อำนวยการศูนย์ฯ ขึ้นเวทีเสวนา ถกวาระ “BCG กับการพัฒนาที่ยั่งยืน”

ศาสตราจารย์ ดร.หทัยกานต์ มนัสปิยะ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ ได้เสวนาร่วมกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมชาย เชื้อวัชรินทร์ จากศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์ และรองศาสตราจารย์ ดร.ประหยัด โภคฐิติยุกต์ จากศูนย์ความเป็นเลิศด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและพิษวิทยา ในหัวข้อ “BCG กับการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อุ่นใจ เป็นผู้ดำเนินการเสวนาครั้งนี้ ซึ่งจัดขึ้นวันศุกร์ที่ 30 กันยายน 2565 เวลา 15.30 – 16.30 น. ณ เวทีลานน้ำพุ ศูนย์การค้าสยามพารากอน ในงานเทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทย ประจำปี 2565 (TechnoMart 2022) ภายใต้การจัดงานของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

ศ.ดร.หทัยกานต์ นำเสนอว่า ทุกวันนี้พลาสติกปิโตรเคมีถูกมองว่าก่อให้เกิดปัญหาขยะสะสม รวมทั้งไมโครพลาสติก ทั้งนี้จากการวิจัยของศูนย์ฯ ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านอื่นๆ พบว่าปัจจุบันมีการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกในน้ำดื่ม ซึ่งทางออกจากปัญหานี้ส่วนหนึ่งแก้ไขได้ด้วยการลดและแยกขยะเพื่อให้การจัดการขยะพลาสติกและไมโครพลาสติกทำได้ง่ายขึ้น อีกทั้งแก้ไขได้ด้วยการนำขยะไปหมุนเวียนใช้ประโยชน์ โดยศูนย์ฯ กำลังดำเนินโครงการวิจัยเกี่ยวกับการจัดการขยะเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมถึงโครงการที่ส่งเสริมการคัดแยกขยะอาหารเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ เช่น แปรรูปเป็นปุ๋ยและถ่านไร้ควัน ตลอดจนนำไปเลี้ยงหนอนแมลงวันลายเพื่อใช้เลี้ยงสัตว์

ขณะที่ปัญหาอีกส่วนแก้ไขด้วยการใช้พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพทดแทนพลาสติกปิโตรเคมีในผลิตภัณฑ์ โดยนักวิจัยศูนย์ฯ มีการพัฒนาต้นแบบแก้วกระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้ นวัตกรรมถุงพลาสติกชีวภาพสำหรับเพาะเห็ด ฟิล์มแบคทีเรียลเซลลูโลสสำหรับห่ออาหาร ฯลฯ

รศ.ดร.ประหยัด กล่าวถึงปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ก่อให้เกิดการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกและโลหะหนักในสิ่งแวดล้อม โดยศูนย์ฯ อนามัยสิ่งแวดล้อมและพิษวิทยาได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับแบคทีเรียที่สามารถย่อยไมโครพลาสติก และแบคทีเรียที่อาศัยบริเวณรากพืช ซึ่งทำให้พืชดูดซึมโลหะหนักได้เร็วขึ้น

ผศ.ดร.สมชาย กล่าวว่าปัจจุบันโลกร้อนกว่าในอดีต ซึ่งมีส่วนทำให้มีโรคอุบัติใหม่เกิดขึ้น จึงมีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อรับมือโรคเหล่านั้น เช่น วัคซีน อาหารสุขภาพและยา รวมถึงการตรวจโรคด้วยวิธีที่ง่ายและรวดเร็ว เช่น ชุดตรวจโรคต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ชุดตรวจนั้นมีพลาสติกเป็นส่วนประกอบอยู่ด้วย

ศ.ดร.หทัยกานต์ เพิ่มเติมว่าในอนาคตจะมีการใช้พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพในการผลิตชิ้นส่วนสำหรับการทำชุดตรวจ เพื่อลดปัญหาขยะ ส่วนหน้ากากอนามัยก็จะมีการนำวัสดุชีวภาพอย่างเส้นใยเซลลูโลสมาใช้ในการผลิต เพื่อทดแทนเส้นใยพลาสติก ทั้งนี้ จึงเป็นความท้าทายที่แต่ละศูนย์ความเป็นเลิศจะต้องร่วมมือกันสร้างนวัตกรรมเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

ฟังเสวนา “BCG กับการพัฒนาที่ยั่งยืน”

ศ.ดร.หทัยกานต์ มนัสปิยะ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ ขึ้นเวทีเสวนาร่วมกับ ผศ.ดร.สมชาย เชื้อวัชรินทร์ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์ รศ.ดร.ประหยัด โภคฐิติยุกต์ และ ผศ.ดร.ป๋วย อุ่นใจ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและพิษวิทยา
ในงาน TechnoMart 2022 ซึ่งจัดโดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ระหว่างวันที่ 30 กันยายน จนถึง 2 ตุลาคม 2565 ณ ศูนย์การค้าสยามพารากอน

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
petromat@chula.ac.th