CBAM

เรื่องโดย นุสรา จริยะสกุลโรจน์

ภาวะโลกร้อน หรือที่รู้จักกันอีกชื่อว่า ภาวะโลกรวน ได้ทำให้เกิดภัยพิบัติสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงและเห็นผลกระทบชัดเจนมากขึ้นในปัจจุบัน ส่งผลให้ทั่วโลกเกิดการตื่นตัวและเห็นความสำคัญของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อหวังว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะไม่เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 – 2.0 องศาเซลเซียสภายในศตวรรษนี้ และนานาประเทศยังตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือที่เรียกว่า Net Zero” ภายในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593)

เพื่อเป็นการสนับสนุนความหวังและเป้าหมายดังกล่าว คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ได้ออกนโยบายที่เรียกว่า “European Green Deal” หรือมาตรการลดคาร์บอนไดออกไซด์ลงร้อยละ 55 ในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) หรือ Fit for 55 Package ซึ่งเป็นร่างกฎหมายเพื่อรับรองเรื่อง

•  การปรับปรุงสิทธิการซื้อขายและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

•  การส่งเสริมการคมนาคมสีเขียวทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศ

•  การกำหนดอัตราภาษีธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

•  การกำหนดสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน

•  การตั้งเป้าหมายการดูดซับก๊าซเรือนกระจก

•  การออกมาตรการ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism)

โดยในบทความนี้เราจะมาพูดถึงมาตรการ CBAM มีความเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไทยอย่างไร ผู้ประกอบการส่งออกไทยต้องเตรียมตัวอย่างไรเพื่อรองรับการบังคับใช้มาตรการ CBAM ของสหภาพยุโรป

CBAM คืออะไร

•   หนึ่งในมาตรการ Fit For 55 ภายใต้นโยบาย European Green deal มีเป้าหมายให้สหภาพยุโรป (EU) ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิอย่างน้อยร้อยละ 55 ในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) เมื่อเทียบกับปีฐานคือ ปี ค.ศ. 1990 (พ.ศ. 2533) และลดลงเหลือศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593)

•   มาตรการ CBAM สร้างความเท่าเทียมต้นทุนราคาคาร์บอนระหว่างสินค้าภายใน EU ที่มีการบังคับใช้ระบบการซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจก (EU’s Emission Trading System : EU ETS) กับสินค้าที่ผลิตภายนอก EU ผ่านการปรับราคาคาร์บอน เพื่อเร่งให้ประเทศคู่ค้าของ EU ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง

•   CBAM เริ่มใช้กับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2566 เป็นต้นไป

•   เมื่อมีการใช้มาตรการ CBAM จะทำให้การบังคับใช้ระบบ EU ETS มีบทบาทน้อยลง สอดคล้องกับการเริ่มบังคับการเก็บค่าธรรมเนียมคาร์บอนจากมาตรการ CBAM ในปี พ.ศ. 2569 จนสิ้นสุดบทบาทของ EU ETS และบังคับใช้มาตรการ CBAM อย่างเต็มรูปแบบในปี พ.ศ. 2577

อุตสาหกรรมเป้าหมาย มีอะไรบ้าง

(1) เหล็กและเหล็กกล้า (ครอบคลุม Downstream Products บางรายการด้วย เช่น นอตและสกรูที่ทำจากเหล็กและเหล็กกล้า)

(2) อะลูมิเนียม (ครอบคลุมสายเคเบิลที่ทำจากอะลูมิเนียม)

(3) ซีเมนต์

(4) ปุ๋ย

(5) ไฟฟ้า

(6) ไฮโดรเจน รวมถึง เคมีภัณฑ์และพอลิเมอร์ แก้ว เซรามิก ยิปซัม กระดาษ เป็นต้น

การฝ่าฝืนไม่รายงานข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Embedded Emissions) จากการนำเข้าสินค้าอาจมีโทษปรับระหว่าง 10 – 50 ยูโรต่อตันคาร์บอน

