ศูนย์ฯ จัดอบรม “Research Impact Evaluation” มุ่งมั่นทำวิจัยให้คุ้มค่าพร้อมสร้างผลกระทบสู่วงกว้าง

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่องการประเมินผลกระทบจากการวิจัย (Research Impact Evalution) ซึ่งบรรยายโดยวิทยากรรับเชิญ ได้แก่ รศ.ดร.กัมปนาท วิจิตรศรีกมล และ รศ.ดร.สุวรรณา ประณีตวตกุล จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมด้วย ดร.ปิยะทัศน์ พาฬอนุรักษ์ จากสถาบันคลังสมองของชาติ

กิจกรรมนี้จัดขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ 13 มีนาคม 2566 ณ ห้องประชุมอคาเดมี ตึกจามจุรี 10 จุฬาฯ โดยศาสตราจารย์ ดร.หทัยกานต์ มนัสปิยะ ผู้อำนวยการศูนย์ฯ ได้กล่าวเปิดงานและได้เข้าร่วมการอบรมในเวลาต่อมา ร่วมกับนักวิจัยในโครงการเรื่องการพัฒนากลไกการสร้างและสะสมบุคลากรวิจัยที่มีคุณภาพสูง ซึ่งได้รับทุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากําลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ประจําปีงบประมาณ 2565

โดยผู้ร่วมการอบรมในวันดังกล่าวยังประกอบด้วยคณาจารย์และนักวิจัยจุฬาฯ ผู้ประกอบการบริษัท และผู้ที่สนใจ รวมทั้งหมด 33 คน

การอบรมนี้ครอบคลุมเนื้อหาเรื่องความสำคัญ แนวทาง กรอบแนวคิด ทฤษฎีและเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ สำหรับการประเมินผลกระทบจากการวิจัยและพัฒนา ตลอดจนเนื้อหาเกี่ยวกับการเขียนเส้นทางสู่ผลกระทบของงานวิจัยและการวิเคราะห์ผลประโยชน์จากการวิจัย ซึ่งทั้งหมดสำคัญอย่างยิ่งต่อนักวิจัยและนักพัฒนาในการประเมินความคุ้มค่าของการดำเนินโครงการ รวมถึงเพื่อให้มั่นใจว่าโครงการที่ทำนั้นจะสามารถสร้างผลกระทบและเกิดประโยชน์เชิงสังคมได้ในวงกว้าง

ในการอบรมยังมีการฝึกการประเมินโครงการวิจัยของศูนย์ฯ เพื่อให้ผู้ร่วมอบรมได้เข้าใจถึงวิธีการประเมินโครงการในเชิงปฏิบัติ โดยในช่วงท้าย ศ.ดร.หทัยกานต์ ได้กล่าวปิดงาน และได้มอบของที่ระลึกแก่วิทยากรด้วยเพื่อเป็นการขอบคุณ

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
petromat@chula.ac.th