ทีลอซู มนต์เมืองตาก

หลังจากเที่ยวทะเลมาจนชื่นใจแล้ว (อันดามัน สวรรค์เมืองไทย) เราก็มาเตรียมตัวขึ้นไปเที่ยวน้ำตกช่วงปลายฝนต้นหนาวกันดีกว่าครับ ผู้เขียนมีความตั้งใจที่จะนำเสนอสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทยที่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งธรรมชาติที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่ง ในเขารักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง “น้ำตก ทีลอซู” นั่นเอง

น้ำตกทีลอซู หรือภาษากะเหรี่ยงแปลว่า น้ำตกดำ ถือเป็นน้ำตกที่มีชื่อเสียงเรื่องความสวยงามและใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และจะสวยงามเป็นพิเศษในช่วงฤดูฝน มีต้นกำเนิดมาจากลำห้วยกล้อทอและตกลงมายังช่องเขาขาดที่สูงราวๆ 300 เมตร กว้าง 500 เมตร จนเกิดเป็นสายน้ำตกทีลอซูสวยงามแบบที่เราเห็นกัน ทุกๆ ปีช่วงเวลาระหว่าง วันที่ 1 มิ.ย. ถึง 31 พ.ย. ปริมาณน้ำฝนที่มากจะเพิ่มปริมาณน้ำในลำธารทำให้สายน้ำตกกว้างใหญ่กว่าฤดูอื่น (แต่ก็ต้องระวังเรื่องการเดินทางด้วยรถยนต์) มีจุดเด่นคือ “รุ้งกินน้ำ” โดยจะปรากฏให้เห็นช่วง 10 โมงเท่านั้น และด้วยความสวยงามนี้เอง ทำให้น้ำตกทีลอซูได้รับการยกย่องว่าเป็น น้ำตกที่สวยที่สุดในเมืองไทย และยังมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 6 ของเอเชียอีกด้วย

น้ำตกทีลอซูมีที่พักไหม ?

สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการหาที่พักค้างคืนใกล้กับน้ำตกทีลอซู มีที่พักให้บริการอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย แถมที่พักเหล่านี้ยังมีโปรแกรมเที่ยวน้ำตกทีลอซูไว้คอยบริการ ซึ่งคิดค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งที่พัก ค่าอาหาร ค่ารถยนต์ ค่าล่องเรือยาง ค่ามัคคุเทศก์ ค่าธรรมเนียม และการขออนุญาตเข้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เอาไว้อย่างเสร็จสรรพ

เที่ยวน้ำตกทีลอซูช่วงไหนดี ?

เที่ยวได้ตลอดทั้งปี แต่ย้ำว่า แต่เนื่องจากในฤดูฝนตั้งแต่เดือนมิถุนายน – เดือนพฤศจิกายน ปริมาณน้ำฝนที่มากจะเพิ่มปริมาณน้ำในลำธารทำให้สายน้ำตกกว้างใหญ่กว่าฤดูอื่น แต่เป็นช่วงที่ทางรถเข้าน้ำตกปิด เพื่อป้องกันอันตรายแก่ผู้ใช้เส้นทางและถนอมสภาพทางไม่ให้เสียหาย นักท่องเที่ยวอาจเลี่ยงใช้เส้นทางนี้ได้ โดยการซื้อทัวร์

ทีลอซู ไปกี่วัน ?

ระยะเวลาที่เหมาะกับการเที่ยวน้ำตกทีลอซู โปรแกรม 3 วัน 2 คืน เป็นโปรแกรมที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่พอมีเวลา คืนแรกนอนเต็นท์ที่หน่วยฯ ทีลอซู เช้ารุ่งขึ้นเดินเข้าไปชมน้ำตก แล้วเดินทางกลับรีสอร์ท คืนที่ 2 นอนรีสอร์ทสบายๆ มีน้ำอุ่น เช้าวันรุ่งขึ้นไปชมทะเลหมอกที่ดอยหัวหมด

