แหล่งดูดซับคาร์บอนตามธรรมชาติของโลก

เรื่องโดย นุสรา จริยะสกุลโรจน์

แหล่งดูดซับและกักเก็บคาร์บอนตามธรรมชาติของโลก

ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจกที่ถูกกำหนดขึ้นภายใต้พิธีสารเกียวโตและถูกกล่าวถึงมากที่สุดในปัจจุบันว่าเป็นต้นเหตุของภาวะโลกร้อน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ยังมีประโยชน์ในด้านอื่น ก๊าซชนิดนี้มีองค์ประกอบของคาร์บอนซึ่งเป็นธาตุพื้นฐานที่ทำให้ระบบนิเวศของโลกเกิดความสมดุลและธรรมชาติเองก็ยังเป็นแหล่งกักเก็บและดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ได้ที่เราเรียกว่า Carbon Sink นั่นเอง

ตามข้อมูลของ Global Carbon Budget ได้แบ่งแหล่งกักเก็บคาร์บอนตามธรรมชาติของโลกเป็น 3 แหล่งหลัก ๆ คือ

  • ทะเล มหาสมุทร (เรียกคาร์บอนที่ถูกเก็บไว้ว่า Blue Carbon)

  • ต้นไม้ ป่าไม้ (เรียกคาร์บอนที่ถูกเก็บไว้ว่า Green Carbon)

  • ชั้นบรรยากาศ (Atmosphere) แหล่งกักเก็บคาร์บอนในชั้นบรรยากาศนี้เองที่กำลังมีปัญหา เนื่องจากเป็นการกักเก็บคาร์บอนในรูปของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกส่งผลให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นหรือเกิดภาวะโลกร้อน

Green Carbon

คาร์บอนจากชั้นบรรยากาศในรูปของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกดูดซับและกักเก็บโดยต้นไม้ ป่าไม้และผืนดินที่ปกคลุมด้วยพืชพันธุ์ต่าง ๆ ผ่านกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงของพืช การดูดซับคาร์บอนแบบนี้เป็นที่คุ้นเคยของคนทั่วไป เนื่องจากเป็นความรู้ขั้นพื้นฐานเรื่องการเจริญเติบโตของพืชผ่านการสังเคราะห์ด้วยแสงและมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นปัจจัยหลักในกระบวนการ

พืชและป่าไม้จึงมีส่วนสำคัญในการหมุนเวียนคาร์บอน ด้วยความที่ Green Carbon อยู่บนผืนดินและกักเก็บคาร์บอนส่วนเกินไว้ในผืนดิน จึงถูกเรียกอีกอย่างว่า Terrestrial Carbon Sink” หรือคาร์บอนซิงค์ภาคพื้นดิน

ป่าไม้ : Terrestrial Carbon Sink แหล่งดูดซับและกักเก็บ Green Carbon

ความสำคัญของ Green Carbon

  • ต้นไม้และป่าไม้เป็นตัวดูดซับและกักเก็บ Green Carbon ที่มีประสิทธิภาพ เพราะมีอายุยืน โดยเฉพาะเศษซากใบไม้กิ่งไม้ในป่าที่สะสมคาร์บอนเป็นเวลายาวนานหลายศตวรรษ

  • ป่าไม้สามารถสะสมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมากได้ในระยะเวลาอันสั้น การปลูกป่าเพิ่มเติมและการฟื้นคืนพื้นที่ป่าจึงเป็นหนทางที่มีประสิทธิภาพในการเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนชีวภาพ

  • คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) คำนวณโครงการระดับโลกที่เกี่ยวข้องกับป้องกันการตัดไม้ทำลายป่า การฟื้นฟูป่าเขตร้อนและการปลูกป่าใหม่ทั่วโลก พบว่าสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศได้ 60–87 กิกะตันภายในปี ค.ศ. 2050 หรือคิดเป็นประมาณ 12-15% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากเชื้อเพลิงฟอสซิลในช่วงปีนั้น

 

Blue Carbon

คาร์บอนจากชั้นบรรยากาศในรูปของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกดูดซับโดยระบบนิเวศทางทะเล โดยแหล่งและสิ่งมีชีวิตที่มีบทบาทสำคัญ คือ ป่าชายเลน บึงน้ำเค็ม หญ้าทะเลและสาหร่ายขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบนิเวศชายทะเลที่เป็นป่าชายเลน มีบทบาทอย่างมากในการดูดซับคาร์บอนลงไปในผืนดินใต้ทะเลหรือดินเลนชายฝั่ง ดังนั้นมหาสมุทรจึงนับเป็น “คาร์บอนซิงค์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก” หรือเรียกว่า Oceanic Carbon Sink” ซึ่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าหนึ่งในสี่ของที่มนุษย์ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ

มหาสมุทร : Oceanic Carbon Sink คาร์บอนซิงค์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ความสำคัญของ Blue Carbon

คริสเตียน เนลเลมานน์ และคณะนักวิจัยจากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า

  • คาร์บอนชีวภาพทั้งหมดที่ถูกดูดซับไว้ในโลกมากกว่าครึ่งนั้น (55%) ถูกดูดซับไว้ด้วยระบบนิเวศทางทะเล ไม่ใช่ Carbon Sink ภาคพื้นดิน

  • พื้นที่กักเก็บคาร์บอนทั้งหมดของมหาสมุทร พื้นที่ที่พืชในทะเลมีการเจริญเติบโตมีอัตราส่วนกักเก็บคาร์บอนกว่า 50% และเป็นไปได้ว่าอาจมากถึง 70% ของ Blue Carbon ทั้งหมดในโลก ถึงแม้ว่าแหล่งที่อยู่อาศัยของพืชในมหาสมุทรจะครอบคลุมน้อยกว่า 5% ของพื้นที่ก้นทะเลทั้งโลกก็ตาม

  • จากข้อมูลการศึกษาแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของพืชทะเลที่แม้จะมีปริมาณน้อยเมื่อเทียบกับพืชบกที่กักเก็บ Green Carbon แต่พืชทะเลมีความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนสูงกว่าและกักเก็บได้ยาวนานหลายพันปี

แหล่งกักเก็บ Blue Carbon ที่สำคัญ

แหล่งดูดซับและกักเก็บคาร์บอนตามธรรมชาติของโลกไม่ว่าจะเป็นระบบนิเวศภาคพื้นดิน ต้นไม้ ป่าไม้ หรือภาคพื้นสมุทร ป่าโกงกาง พืชใต้ทะเล ล้วนเป็นแหล่งที่มีหน้าที่พิเศษในการช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เอาไว้ ไม่ให้ขึ้นไปบนชั้นบรรยากาศจนเกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก (Greenhouse Effect) ที่ทำให้โลกร้อนขึ้น การอนุรักษ์ พัฒนาและเพิ่มระบบนิเวศดังกล่าวจึงเป็นแนวทางที่สำคัญอย่างยิ่งในการลดภาวะโลกร้อน

แหล่งข้อมูล

  1. https://www.carethebear.com/article/detail/11
  2. https://www.jstor.org/stable/j.ctt24hcnf
  3. https://datacenter.deqp.go.th/knowledge/articlecop/8/
  4. https://www.researchgate.net/publication/288341877_Blue_Carbon_-_The_Role_of_Healthy_Oceans_in_Binding_Carbon
  5. Nelleman, C. “Blue carbon: the role of healthy oceans in binding carbon” (PDF). Archived from the original (PDF) on 2016-03-04

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
  petromat@chula.ac.th