กัญชาน่ารู้

เรื่องโดย พรพิมล ชุ่มแจ่ม

วันที่ 9 มิถุนายน 2565 คือวันที่ประเทศไทยมีการปลดล็อกกัญชา เราจะพบร้านอาหารและเครื่องดื่มหลายแห่งมีภาพใบไม้รูปฝ่ามือ มี  7 แฉก ปรากฎอยู่ในป้ายโฆษณาหน้าร้านกันมากขึ้น เพื่อชักชวนดึงดูดลูกค้าว่าอาหารและเครื่องดื่มมีส่วนผสมของ “กัญชา” ให้เข้ามาลิ้มลองและเพิ่มยอดขายให้มากขึ้น

กัญชาเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชีย เป็นไม้ล้มลุกมีอายุเพียง 1 ปี ต้นสูงได้ถึง 2 เมตร ทุกส่วนมีขนปกคลุม ใบรูปฝ่ามือ ขอบใบหยักเว้าลึก ใบย่อยเล็ก 5 – 7 ใบ แต่ละใบย่อยเรียวยาว กว้าง 0.3 – 1.5 เซนติเมตร ยาว 6 – 10 เซนติเมตร ขอบใบจักฟันเลื่อย สีเขียวเข้ม ช่อดอกแยกเพศอยู่ต่างต้น เป็นช่อกระจุก ออกตามซอกใบใกล้ปลายยอด ช่อเพศผู้อยู่ห่าง ๆ กัน มีเกสรเพศผู้ 5 อัน ดอกเล็ก ช่อเพศเมียออกเป็นกระจุก ไม่มีกลีบดอก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบผลแห้งเมล็ดอ่อน เมล็ดกลมสีน้ำตาลและยังมีกลีบเลี้ยงติดอยู่

เดิมการจำแนกพฤกษศาสตร์ของพืชสกุลกัญชามีความสับสนมาก จนในปี พ.ศ. 2558 Ernest Small นักพฤกษศาสตร์ชาวแคนาดาเสนอให้ใช้สกุลกัญชาว่า Cannabis ซึ่งมีเพียงชนิดเดียว C. sativa โดยแยกเป็น 2 ชนิดย่อยบนพื้นฐานของสารเสพติด

ชนิดย่อยที่  1 Cannabis sativa subsp. Sativa หรือกัญชง จุดเด่นคืนใบย่อยแคบเรียวยาว ประกอบด้วยกลุ่มพืชไม่เสพติด แยกเป็น 2 พันธุ์ คือ พันธุ์ปลูก C. sativa subsp. Sativa var. sativa และพันธุ์ที่เติบโตตามธรรมชาติ C. sativa subsp. Sativa var. spontanea

ชนิดย่อยที่ 2 Canabis sativa subsp. Indica หรือ กัญชา มีใบย่อยรูปใบหอกกลับกว้างกว่าชนิดที่ 1 ประกอบด้วยกลุ่มพืชเสพติดแยกเป็น 2 สายพันธุ์ คือ พันธุ์ปลูก C.sativa sbsp. Indica var. indica และ พันธุ์ที่เติบโตตามธรรมชาติ C. sativa subsp. Indica var. kafiristanica

ปัจจุบันมีการพัฒนาสายพันธุ์ต่าง ๆ ออกมามากมาย จนในปี พ.ศ. 2559 Antonino Pollio นักพฤกษศาสตร์ ชาวอิตาลีจึงเสนอให้เรียกชื่อสายพันธุ์ปลูกต่าง ๆ โดยใช้สกุล Cannabis นำและตามด้วยคำว่า strain เช่น Cannabis strain Sor Diessel, Cannabis strain Granddaddy Purple เป็นต้น

กัญชงกับกัญชาต่างกันอย่างไร

  1. กัญชากับกัญชง เป็นพืชชนิดเดียวกัน แต่จำแนกเป็นต่างชนิดย่อย
  2. ลักษณะภายนอก ใบกัญชงจะแคบเรียวกว่า ใบสีเขียวอ่อนกว่า ต้นสูงเร็วกว่า และแตกกิ่งก้านน้อยกว่า ช่อดอกมียางน้อยกว่า ทั้งนี้กัญชงได้รับการพัฒนาให้เป็นพืชทำเส้นใย จึงมีเปลือกเหนียว ลอกง่ายให้เส้นใยยาว มีคุณภาพสูง ในขณะที่กัญชาเป็นพืชสำหรับใช้สรรพคุณทางยาจึงมีเปลือกไม่เหนียว ลอกยาก เส้นใยมีคุณภาพต่ำกว่า
  3. นอกจากนี้กัญชงยังมีปริมาณสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท คือ THC (Delta-9-Tetrahydrocannabinol) น้อยกว่ากัญชาอีกด้วย