การเดินทาง

ขอบคุณภาพจาก tourdoi.com 

Credit ภาพ: https://chillpainai.com/scoop/325

จากอำเภออุ้มผางใช้เส้นทางสายอุ้มผาง-แม่สอด เดินทางโดยรถยนต์ ถึงหลักกิโลเมตรที่ 161 มีทางแยกซ้ายที่บ้านแม่กลองใหม่ไปด่านเดลอ หรือจุดตรวจ “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง” เป็นระยะทาง 30 กิโลเมตร จากนั้นเดินทางไปตามถนนลูกรังอีก 26 กิโลเมตร ถึงที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง ใช้เวลาในการเดินทางโดยรถยนต์ประมาณ 3 ชั่วโมง เส้นทางช่วงนี้เป็นทางดิน ควรใช้รถกระบะ หรือรถขับเคลื่อน 4 ล้อที่ช่วงล่างมีความสูงมากพอสมควร ในฤดูฝนรถอาจเข้าไม่ได้ และจากที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผางต้องเดินเท้าเข้าไปอีกประมาณ 1.5 กิโลเมตร จึงถึงตัวน้ำตกทีลอซู ขอแนะนำว่าเราควรไปถึงอุ้มผางก่อนเที่ยง

Credit ภาพ และ ข้อมูล: https://chillpainai.com/scoop/325

ล่องเรือยางจากอุ้มผาง สู่…ทีลอซู

การล่องเรือยางไหลไปตามกระแสน้ำของเเม่น้ำแควใหญ่ ก็เป็นอีกเส้นทางหนึ่งที่น่าสนใจ ตลอดสายน้ำเราจะได้สัมผัสกับธรรมชาติที่สวยงาม ไม่ว่าจะเป็น “น้ำตกทีลอจ่อ” ที่ตกลงมาจากหน้าผาสูงลงสู่ลำน้ำ ถัดจากนั้นมาไม่ไกลก็จะผ่าน “น้ำตกสายรุ้ง” หากเดินทางไปในช่วงเวลาที่เหมาะสม ก็จะเห็นรุ้งกินน้ำที่เกิดจากแสงแดดที่กระทบกับละอองน้ำของสายน้ำตก ถัดมาก็จะมี “บ่อน้ำร้อน” ซึ่งเป็นธารน้ำร้อนเล็กๆ ที่ผุดขึ้นมาริมลำน้ำ เรืองยางจะแวะพักให้เราได้ลงไปแช่เท้าพักผ่อนหย่อนใจ นอกจากนี้ยังผ่านหน้าผาที่มีความแปลกตา ชื่อว่า “ผาผึ้ง” เป็นหน้าผาที่มีฝูงผึ้งมาทำรังเป็นจำนวนมาก และ “ผาเลือด” หน้าผาสูงมีสีแดงคล้ายสีเลือด

Credit ภาพ และ ข้อมูล: https://chillpainai.com/scoop/325

หลังจากล่องแพยางมาทั้งวันแล้วก็มาถึงจุด กางเต็นท์ก่อนเดินเท้าเข้าสู่น้ำตกทีลอซูพักร่างกายก่อน 1 คืน ที่เขตรักษาพันธุ์ป่าอุ้มผางทีลอซู แล้วเราก็จะเดินเท้าระยะทาง 1.5 กม. ไปชมความอลังการแห่งสายน้ำที่น้ำตกทีลอซู ทางเดินไม่ลำบากเพราะเป็นพื้นปูนเรียบร้อย

สรุปอีกทีเที่ยวทีลอซูช่วงไหนดี

ไปช่วงต้นฝน มิ.ย. – ก.ค. เส้นทางล่องเรือยางสวยมาก ต้นไม้เพิ่งออกใบใหม่สีเขียวสด ป่าสวย น้ำตกพองาม

ไปช่วงกลางฝน ส.ค. – ต.ค.  น้ำเยอะดี น้ำตกเต็มหน้าผา แต่ต้องเดินเข้าไป (ท่าทราย-เขตรักษาพันธุ์ป่า) คนก็ไม่ค่อยมี เพราะไม่อยากเดิน ทางถนนจะปิด (จะเปิดให้เข้าอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน) นักท่องเที่ยวจะต้องเดินเท้าเข้าไปยังเขตรักษาพันธุ์ป่าอุ้มผางทีลอซู ช่วงแรกจะเป็นเส้นทางเดินป่า 1 กม.แรก จากนั้นเดินตามทางถนนระยะทาง 9 กม.