ระยะการดำเนินมาตรการ CBAM แบ่งออกเป็น 3 ระยะดังนี้

  • ช่วงเปลี่ยนผ่าน (Transitional Period)

วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2566 – วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2568 ผู้ประกอบการส่งออกจากประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก EU ที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายต้องรายงานปริมาณการนำเข้าสินค้าและปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้าที่จะนำเข้าไปยัง EU เท่านั้น แต่ยังไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมคาร์บอน

  • ระยะพิจารณาผลดำเนินมาตรการ CBAM

ช่วงปี พ.ศ. 2568 EU จะพิจารณาผลดำเนินมาตรการ CBAM จากข้อมูลที่ได้รับในช่วงเปลี่ยนผ่าน ก่อนบังคับใช้การคิดค่าธรรมเนียมคาร์บอนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2569 เป็นต้นไป รวมถึงขยายขอบเขตอุตสาหกรรมเป้าหมายของ CBAM ให้ครอบคลุมอุตสาหกรรมที่บังคับใช้ในระบบ EU ETS เช่น สารอินทรีย์พื้นฐาน เคมีภัณฑ์และพอลิเมอร์ แก้ว เซรามิก ยิปซัม กระดาษ เป็นต้น

  • ระยะบังคับใช้มาตรการ CBAM เต็มรูปแบบ

ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2569 เป็นต้นไป ผู้ประกอบการส่งออกต้องรายงานข้อมูล พร้อมยื่นหลักฐานการจ่ายค่าธรรมเนียม CBAM Certificates ภายในวันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกปี โดยข้อมูลดังกล่าวประกอบด้วย

–   ปริมาณสินค้าที่นำเข้าในระหว่างปีที่ผ่านมา

–   ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้าที่นำเข้ามาใน EU ซึ่งมีการตรวจสอบโดยผู้ตรวจสอบที่ได้รับอนุญาต

–   CBAM Certificates หลักฐานการจ่ายค่าธรรมเนียมคาร์บอนตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้าที่นำเข้า

หากไม่มีการยื่นหลักฐาน CBAM Certificates ครบตามจำนวนและภายในเวลาที่กำหนด ?

ผู้นำเข้าสินค้านั้นจะต้องโดนโทษในอัตรา 3 เท่า ของราคาเฉลี่ยในปีก่อนหน้า ต่อ 1 CBAM Certificate ที่ยังไม่ได้ส่งมอบ และยังคงต้องทำการซื้อและส่งมอบ CBAM Certificate ให้ครบตามจำนวนที่กำหนดสำหรับการนำเข้าสินค้านั้น

ขั้นตอนการดำเนินการก่อนส่งสินค้าข้ามพรมแดน EU โดยสรุปมีดังนี้

  1. CBAM Declaration

ระหว่างปี พ.ศ. 2566 – 2568 ผู้นำเข้าต้องรายงานปริมาณก๊าซเรือนกระจกต่อหน่วยงานประสานงานกลางของ CBAM (Authorized Declarant) รายไตรมาส โดยจะเริ่มในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2566

  1. CBAM Certificate

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2569 เป็นต้นไป ผู้นำเข้าจะต้องรายงานปริมาณก๊าซเรือนกระจก (Embedded Emission) ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะต้องได้รับการรับรองความถูกต้องโดยผู้ทวนสอบ (Accredited Verifier) ที่ขึ้นทะเบียนกับคณะกรรมการ CBAM (CBAM Authority) ซึ่งยังไม่มีการประกาศรายชื่อผู้ทวนสอบอย่างเป็นทางการในปัจจุบัน พร้อมทั้งซื้อ CBAM Certificate ที่เกินค่า Benchmark ของ EU ภายในวันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปี โดย 1 Certificate = 1 Ton CO2eq ราคาของใบรับรองจะเชื่อมโยงกับราคาเฉลี่ยรายสัปดาห์ของ EU Emission Trading System (EU ETS) โดยกระบวนการซื้อ-ขายใบรับรองนี้จะทำผ่านหน่วยงานประสานงานกลางของ CBAM (Authorized Declarant)

