เรื่องโดย พรพิมล ชุ่มแจ่ม
วันที่ 9 มิถุนายน 2565 คือวันที่ประเทศไทยมีการปลดล็อกกัญชา เราจะพบร้านอาหารและเครื่องดื่มหลายแห่งมีภาพใบไม้รูปฝ่ามือ มี 7 แฉก ปรากฎอยู่ในป้ายโฆษณาหน้าร้านกันมากขึ้น เพื่อชักชวนดึงดูดลูกค้าว่าอาหารและเครื่องดื่มมีส่วนผสมของ “กัญชา” ให้เข้ามาลิ้มลองและเพิ่มยอดขายให้มากขึ้น
กัญชาเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชีย เป็นไม้ล้มลุกมีอายุเพียง 1 ปี ต้นสูงได้ถึง 2 เมตร ทุกส่วนมีขนปกคลุม ใบรูปฝ่ามือ ขอบใบหยักเว้าลึก ใบย่อยเล็ก 5 – 7 ใบ แต่ละใบย่อยเรียวยาว กว้าง 0.3 – 1.5 เซนติเมตร ยาว 6 – 10 เซนติเมตร ขอบใบจักฟันเลื่อย สีเขียวเข้ม ช่อดอกแยกเพศอยู่ต่างต้น เป็นช่อกระจุก ออกตามซอกใบใกล้ปลายยอด ช่อเพศผู้อยู่ห่าง ๆ กัน มีเกสรเพศผู้ 5 อัน ดอกเล็ก ช่อเพศเมียออกเป็นกระจุก ไม่มีกลีบดอก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบผลแห้งเมล็ดอ่อน เมล็ดกลมสีน้ำตาลและยังมีกลีบเลี้ยงติดอยู่
เดิมการจำแนกพฤกษศาสตร์ของพืชสกุลกัญชามีความสับสนมาก จนในปี พ.ศ. 2558 Ernest Small นักพฤกษศาสตร์ชาวแคนาดาเสนอให้ใช้สกุลกัญชาว่า Cannabis ซึ่งมีเพียงชนิดเดียว C. sativa โดยแยกเป็น 2 ชนิดย่อยบนพื้นฐานของสารเสพติด
ชนิดย่อยที่ 1 Cannabis sativa subsp. Sativa หรือกัญชง จุดเด่นคืนใบย่อยแคบเรียวยาว ประกอบด้วยกลุ่มพืชไม่เสพติด แยกเป็น 2 พันธุ์ คือ พันธุ์ปลูก C. sativa subsp. Sativa var. sativa และพันธุ์ที่เติบโตตามธรรมชาติ C. sativa subsp. Sativa var. spontanea
ชนิดย่อยที่ 2 Canabis sativa subsp. Indica หรือ กัญชา มีใบย่อยรูปใบหอกกลับกว้างกว่าชนิดที่ 1 ประกอบด้วยกลุ่มพืชเสพติดแยกเป็น 2 สายพันธุ์ คือ พันธุ์ปลูก C.sativa sbsp. Indica var. indica และ พันธุ์ที่เติบโตตามธรรมชาติ C. sativa subsp. Indica var. kafiristanica
ปัจจุบันมีการพัฒนาสายพันธุ์ต่าง ๆ ออกมามากมาย จนในปี พ.ศ. 2559 Antonino Pollio นักพฤกษศาสตร์ ชาวอิตาลีจึงเสนอให้เรียกชื่อสายพันธุ์ปลูกต่าง ๆ โดยใช้สกุล Cannabis นำและตามด้วยคำว่า strain เช่น Cannabis strain Sor Diessel, Cannabis strain Granddaddy Purple เป็นต้น
กัญชงกับกัญชาต่างกันอย่างไร
- กัญชากับกัญชง เป็นพืชชนิดเดียวกัน แต่จำแนกเป็นต่างชนิดย่อย
- ลักษณะภายนอก ใบกัญชงจะแคบเรียวกว่า ใบสีเขียวอ่อนกว่า ต้นสูงเร็วกว่า และแตกกิ่งก้านน้อยกว่า ช่อดอกมียางน้อยกว่า ทั้งนี้กัญชงได้รับการพัฒนาให้เป็นพืชทำเส้นใย จึงมีเปลือกเหนียว ลอกง่ายให้เส้นใยยาว มีคุณภาพสูง ในขณะที่กัญชาเป็นพืชสำหรับใช้สรรพคุณทางยาจึงมีเปลือกไม่เหนียว ลอกยาก เส้นใยมีคุณภาพต่ำกว่า
- นอกจากนี้กัญชงยังมีปริมาณสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท คือ THC (Delta-9-Tetrahydrocannabinol) น้อยกว่ากัญชาอีกด้วย
ประโยชน์ในแต่ละส่วนของกัญชา
สารสกัดและกลไกการออกฤทธิ์ของสารที่ได้จากกัญชา
- สาร THC ออกฤทธิ์ที่ระบบประสาท ส่งผลเฉียบพลันให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลายและมีความรู้สึกสนุก แต่มีอาการข้างเคียงด้านลบต่อจิตประสาท ได้แก่ กระวนกระวาย ซึมเศร้า มีความบกพร่องในสมาธิ ความจำ และการเรียนรู้ ตลอดจนการทำงานของระบบเคลื่อนไหว การพูดมีผลต่อการเต้นของหัวใจและความดันโลหิต ในแง่ดี สารตัวนี้ช่วยต้านอาการคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยที่ได้รับเคมีบำบัดได้ดีกว่ายาแก้คลื่นไส้