และขากลับหลังจากที่ชมน้ำตกทีลอซูแล้ว จะต้องเดินย้อนกลับเส้นทางเดิม เพื่อมาลงเรือยางที่บ้านท่าทรายเช่นเดิม ล่องเรือต่อไปอีกหน่อย จนถึงทางรถก็จะมีรถของทัวร์มารับกลับรีสอร์ท

ไปช่วงหมดฝน พ.ย. – ธ.ค. สบายๆ ไม่ต้องเดิน(ท่าทราย-เขตรักษาพันธุ์ป่า) นั่งรถถึงจุดพักแรม คนเยอะ แต่น้ำเริ่มลดลง หลังจากเดือนพฤศจิกายนไปแล้ว ทางถนนก็จะเปิด สามารถนั่งรถเข้าไปได้ (ใครนั่งกระบะหลังเปิดท้าย อย่าลืมพกผ้าปิดจมูกไปด้วย เพราะทางมีฝุ่นเยอะมาก) และในขากลับก็นั่งรถออกมาเช่นกัน ไม่ต้องนั่งเรือต่อแล้ว เพราะรถจะพาคุณไปยังรีสอร์ทเลย ระหว่างทางก็จะพาไปยังแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียงคือ ถ้ำตะโค๊ะบิ และสวนส้มสายน้ำผึ้ง

ไปช่วงหนาว-หน้าร้อน ม.ค. – เม.ย. น้ำใสดี คนก็น้อย แต่น้ำก็น้อย การเดินทางสะดวกเหมือนช่วงหมดฝน (พ.ย. – ธ.ค.)

วันสุดท้ายของทริปทีลอซู เช้าตรู่ของวัน เรามาจบทริปกันที่ “ดอยหัวหมด” อ.อุ้มผาง ภูเขาหัวโล้นๆ ที่ให้เราขึ้นมาชมพระอาทิตย์ขึ้นที่สวยงาม ทะเลหมอกที่มองเห็นไกลๆ และอากาศเย็นๆ ฉ่ำชื่นหัวใจ

ข้อปฏิบัติ และข้อห้าม ในการเข้าชมน้ำตกทีลอซู

  1. ใช้บริการยานพาหนะที่กลุ่มสหกรณ์เดินรถจัดไว้ให้ ระหว่างศูนย์แสดงสินค้า เทศบาลตำบลแม่กลอง ถึงน้ำตกทีลอซู
  2. รถรับ-ส่งแต่ละคัน ให้บรรทุกไม่เกิน10 คน/คัน (หากมีนักทัศนศึกษาเกิน 10คน ให้ใช้ รถยนต์มากว่า 1 คัน ยกเว้นมีเด็กเล็กที่มากับผู้ปกครอง ให้พิจารณาเป็นกรณีๆ)
  3. เวลาเข้า-ออก น้ำตกทีลอซู กรณีไป-กลับ สามารถเข้าได้ตั้งแต่เวลา 08.00 – 15.00 น. ส่วนนักท่องเที่ยวที่ประสงค์พักค้างแรม สามารถเข้าได้ตั้งแต่เวลา 08.00 – 16.30 น.
  4. ขอความร่วมมือเจ้าของรถที่ให้บริการและผู้โดยสาร ห้ามนั่งบนหลังคารถยนต์หรือโหน
  5. นักท่องเที่ยวที่เข้าไปชมความงดงามของน้ำตกทีลอซู มี 2 เส้นทางให้เลือก คือ ใช้บริการยานพาหนะที่กลุ่มสหกรณ์เดินรถจัดไว้ให้เข้าไปที่ทำการเขตฯ ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที ล่องแพตามลำน้ำแม่กลอง จากอำเภออุ้มผาง ผ่านน้ำตกทีลอจ่อ ซึ่งจะปรากฏรุ้งกินน้ำเวลาประมาณ 09.30 – 10.00 น. แล้วไปขึ้นฝั่งที่หน่วยพิทักษ์ป่าผาเลือด ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง แล้วนั่งรถต่อไปอีกประมาณ 45 นาที
  6. ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเที่ยวน้ำตกทีลอซู จะอยู่ระหว่างเดือนตุลาคม – พฤษภาคม

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ ททท.สำนักงานตาก (รับผิดชอบพื้นที่การท่องเที่ยวจังหวัดตาก) โทรศัพท์ 0 5551 4341-3 และ สนง.เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง 055-508780 065-0027637 ในเวลาราชการ

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
  petromat@chula.ac.th