ฉลากคาร์บอนสื่อถึงอะไรและมีประโยชน์อย่างไร

เรื่องโดย นุสรา จริยะสกุลโรจน์

ความรุนแรงของภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน นับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ ทำให้ทุกภาคส่วนทั่วโลกตื่นตัวให้ความสนใจและตระหนักถึงปัญหาทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรมในฐานะผู้ผลิต   ภาคบริการในฐานะผู้ขับเคลื่อนกิจกรรม รวมถึงภาคประชาชนในฐานะผู้บริโภค

การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในส่วนของผู้บริโภคที่เชื่อมโยงกับภาคการผลิตและภาคการบริการ คือ การเลือกซื้อสินค้าและใช้บริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณต่ำเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์หรือบริการประเภทเดียวกัน ซึ่งผู้บริโภคจำเป็นต้องดูข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อ

ที่มาของฉลากคาร์บอน

ในปี พ.ศ. 2544 มีองค์กรอิสระที่ชื่อว่า “คาร์บอนทรัสต์ (Carbon Trust)” ริเริ่มศึกษาเกี่ยวกับการลดปัญหาโลกร้อน มีจุดมุ่งหมายให้คำแนะนำกับผู้ประกอบการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเป็นองค์กรแห่งแรกที่ให้ใบรับรองเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดังนั้นในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2550 จึงเกิดฉลากคาร์บอนผลิตภัณฑ์ขึ้นเป็นครั้งแรกในสหราชอาณาจักร ในกลุ่มสินค้าอุปโภคและบริโภค โดย Tesco Plc. ซุปเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ได้เริ่มติดฉลากคาร์บอน บอกจำนวนคาร์บอนที่เกิดขึ้นจากการผลิตบนภาชนะบรรจุสินค้าภายใต้ตราสินค้า Tesco ของตนเองประมาณ 20 รายการ วางขายใน Tesco ทั่วสหราชอาณาจักร

คาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่ติดบนผลิตภัณฑ์ เป็นการแสดงข้อมูลให้ผู้บริโภคทราบว่า ตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์นั้น มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาปริมาณเท่าไหร่ต่อหนึ่งหน่วยผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่ขั้นตอนการได้มาซึ่งวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การกระจายสินค้า การใช้งาน และการจัดการของเสียหลังหมดอายุการใช้งาน  โดยแสดงผลอยู่ในรูปของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2 equivalent) ซึ่งฉลากคาร์บอนจัดอยู่ในฉลากสิ่งแวดล้อม ประเภทที่ 3 (ISO 14025: Type III Environmental Declaration)

ประเภทของฉลากคาร์บอน

แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ตามวิธีการแสดงข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือคาร์บอนฟุต พริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ คือ

ประเภทที่ 1 คือ ฉลากบ่งชี้การปล่อยคาร์บอนต่ำ (Low – Carbon Seal) แสดงข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณที่ต่ำกว่าผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเดียวกัน

ประเภทที่ 2 คือ ฉลากบ่งชี้ระดับการปล่อยคาร์บอน (Carbon Rating) แสดงระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์ เช่น ระดับเหรียญทอง เงิน และทองแดง หรือบ่งชี้ระดับการลดลงของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Reduction Rating) แต่ไม่ได้แสดงข้อมูลตัวเลขปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ประเภทที่ 3 คือ ฉลากระบุขนาดคาร์บอน (Carbon Score) แสดงปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นตัวเลขขนาดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์

ประเภทที่ 4 คือ ฉลากชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset/Neutral) แสดงการชดเชยคาร์บอน

หลายประเทศทั่วโลกได้ให้ความสนใจในการศึกษาและคิดค้นฉลากคาร์บอนขึ้นเพื่อให้ผู้บริโภคทราบถึงความใส่ใจของผู้ผลิตต่อปัญหาโลกร้อน อีกทั้งยังสามารถสร้างความตื่นตัวในกลุ่มผู้บริโภคให้เลือกซื้อสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขั้นตอนการผลิตน้อยกว่าสินค้าชนิดเดียวกันแต่ต่างตราสินค้า

ตัวอย่างฉลากคาร์บอนในแต่ละประเทศ

ฉลากคาร์บอนของบางประเทศพบว่าไม่ได้เพียงชนิดเดียว เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา นอกจากฉลากแสดงปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาต่อหนึ่งหน่วยผลิตภัณฑ์แล้ว ยังมีฉลากแสดงถึงปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดหรือถูกชดเชยจากการปรับปรุงการผลิตหรือชดเชยก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากการผลิตอีกด้วย