  1. Authorized Declarant

เมื่อผู้นำเข้ามีใบรับรองเรียบร้อยแล้ว จะถูกส่งผ่านหน่วยงานประสานงานกลางไปยังคณะกรรมการ CBAM (CBAM Authority) เพื่อให้สามารถนำเข้าสินค้าในเขตประเทศสมาชิก EU ได้ มีผลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2569 เป็นต้นไป

ผลกระทบต่อผู้ส่งออกไทย

•   การส่งออกสินค้าของไทยไปยัง EU ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายหลักของ CBAM มีสัดส่วนไม่มากนัก โดยการส่งออกหลักเป็น 2 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า และ อะลูมิเนียม

•   ประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายหลักของ CBAM รวมในปี พ.ศ. 2565 อยู่ที่ 14,712 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.5 ของมูลค่าการส่งออกรวมของไทยไปยัง EU

•   หากดำเนินการตามมาตรการ CBAM ทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการไทยเพิ่มขึ้นจากการซื้อใบรับรอง ประมาณ 16 – 270 ยูโรต่อสินค้านำเข้า 1 ตัน แตกต่างไปในแต่ละอุตสาหกรรม

•   สินค้าที่นำเข้าไปใน EU จะมีราคาที่สูงขึ้น ทำให้ผู้นำเข้าอาจจะลดการนำเข้าสินค้าลง หรือผู้บริโภคภายใน EU จะหันมาใช้สินค้าที่ผลิตใน EU มากขึ้น เนื่องจากมีต้นทุนที่ต่ำกว่า

•   มาตรการ CBAM จะกีดกันสินค้าที่มีมาตรฐานทางด้านสิ่งแวดล้อมต่ำทางอ้อมไม่ให้สามารถนำเข้าไปในตลาด EU ได้

ผู้ส่งออกไทยต้องเตรียมตัวอย่างไรกับมาตรการ CBAM

•   Carbon Footprint : ภาคธุรกิจควรเตรียมความพร้อมในการเปิดเผยข้อมูลก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์ เช่น ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ (Carbon Footprint of Products) ฉลากลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint Reduction)

•   ศึกษาโครงการนำร่องระบบซื้อขายสิทธิ์ในการปล่อยคาร์บอนด้วยความสมัครใจ (Voluntary Carbon Market) สำหรับชดเชยการปล่อยคาร์บอน

•   EU Business Partners : ประสานงานกับคู่ค้าใน EU เพื่อติดตามมาตรการการบังคับใช้ วิธีคำนวณ และอัตราการจัดเก็บ เพื่อเตรียมพร้อมก่อนมีผลบังคับใช้

•   UN Agencies & Others : การประสานงานกับองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพและมีการดำเนินการตามมาตรฐานสากล

•   Climate Follow-up : ติดตามสถานการณ์ในประเทศที่มีแนวโน้มจะออกนโยบายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจมีการนำมาใช้เป็นมาตรการในอนาคต

•   Climate Trialogue : การเข้าร่วมกับหน่วยงานหรือสมาคม ที่มีบทบาทสำคัญในการเจรจาข้อกำหนดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการส่งออกไทยควรเร่งปรับตัวรองรับมาตรการเพื่อรักษาฐานลูกค้าใน EU และอาจมีโอกาสในการขยายตลาดเพิ่มเติมหากผู้ส่งออกจากประเทศอื่นไม่สามารถปรับตัวรองรับมาตรการได้ทัน นอกจากนี้ควรเตรียมพร้อมรองรับมาตรการในประเทศอื่น ๆ ที่มีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกับ EU เช่น สหรัฐอเมริกา ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณากฎหมาย US Clean Competition Act และอาจจะเริ่มมีการเก็บค่าธรรมเนียมคาร์บอนในปี พ.ศ. 2569 เช่นเดียวกัน

แหล่งข้อมูล

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
  petromat@chula.ac.th