ศูนย์ฯ ร่วมกับ ‘อาร์ วี คอนเน็กซ์’ คอนเน็กต์นักวิจัยรุ่นใหม่ เสริมความแข็งแกร่งอุตสาหกรรมไทยด้านแบตเตอรี่และอากาศยาน

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ ร่วมกับบริษัท อาร์ วี คอนเน็กซ์ จำกัด ในการพัฒนานักวิจัยระดับหลังปริญญาเอก ภายใต้โครงการที่ได้รับทุนผ่านหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.)

เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2565 คณะทำงานของศูนย์ฯ นำโดยศาสตราจารย์ ดร.หทัยกานต์ มนัสปิยะ และศาสตราจารย์ ดร.บุนยรัชต์ กิติยานันท์ ได้เดินทางไปบริษัท อาร์ วี คอนเน็กซ์ เพื่อติดตามความก้าวหน้าของโครงการดังกล่าว ในโอกาสนี้ได้เข้าพบผู้บริหารของบริษัทฯ ได้แก่ คุณพีรพล ตระกูลช่าง (Managing/ Manufacturing Director) และรองศาสตราจารย์ ดร.สุเจตน์ จันทรังษ์ (VP Innovation R&D)

คุณพีรพลได้เล่าภาพรวมเกี่ยวกับบริษัทฯ รวมทั้งผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ได้พัฒนาขึ้น โดยอาร์ วี คอนเน็กซ์ เติบโตจากธุรกิจอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ ก่อนที่ปัจจุบันนี้จะขยายสู่ธุรกิจการบินและอากาศยานไร้คนขับ ทั้งนี้งานวิจัยที่ร่วมกับศูนย์ฯ เกี่ยวกับการพัฒนาแบตเตอรี่และชิ้นส่วนอากาศยาน

นักวิจัยผู้รับทุนโครงการนี้สองท่าน ได้แก่ ดร.อัษฏางค์ ไตรตั้งวงศ์ และ ดร.พิชิตชัย บุตรน้อย ได้นำเสนอผลงานวิจัยเรื่อง “การฟื้นสภาพแบตเตอรี่เพื่อใช้ในการกักเก็บพลังงาน” และ “การปรับสภาพชิ้นส่วนอากาศยานให้ทนต่อการกัดกร่อนด้วยเทคนิคการชุบทางไฟฟ้าเคมีด้วยสารอิเล็กโตรไลต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” ตามลำดับ

นอกจากผลงานที่เกิดขึ้นแล้ว ดร.อัษฏางค์ และ ดร.พิชิตชัย ยังเปิดใจว่าตนได้ประสบการณ์อื่นๆ ด้วย เช่นในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ และการสร้างผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานสากล โดยทั้งสองท่านมีศาสตราจารย์ ดร.วิษณุ มีอยู่ เป็นนักวิจัยพี่เลี้ยง

ศ.ดร.วิษณุ เห็นว่าบริษัทในภาคเอกชนยังขาดแคลนกำลังคนที่จะเข้ามาช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง โดยความร่วมมือกับศูนย์ฯ ภายใต้โครงการของ บพค. นี้ ช่วยเติมเต็มความต้องการของอาร์ วี คอนเน็กซ์ ทำให้การวิจัยผลิตภัณฑ์ต่างๆ เดินหน้าได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น

ในวันเดียวกัน คณะทำงานของศูนย์ฯ ได้เยี่ยมชมกระบวนการออกแบบผลิตภัณฑ์ ระบบปัญญาประดิษฐ์ ระบบจำลองการบิน เครื่องมือวิเคราะห์ทดสอบระดับสูง ผลิตภัณฑ์อากาศยานไร้คนขับรุ่นต่างๆ ซึ่งเป็นผลงานของทางบริษัทฯ

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
  petromat@chula.ac.th