ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ ร่วมกับวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาฯ และสมาคมวิศวกรรมเคมีและเคมีประยุกต์แห่งประเทศไทย เพื่อจัดการประชุมวิชาการนานาชาติ “The 29th PPC Symposium on Petroleum, Petrochemicals, and Polymers and The 14th Research Symposium on Petrochemical and Materials Technology” เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2566 ณ โรงแรมแมนดารินกรุงเทพ
โดยศูนย์ฯ ได้เปิดตัวศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านวัสดุยั่งยืนเพื่อเศรษฐกิจหมุนเวียน “Hub of Talents : Sustainable Materials for Circular Economy” พร้อมจัดปาฐกถาพิเศษเรื่อง “The Future of Thai Plastic Industry in Low Carbon Society” พร้อมกันด้วยในการประชุมนี้
พิธีเปิดได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ เป็นประธานในพิธี โดยศาสตราจารย์ ดร.หทัยกานต์ มนัสปิยะ ผู้อำนวยการศูนย์ฯ ได้กล่าวรายงานในพิธีร่วมกับคณบดีวิทยาลัยปิโตรเลียมฯ และนายกสมาคมวิศวกรรมเคมีฯ ในฐานะผู้ร่วมจัดงาน
หลังจากนั้นการประชุมจึงเริ่มต้นขึ้น ซึ่งมีการบรรยายจากวิทยากรชั้นนำในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงมีการนำเสนอผลงานวิจัยแบบปากเปล่าและการนำเสนอผลงานวิจัยแบบโปสเตอร์ จากนิสิตนักศึกษาชาวไทยและชาวต่างชาติ จำนวนกว่า 120 เรื่อง -ขณะที่ผู้เข้าร่วมการประชุมนั้นมีจำนวนกว่า 300 คน
โดยศาสตราจารย์ ดร.บุนยรัชต์ กิติยานันท์ รองผู้อำนวยการศูนย์ฯ ได้ร่วมเวทีเสวนาในหัวข้อ “Thailand-Asian University Research Integration Forum on Green Innovation for Carbon Neutrality and Net-Zero” ร่วมกับอาจารย์จากมหาวิทยาลัยในอินโดนีเซียและเวียดนาม และวิทยากรจากบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด
สำหรับ Hub of Talents : Sustainable Materials for Circular Economy ที่ศูนย์ฯ ได้เปิดตัวนั้นเป็นโครงการที่ได้รับทุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ โดยโครงการนี้รวบรวมนักวิจัยภายใต้ศูนย์ฯ ตลอดจนจะขยายเครือข่ายนักวิจัยไปยังต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการพัฒนาบุคลากรและนวัตกรรมในด้านวัสดุยั่งยืนในประเทศไทย ผ่านกิจกรรมความร่วมมือต่างๆ
ส่วนปาฐกถาพิเศษที่ศูนย์ฯ ได้จัดขึ้นนั้น คุณสมศักดิ์ บริสุทธนะกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) ได้ให้เกียรติบรรยายเกี่ยวกับภาพรวมและกิจกรรมของบริษัทฯ โดยทีพีบีไอเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกบรรจุภัณฑ์ ซึ่งส่วนมากเป็นวัสดุพลาสติกชนิดต่างๆ
อย่างไรก็ตามกระแสค่านิยมด้านการรักษ์โลกของผู้บริโภคนั้นทำให้ทีพีบีไอมีการปรับตัวในช่วงที่ผ่านมา โดยทีพีบีไอมีโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษ ซึ่งย่อยสลายได้เร็วกว่าพลาสติก อีกทั้งวัตถุดิบในการผลิตนั้นได้มาจากป่าปลูกและวัสดุรีไซเคิล
ขณะเดียวกันทีพีบีไอก็มีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์พลาสติกรักษ์โลก เช่น บรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้ ซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมถึงบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากพลาสติกชนิดเดียวเพื่อให้ง่ายต่อการรีไซเคิล ฯลฯ
นอกจากนี้ยังมีการนำพลาสติกรีไซเคิลมาใช้เป็นวัตถุดิบส่วนหนึ่งในการผลิตบรรจุภัณฑ์ และมีการอัปไซเคิลพลาสติกใช้แล้วให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ไม่ใช่บรรจุภัณฑ์ ทั้งนี้พลาสติกใช้แล้วนั้นควรผ่านการคัดแยกชนิดและสีโดยผู้บริโภคที่ต้นทาง เพื่อให้การรีไซเคิลและการอัปไซเคิลนั้นทำได้ง่ายขึ้น
ปัจจุบันทีพีบีไอจึงจัดทำ “โครงการวน” ซึ่งรับบริจาคพลาสติกชนิดอ่อนเพื่อนำกลับมารีไซเคิล เพื่อใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่าตามหลักวัสดุยั่งยืนเพื่อเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งสอดคล้องกับโครงการ Hub of Talents : Sustainable Materials for Circular Economy ที่ศูนย์ฯ กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้