ศูนย์ฯ ร่วมแบ่งปันแนวคิด ‘สร้างชีวิตใหม่ให้พลาสติกหลังการใช้’ ในงาน InterPlas Thailand 2023

ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ ศ.ดร.หทัยกานต์ มนัสปิยะ ได้บรรยายพิเศษในหัวข้อ “เพิ่มประสิทธิภาพเพื่อความยั่งยืน: การจัดการหลังการใช้อย่างมีประสิทธิภาพ” ในสัมมนาช่วง “นวัตกรรมแห่งอนาคต: สร้างชีวิตใหม่ให้พลาสติก – Rethinking Innovation: Breathing a New Life to Plastic”

สัมมนานี้จัดขึ้นโดยสถาบันพลาสติกและบริษัท อาร์เอ็กซ์ เทรดเด็กซ์ จำกัด เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2566 ณ ห้องแกรนด์ฮอลล์ 201 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงาน InterPlas Thailand 2023 เพื่อสนับสนุนเส้นทางการผลิตและการใช้พลาสติกอย่างยั่งยืน

สัมมนาเริ่มต้นโดยคุณวีระ ขวัญเลิศจิตต์ ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติก ซึ่งได้ให้ข้อคิดว่าผู้บริโภคในปัจจุบันมีความใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากกว่าในอดีต ดังนั้น ผู้ผลิตต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์พลาสติกให้มีคุณค่าและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น อาทิ การลดฉลากสินค้า การออกแบบสินค้าให้แต่ละส่วนมีพลาสติกชนิดเดียวเพื่อให้นำกลับมารีไซเคิลได้ง่าย และการใช้เม็ดพลาสติกรีไซเคิลเป็นส่วนผสมในการผลิตสินค้าใหม่

คุณสมชาย มุ้ยจีน ในฐานะคณะทำงาน BCG สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้สัมมนาในลำดับต่อมา ระบุว่าสภาอุตสาหกรรมฯ กำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ด้วยนโยบาย ได้แก่ B – สนับสนุนการพัฒนาไบโอฮับ ซึ่งสนับสนุนการใช้วัสดุชีวภาพ C – ส่งเสริมหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตต่อสินค้าที่ตนเองผลิตขึ้น (EPR) ซึ่งรวมถึงบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่เป็นส่วนใหญ่ของขยะพลาสติก และสุดท้าย G – ผลักดันการสร้างแพลตฟอร์มซื้อขายคาร์บอนเครดิต (FTIX) โดยคุณวีระได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่าการใช้เม็ดพลาสติกรีไซเคิลสามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้มากถึงร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับการใช้พลาสติกจากแหล่งปิโตรเคมีตั้งต้น

สำหรับพลาสติกที่เหลือทิ้งจากการผลิต และสินค้าพลาสติกที่หมดอายุการใช้งานแล้ว ของเสียพลาสติกเหล่านั้นยังสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ด้วยวิธีต่างๆ รวมถึงมีวิธีลดของเสียพลาสติกให้เกิดน้อยลง ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน โดย ศ.ดร.หทัยกานต์ ได้ยกตัวอย่างนวัตกรรมพลาสติก อาทิ วัสดุสำหรับพิมพ์งานสามมิติ วัสดุสำหรับทำกระเป๋าแฟชั่น ฯลฯ ซึ่งได้จากการแปรรูปของเสียพลาสติก โดยนวัตกรรมดังกล่าวสำเร็จขึ้นจากโครงการของศูนย์ฯ เรื่องมาตรการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมการพัฒนาระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน

สุดท้าย ดร.บงกช หะรารักษ์ ทีมวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์พลาสติก ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ได้บรรยายการวิจัยที่ก้าวหน้าในด้านพลาสติก ทั้งการใช้วัสดุชีวภาพเป็นวัตถุดิบในการผลิตพลาสติก ซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ขณะที่การทำบรรจุภัณฑ์ฉลาดก็ช่วยเพิ่มคุณค่าของสินค้าพลาสติกได้อีกทาง ส่วนการพัฒนาวัสดุนาโนอย่างนาโนคาร์บอนสำหรับทำฉลาก RFID นั้นก็ช่วยลดปริมาณฉลากบรรจุภัณฑ์ได้

นอกจากนี้ ศ.ดร.หทัยกานต์ ยังนำเสนอโครงการใหม่ของศูนย์ฯ เรื่องศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านวัสดุยั่งยืนเพื่อเศรษฐกิจหมุนเวียน “Hub of Talents: Sustainable Materials for Circular Economy” ซึ่งรวบรวมนักวิจัย ภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเป็นศูนย์กลางในระดับนานาชาติในการพัฒนาการวิจัยด้านวัสดุรวมทั้งพลาสติกให้เกิดการใช้ทรัพยากรได้ในแบบยั่งยืน

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
petromat@chula.ac.th