตจากวัตถุดิบเหลือทิ้งทางการเกษตรอย่างแกลบ หรือของเสียอุตสาหกรรมอย่างเถ้าถ่านหิน อาทิ แผ่นกระเบื้องเซรามิกสำหรับปูพื้นและผนัง ซึ่งผลิตจากเถ้าลิกไนต์ ผลงานวิจัยของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนากร วาสนาเพียรพงศ์ ภาควิชาวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ นอกจากนี้ วัสดุซึ่งมีน้ำหนักเบาก็รักษ์โลกได้เช่นกัน เพราะเมื่อพื้นและผนังของอาคารมีน้ำหนักเบาลงก็จะลดภาระของโครงสร้างเสาและฐานของอาคาร จึงสามารถลดการใช้คอนกรีตได้
  • วัสดุทดแทนคอนกรีต เช่น คอนกรีตผสมเถ้าลอยถ่านหินที่เป็นของเสียอุตสาหกรรม ซึ่งทดแทนการใช้ปูนซีเมนต์ได้ รวมถึงจีโอพอลิเมอร์ซึ่งผลิตจากเถ้าลอยจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ผลงานของรองศาสตราจารย์ ดร.ศิริธันว์ เจียมศิริเลิศ ภาควิชาวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ โดยจีโอพอลิเมอร์ดังกล่าวมีส่วนผสมของเส้นใยเซรามิก ทำให้มีความแข็งแรงและทนความร้อนด้วย นอกจากนี้ คอนกรีตสำเร็จรูป หรือ Precast Concrete สำหรับพื้นและผนัง ก็เป็นคอนกรีตอีกชนิดที่น่าสนใจ เพราะประหยัดปูนซีเมนต์ได้มากกว่าคอนกรีตที่ต้องหล่อในพื้นที่ก่อสร้าง
  • คอนกรีตซ่อมตัวเองได้ เป็นนวัตกรรมที่ผสมสารซ่อมแซมคอนกรีตในรูปของเหลวเอาไว้ในไมโครแคปซูล ซึ่งแตกออกมาได้เมื่อคอนกรีตแตกร้าวเสียหาย โดยสารดังกล่าวจะทำปฏิกิริยากันจนแข็งตัว ทำให้คอนกรีตกลับมาแข็งแรงและมีอายุการใช้งานยาวนาน ซึ่งเป็นผลงานของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิรัญญา แก้ววัฒนะ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • Recycled Concrete Aggregate คือ เศษคอนกรีตจากการก่อสร้าง ซึ่งผ่านการบดย่อยและการคัดแยกเศษโลหะออก เพื่อใช้เป็นส่วนผสมในพื้นคอนกรีตสำหรับทำโครงสร้างฐานถนน ซึ่งสามารถลดขยะของเสียประเภทคอนกรีต อีกทั้งช่วยลดปริมาณหินและทรายที่ต้องใช้ผสมลงในคอนกรีตสำหรับทำโครงสร้างฐานถนนด้วย
  • Recycled Plastic Road หรือถนนยางมะตอยที่ผสมขยะพลาสติก ซึ่งสามารถเพิ่มความแข็งแรงให้กับถนนและช่วยลดขยะพลาสติก ทั้งนี้ การก่อสร้างต้องใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกจำนวนมาก ซึ่งมักถูกแกะทิ้งทันทีหลังจากที่วัสดุก่อสร้างขนส่งมาถึงที่หน้างาน

การสร้างบ้านสร้างอาคารนั้นมีผู้เกี่ยวข้องหลายส่วน ทั้งเจ้าของบ้านหรืออาคาร สถาปนิก วิศวกร ผู้รับเหมา ผู้รับทิ้งขยะ ตลอดจนหน่วยงานในท้องถิ่น ดังนั้น ความร่วมมือกันระหว่างแต่ละส่วนจึงเป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนในอุตสาหกรรมการก่อสร้าง โดยปัจจุบันในประเทศไทยมีการจัดตั้งเครือข่ายความร่วมมือองค์กรธุรกิจอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy in Construction Industry หรือ CECI) ซึ่งเป็นความพยายามในการยกระดับอุตสาหกรรมการก่อสร้างของประเทศไทยให้ไปสู่ความยั่งยืน

หลักเศรษฐกิจหมุนเวียนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นการลดการใช้วัตถุดิบ การใช้วัสดุอื่นทดแทน การเพิ่มคุณภาพผลิตภัณฑ์ การรีไซเคิลขยะของเสีย ฯลฯ ซึ่งช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และนำไปสู่การสร้างอาคารอย่างรักษ์โลกในโลกที่น่าอยู่

แหล่งข้อมูล

  1. บทความเรื่องความยั่งยืนของอุตสาหกรรมก่อสร้าง โดยสถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (สทสย.) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ https://www.nstda-tiis.or.th/our-rd-activities/sd-data/10yfp-scp/sbc/
  2. ข้อมูลการผลิตแร่ของประเทศ โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม http://www7.dpim.go.th/stat/production.php?pduct=Quantity&pdcode=040&pdyear1=2017&pdyear2=2021
  3. บทความเรื่อง Circular Economy กับการพัฒนาอุตสาหกรรมก่อสร้าง โดยศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน https://risc.in.th/th/knowledge/circular-economy-%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%92%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B8%95%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%81%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87
  4. บทความเรื่อง 6 เทคนิคการใช้คอนกรีตอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถลดคาร์บอนได้ โดยศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน https://risc.in.th/th/knowledge/6-%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%84%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B8%84%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E-%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%96%E0%B8%A5%E0%B8%94%E0%B8%84%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%9A%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
  petromat@chula.ac.th