ศูนย์​ความเป็นเลิศ​ จับมือร่วมวิจัยการปนเปื้อน ‘ไมโครพลาสติก​’ พร้อมจัดงานระดมความคิดเห็น​เพื่อยกระดับ​ความปลอดภัย​ในประเทศไทย​

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและพิษวิทยา และศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อดำเนินโปรแกรมวิจัยเรื่อง “การป้องกันและลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม จากการปนเปื้อนไมโครพลาสติกในน้้าดื่มบรรจุขวด” ภายใต้โครงการวิจัยพื้นฐานเพื่อสนับสนุนโปรแกรมวิจัยเชิงบูรณาการ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาฯ ได้เข้าร่วมในโปรแกรมวิจัยดังกล่าวด้วย ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ ปี 2565 จนขณะนี้ใกล้เสร็จสิ้นแล้ว

เพื่อนำเสนอผลการวิจัยการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกในน้ำและในสิ่งแวดล้อม ตลอดจนผลกระทบที่เกิดขึ้น ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ จึงร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศฯ และสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อมฯ ในการจัดงาน “เสวนาและระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการปนเปื้อนไมโครพลาสติกในแหล่งน้้าและในน้้าดื่มบรรจุขวด และรายงานปิดโครงการ” เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2566 ณ อาคารจามจุรี 10 จุฬาฯ โดยผู้ร่วมงานประกอบด้วยนักวิจัย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภาครัฐ และผู้ประกอบการด้านน้ำดื่ม รวมทั้งหมด 82 คน

ช่วงเปิดงานได้รับเกียรติจากนางสาวสุณีย์ เลิศเพียรธรรม หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวง อว. ต่อมาศาสตราจารย์ ดร.หทัยกานต์ มนัสปิยะ ผู้อำนวยการศูนย์ฯ เทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ และนายวรุณ วารัญญานนท์ หัวหน้าโปรแกรมวิจัยฯ ได้กล่าวถึงที่มาและสรุปภาพรวมของโปรแกรมวิจัยฯ ตามลำดับ

จากนั้นตัวแทนหน่วยงานที่เข้าร่วมโปรแกรมวิจัยฯ ได้นำเสนอผลการวิจัยการปนเปื้อนไมโครพลาสติกในตัวอย่าง ซึ่งได้แก่ น้ำดิบ บรรจุภัณฑ์พลาสติก น้ำดื่มบรรจุขวดพลาสติก น้ำปัสสาวะของมนุษย์ ดิน และในหอยทะเลชนิดต่างๆ โดยช่วงสุดท้ายของงานยังเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานได้ระดมความคิดเห็นร่วมกันในรูปแบบกลุ่มย่อย

ทั้งนี้ ไมโครพลาสติก คือ อนุภาคพลาสติกอันมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 5 มิลลิเมตร มีทั้งพลาสติกขนาดเล็กที่ถูกสังเคราะห์ขึ้น และพลาสติกที่เกิดจากการสลายตัวของพลาสติกขนาดใหญ่ ปัจจุบันพบการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกหลากหลายชนิดจำนวนมากน้อยแตกต่างกัน ในระบบนิเวศทั่วโลก รวมทั้งในน้ำและห่วงโซ่อาหาร ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ โดยโปรแกรมวิจัยนี้ได้ศึกษาการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกในระบบนิเวศของประเทศไทย ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญต่อการยกระดับ​ความปลอดภัยโดยเฉพาะในน้ำดื่มและอาหาร เพื่อรักษาสุขภาพของคนไทย

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
petromat@chula.ac.th