หนอนแมลงวันลาย : นวัตกรรมช่วยลดขยะอินทรีย์

เรื่องโดย ดร.ทัศชา ทรัพย์มีชัย

ขึ้นชื่อว่าแมลง คุณอาจจะรู้สึกว่ามันน่ารำคาญ แต่ ณ จุดที่ระบบนิเวศของโลกอยู่ภายใต้ภาวะหัวเลี้ยวหัวต่อจากพฤติกรรมมนุษย์ แมลงจะเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ปัญหาปากท้อง ช่วยรักษาความมั่นคงทางอาหาร ต่อกรปัญหาพลาสติก และเป็นพลังงานทางเลือกที่ปล่อยกากของเสียน้อยอย่างชาญฉลาด

รู้จักแมลงวันลาย

แมลงวันนั้นบางคนอาจจะกลัวเรื่องของเชื้อโรคหรือเรื่องพาหะนำโรค แต่แมลงวันลายแตกต่างจากแมลงวันบ้าน โดยแมลงวันลายจะอาศัยอยู่ตามต้นไม้ เกาะตามใบไม้ กิ่งไม้ กินอาหารจำพวกน้ำ น้ำหวาน การวางไข่จะวางไข่บนเศษผัก ผลไม้ หรือในถังน้ำหมักที่มีกลิ่นเปรี้ยว ลักษณะของไข่คล้ายเมล็ดข้าวเจ้า ส่วนแมลงวันบ้านจะพบตามเขตบ้านเรือน ชุมชน อาหารก็จะเป็นพวกเศษอาหาร วางไข่บนอาหารของมนุษย์ ลักษณะไข่สีจะออกขาวข้นคล้ายเมล็ดข้าวเหนียว

‘หนอนแมลงวันลาย’ (Black soldier fly) หรือบ้านเรารู้จักกันในชื่อ ‘หนอนแม่โจ้’ ที่มีการเพาะเลี้ยงกันมาสักระยะหนึ่งแล้วในกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือและอีสาน ซึ่งพัฒนาสายพันธุ์โดยมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นแมลงที่ไม่เป็นพาหะนำโรค ไม่เป็นศัตรูพืชและไม่ก่อให้เกิดความรำคาญต่อชุมชน พบได้บริเวณพุ่มไม้ทั่วไปในธรรมชาติ กินน้ำและน้ำหวานเป็นอาหาร มีรอบวงจรชีวิต 5 ระยะ ได้แก่

  • ระยะตัวเต็มวัย (แมลง) – ขนาดลำตัวยาวประมาณ 16 มิลลิเมตร มีอายุ 8-15 วัน ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในธรรมชาติที่มีพุ่มไม้ ใบไม้สีเขียว จับคู่ผสมพันธุ์ ตัวเมียจะวางไข่ไว้บริเวณใกล้ ๆ กับขยะอินทรีย์ จำนวนไข่ประมาณ 400-900 ฟองต่อตัว
  • ระยะไข่ – เป็นรูปวงรี ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร สีเหลืองอ่อนหรือสีครีม ไข่จะมีสีเข้มขึ้นตามระยะเวลา ใช้เวลา 3-4 วัน ในการฟักเป็นตัวหนอน
  • ระยะตัวหนอน – เป็นระยะที่กินขยะอินทรีย์เป็นอาหาร มีลักษณะตัวอวบอ้วน แบน สีขาวครีม ขนาดตัวยาวตั้งแต่ 3-26 มิลลิเมตร น้ำหนักประมาณ 0.2 กรัม ตัวหนอนจะลอกคราบ 8 ครั้งก่อนเข้าดักแด้
  • ระยะตัวหนอนก่อนเข้าดักแด้ – ระยะรอยต่อระหว่างตัวหนอนกับดักแด้ เป็นระยะที่เหมาะในการนำไปใช้ประโยชน์
  • ระยะดักแด้ – ลำตัวจะมีสีดำเข้มและผิวแห้งแข็ง ใช้เวลาฟักเป็นตัวแมลงประมาณ 10-15 วัน หรือนานกว่านั้นขึ้นกับสภาพอากาศ