ฉลากคาร์บอนประเทศไทย

แบ่งออกเป็น 8 กลุ่มดังนี้

1. ฉลากลดคาร์บอน (Carbon Reduction Label)

แสดงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหน่วยผลิตภัณฑ์หรือบริการ

หน่วยงาน : สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย

CabonReducionLabel

2. ฉลากอาคารลดคาร์บอน (Carbon Reduction Certification for Building)

รับรองการลดหรือหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำหรับอาคาร

หน่วยงาน : สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย

3. ฉลากคาร์บอนฟุตปริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ (Carbon Footprint of Product Label)

แสดงปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดกระบวนการต่อหน่วยผลิตภัณฑ์

หน่วยงาน : TGO*

Picture3

4. ฉลากลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint Reduction Label)

แสดงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยเปรียบเทียบคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ในปีปัจจุบันกับปีฐาน

หน่วยงาน : TGO*

Picture4

5. ฉลากคาร์บอนฟุตปริ้นท์ขององค์กร (Carbon Footprint for Organization Label)

รับรองปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการดำเนินงานและกิจกรรมต่างๆขององค์กรตลอดระยะเวลา 1 ปี

หน่วยงาน : TGO*

6. ฉลากชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset / Carbon Neutral Label)

รับรองกิจกรรมที่มีการซื้อคาร์บอนเครดิตมาชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของกิจกรรมบางส่วน (Carbon Offset) หรือทั้งหมด (Carbon Neutral)

หน่วยงาน : TGO*

Picture6-1
Picture6-2

7. ฉลากคูลโหมด (Cool Mode Label)

รับรองเสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี มีคุณสมบัติพิเศษในการซับเหงื่อ ช่วยลดไฟฟ้าจากเครื่องปรับอากาศและเตารีด

หน่วยงาน : TGO* และ สสท**

Picture7

8. ฉลากคาร์บอนฟุตปริ้นท์ของผลิตภัณฑ์เศรษฐกิจหมุนเวียน (Carbon Footprint of Circular Economy Product Label)

แสดงปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดกระบวนการต่อหน่วยผลิตภัณฑ์เศรษฐกิจหมุนเวียนตามเกณฑ์ที่ TGO*กำหนด

หน่วยงาน : TGO*

Circular Economy Label

หมายเหตุ : * TGO คือ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)

**สสท. คือ สถาบันพฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ

ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ของประเทศไทยที่มีฉลากคาร์บอน

ประโยชน์ของฉลากคาร์บอน

ผู้ผลิต / ผู้ประกอบการ / ผู้จัดงาน

  • เป็นข้อมูลกระตุ้นให้ผู้ผลิต / ผู้ประกอบการ / ผู้จัดงาน หาแนวทางหรือวิธีการพัฒนาทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิตและการจัดงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

  • ลดต้นทุนการผลิตจากการพัฒนากระบวนการผลิตหรือการจัดงานให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น ปรับเปลี่ยนหรือลดการใช้ทรัพยากร ลดการใช้พลังงานฟอสซิล เพิ่มการใช้ทรัพยากรและพลังงานหมุนเวียน

  • แสดงเจตนารมณ์ในการรับผิดชอบต่อสังคมและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ผู้ผลิต / ผู้ประกอบการ / ผู้จัดงาน

ผู้บริโภค / ผู้เข้าร่วมงาน

  • เป็นข้อมูลทางเลือกใหม่ในการตัดสินใจซื้อสินค้า บริการและการเข้าร่วมงาน

  • แสดงการมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสาเหตุของปัญหาภาวะโลกร้อน

 

แหล่งข้อมูล

  1. http://www.tei.or.th/carbonreductionlabel/about.html
  2. http://www.environnet.in.th/archives/1496
  3. http://thaicarbonlabel.tgo.or.th/index.php?lang=TH&mod=Y0hKdlpIVmpkSE5mYVhNPQ
  4. https://www.nstdaacademy.com/nsa/upload/doc/242.pdf
  5. https://www.carethebear.com/article/detail/17
  6. องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน), เอกสารประกอบการอบรมแนวทางการคำนวณคาร์บอนฟุตปริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐานของประเทศไทย, หน้า 115 – 119

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
  petromat@chula.ac.th