ประโยชน์ในแต่ละส่วนของกัญชา

สารสกัดและกลไกการออกฤทธิ์ของสารที่ได้จากกัญชา

  • สาร THC ออกฤทธิ์ที่ระบบประสาท ส่งผลเฉียบพลันให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลายและมีความรู้สึกสนุก แต่มีอาการข้างเคียงด้านลบต่อจิตประสาท ได้แก่ กระวนกระวาย ซึมเศร้า มีความบกพร่องในสมาธิ ความจำ และการเรียนรู้ ตลอดจนการทำงานของระบบเคลื่อนไหว การพูดมีผลต่อการเต้นของหัวใจและความดันโลหิต ในแง่ดี สารตัวนี้ช่วยต้านอาการคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยที่ได้รับเคมีบำบัดได้ดีกว่ายาแก้คลื่นไส้
  • สาร CBD มีฤทธิ์สำคัญ ได้แก่ ฤทธิ์ต้านการชัก ต้านการอาเจียน ต้านโรคจิตวิตกกังวล ซึมเศร้า กระตุ้นความอยากอาหาร แก้ปวด กำจัดความกระวนกระวาย ทำให้นอนหลับ
  • สาร CBN มีผลต่อความอยากอาหาร การย่อยอาหาร อารมณ์ ความรู้สึก ความจำ การเรียนรู้ และพฤติกรรม
  • สารไพนีน ช่วยลดความจำเสื่อมระยะสั้นที่เกิดจาก THC โดยยับยั้งการเผาผลาญเอนไซน์ของแอซีติลคอลีนในสมองส่วนฮิปโปแคมปัส อย่างไรก็ตามสารไพนีนตัวเดียวอาจจะอ่อนเกินไป จำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยต่อไป

ปัจจุบันในประเทศไทยอยู่ระหว่างการศึกษาทดลองนำสาร THC และสาร CBD  ในสัตว์พบว่าสามารถทำลายเซลล์มะเร็งหลายชนิดโดยไม่กระทบต่อเซลล์ปกติ ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ลดการแพร่กระจาย รวมทั้งมีหลักฐานอัตราการเกิดใหม่ของมะเร็งตับและมะเร็งลำไส้ใหญ่ในหนูทดลองได้ จึงมีความจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยในรายละเอียดต่อไป

ทั้งนี้การใช้กัญชาช่วยลดผลข้างเคียงจากการได้รับเคมีบำบัด  ไม่ว่าจะเป็นลดการคลื่นไส้ อาเจียน ลดการปวด ลดความเครียด เพิ่มความอยากอาหารให้ผู้ป่วยได้

อยากปลูกกัญชาต้องทำอย่างไร

การปลูกแนะนำเป็นสายพันธุ์ไทยดูแลง่าย เหมาะกับอากาศบ้านเรา เช่น พันธุ์หางกระรอกหาง่าย ราคาค่อนข้างถูก เหมาะกับมือใหม่หัดปลูก  เน้นใช้ในครัวเรือน นำใบมาประกอบอาหาร

1. เริ่มเพาะเมล็ด
  • นำเมล็ดมา ห่อด้วยทิชชู่ พรมน้ำให้ชุ่ม
  • ใส่กระปุก ปิดฝา เก็บไว้ในที่มืดไม่ให้โดนแสงแดด
  • 2-3 วัน ให้เช็กว่ามีรากงอกรึยัง ถ้ามีเป็นอันใช้ได้
2. เพาะต้นอ่อน
  • ใช้ พีทมอส เพราะสามารถเติบโตได้ดี เมล็ดมีโอกาสโตได้เยอะ
  • บางคนจะผสม พีทมอส เวอร์มิคูลไลท์ เพอร์ไลท์ ส่วนมากจะเป็น 70% 10% 10%
  • นำเมล็ดฝังในดินไม่ต้องลึกมาก
  • ปลูกในที่ร่มสัก 2-3 วัน พรมน้ำให้ชุ่ม (อย่าแฉะ)
  • พอวันที่ 3 ให้เอาออกไปรับแดด
  • ประมาณ 10 วันเตรียมย้ายลงกระถาง
3. ปลูกต้นกัญชาลงกระถาง
  • เริ่มจากกระถางเล็กก่อน เช่น 6 นิ้ว
  • เตรียมดิน ง่ายสุดคือ หน้าดิน ปุ๋ยหมัก 1 ต่อ 1 ผสมกัน
  • หรือหาซื้อดินสำหรับปลูกกัญชามาใช้
  • นำต้นมาใส่ อย่ารดน้ำมากเกินไป

เมื่อปลูกแล้ว อย่าลืมจดแจ้งผ่าน application “ปลูกกัญ” หรือ เว็บไซต์ http://plookganja.fda.moph.go.th ซึ่งมีการกำหนดบ้านละไม่เกิน 10 ต้น และต้องจดแจ้ง โดยมี 3 ขั้นตอนดังนี้

  • กรอกเลขบัตรประชาชน และหมายเลขโทรศัพท์ เพื่อรับรหัส OTP ในการลงทะเบียน
  • จดแจ้งการปลูก กรอกรายละเอียด
  • รับเอกสารจดแจ้งอิเล็กทรอนิกส์

ประกาศกรมอนามัย เรื่องการนำใบกัญชามาใช้ในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหารในสถานประกอบการระบุถึงปริมาณใบกัญชาที่ใช้ต่อเมนู ดังนี้

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
  petromat@chula.ac.th