แหล่งโปรตีนแห่งอนาคต

ระยะที่เราสามารถนำแมลงวันลายไปใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด คือระยะที่ยังเป็นตัวหนอน ซึ่งสามารถทำให้แห้งแล้วป่นเป็นอาหารสัตว์ ช่วยลดการใช้ถั่วเหลืองได้หลายตันเนื่องจากให้พลังงานโปรตีนสูง หนอนแมลงวันลายมีคุณค่าทางโภชนาการ โปรตีนมากกว่า 40% ไขมัน 35% ให้พลังงาน 2,900 แคลอรี่/กิโลกรัม มีโอเมก้า 3, 6, 9 และยังมีกรดลอริกเหมือนที่อยู่ในน้ำนมแม่ มีฤทธิ์ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อก่อโรคต่าง ๆ เหมาะที่จะนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ ได้แก่ ไก่ เป็ด ปลา หรือ นกสวยงามได้ โดยมีตลาดรับซื้อตัวเป็น ๆ ในราคากิโลกรัมละ 500 บาท ส่วนหนอนอบแห้ง กิโลกรัมละ 1,200–1,400 บาท ในต่างประเทศจะขายกันกิโลกรัมละ 600-1,000 บาท

ปัจจุบันหนอนแมลงวันลายกำลังเป็นที่นิยมในอุตสาหกรรมอาหารและพลังงานทดแทน เนื่องจากให้ผลผลิตดี โดยเลี้ยงเพียง 2 สัปดาห์จะมีขนาดใหญ่ได้ถึง 5,000 เท่า ไม่เป็นพาหะนำโรคให้กับมนุษย์ ไม่เป็นศัตรูพืช รวมถึงเป็นผู้ย่อยสลายตามธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพ

นักย่อยสลายผู้สร้างความมั่นคงทางอาหาร

ทุก ๆ วันจะมีขยะอาหารเหลือทิ้งจำนวนมากที่ไม่ได้มีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ เมื่อทิ้งไว้จะเกิดการย่อยสลายปล่อยก๊าซมีเทน (Methane) ปริมาณมหาศาลที่ก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจกและเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน หนอนแมลงวันลายจึงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจของกระบวนการย่อยสลาย เพราะหนอนเหล่านี้เมื่อทำการย่อยสลายขยะเศษอาหารจะไม่ปล่อยก๊าซมีเทนออกมา  เนื่องจากร่างกายหนอนจะเปลี่ยนองค์ประกอบคาร์บอนให้กลายเป็นโปรตีนที่อยู่ในเนื้ออวบ ๆ ของพวกมัน และปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

เมื่อปี พ.ศ.2561 ทีมวิจัยจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์พบว่า การย่อยสลายขยะของหนอนแมลงวันลายนั้นปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าการทำปุ๋ยหมักชีวภาพถึง 47 เท่า และนอกจากเราจะได้อาหารทดแทน (โปรตีนในตัวหนอน) แล้ว ยังได้ปุ๋ยมูลหนอนซึ่งมีอินทรียวัตถุสูงถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ส่วนปลอกหนอน ปลอกดักแด้มีแคลเซียมสูง เป็นไคโตซานอย่างดี สามารถนำไปเป็นอาหารสัตว์ ถือเป็นแหล่งทดแทนแคลเซียมพอ ๆ กับปลาป่น เปลือกกุ้ง เปลือกปูป่น อีกด้วย

จากการย่อยสลายด้วยเหล่าหนอนแมลงวันลาย ทำให้เกิดห่วงโซ่คุณค่าของกระบวนการรีไซเคิลที่ครบวงจรและอาจจะกลายเป็นธุรกิจที่ Disrupt ในทุกอุตสาหกรรมอย่างน่าตื่นเต้น เป็นธุรกิจที่กำลังเป็นที่นิยมอย่างยั่งยืนในช่วงที่โลกต้องการพลังงานทดแทนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างทุกวันนี้

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
  petromat@chula.ac.th