- สาร CBD มีฤทธิ์สำคัญ ได้แก่ ฤทธิ์ต้านการชัก ต้านการอาเจียน ต้านโรคจิตวิตกกังวล ซึมเศร้า กระตุ้นความอยากอาหาร แก้ปวด กำจัดความกระวนกระวาย ทำให้นอนหลับ
- สาร CBN มีผลต่อความอยากอาหาร การย่อยอาหาร อารมณ์ ความรู้สึก ความจำ การเรียนรู้ และพฤติกรรม
- สารไพนีน ช่วยลดความจำเสื่อมระยะสั้นที่เกิดจาก THC โดยยับยั้งการเผาผลาญเอนไซน์ของแอซีติลคอลีนในสมองส่วนฮิปโปแคมปัส อย่างไรก็ตามสารไพนีนตัวเดียวอาจจะอ่อนเกินไป จำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยต่อไป
ปัจจุบันในประเทศไทยอยู่ระหว่างการศึกษาทดลองนำสาร THC และสาร CBD ในสัตว์พบว่าสามารถทำลายเซลล์มะเร็งหลายชนิดโดยไม่กระทบต่อเซลล์ปกติ ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ลดการแพร่กระจาย รวมทั้งมีหลักฐานอัตราการเกิดใหม่ของมะเร็งตับและมะเร็งลำไส้ใหญ่ในหนูทดลองได้ จึงมีความจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยในรายละเอียดต่อไป
ทั้งนี้การใช้กัญชาช่วยลดผลข้างเคียงจากการได้รับเคมีบำบัด ไม่ว่าจะเป็นลดการคลื่นไส้ อาเจียน ลดการปวด ลดความเครียด เพิ่มความอยากอาหารให้ผู้ป่วยได้
อยากปลูกกัญชาต้องทำอย่างไร
การปลูกแนะนำเป็นสายพันธุ์ไทยดูแลง่าย เหมาะกับอากาศบ้านเรา เช่น พันธุ์หางกระรอกหาง่าย ราคาค่อนข้างถูก เหมาะกับมือใหม่หัดปลูก เน้นใช้ในครัวเรือน นำใบมาประกอบอาหาร
1. เริ่มเพาะเมล็ด
- นำเมล็ดมา ห่อด้วยทิชชู่ พรมน้ำให้ชุ่ม
- ใส่กระปุก ปิดฝา เก็บไว้ในที่มืดไม่ให้โดนแสงแดด
- 2-3 วัน ให้เช็กว่ามีรากงอกรึยัง ถ้ามีเป็นอันใช้ได้
2. เพาะต้นอ่อน
- ใช้ พีทมอส เพราะสามารถเติบโตได้ดี เมล็ดมีโอกาสโตได้เยอะ
- บางคนจะผสม พีทมอส เวอร์มิคูลไลท์ เพอร์ไลท์ ส่วนมากจะเป็น 70% 10% 10%
- นำเมล็ดฝังในดินไม่ต้องลึกมาก
- ปลูกในที่ร่มสัก 2-3 วัน พรมน้ำให้ชุ่ม (อย่าแฉะ)
- พอวันที่ 3 ให้เอาออกไปรับแดด
- ประมาณ 10 วันเตรียมย้ายลงกระถาง
3. ปลูกต้นกัญชาลงกระถาง
- เริ่มจากกระถางเล็กก่อน เช่น 6 นิ้ว
- เตรียมดิน ง่ายสุดคือ หน้าดิน ปุ๋ยหมัก 1 ต่อ 1 ผสมกัน
- หรือหาซื้อดินสำหรับปลูกกัญชามาใช้
- นำต้นมาใส่ อย่ารดน้ำมากเกินไป
เมื่อปลูกแล้ว อย่าลืมจดแจ้งผ่าน application “ปลูกกัญ” หรือ เว็บไซต์ http://plookganja.fda.moph.go.th ซึ่งมีการกำหนดบ้านละไม่เกิน 10 ต้น และต้องจดแจ้ง โดยมี 3 ขั้นตอนดังนี้
- กรอกเลขบัตรประชาชน และหมายเลขโทรศัพท์ เพื่อรับรหัส OTP ในการลงทะเบียน
- จดแจ้งการปลูก กรอกรายละเอียด
- รับเอกสารจดแจ้งอิเล็กทรอนิกส์
ประกาศกรมอนามัย เรื่องการนำใบกัญชามาใช้ในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหารในสถานประกอบการระบุถึงปริมาณใบกัญชาที่ใช้ต่อเมนู ดังนี้
แหล่งข้อมูล
- https://www.medcannabis.go.th/กัญชากับมะเร็ง
- https://www.fda.moph.go.th/sites/Narcotics/SitePages/ViewAcademic.aspx?IDitem=1
- https://laws.anamai.moph.go.th/th/practices/download/?did=208766&id=90623&reload=
- https://www.innnews.co.th/lifestyle
- https://www.shecu.chula.ac.th/data/boards/286/เกร็ดความรู้กัญชา.pdf