โซลาร์เซลล์ฉบับมือใหม่

เรื่องโดย พรพิมล ชุ่มแจ่ม

“ค่าไฟแพง” เป็นประเด็นที่ร้อนแรงพอ ๆ กับอุณหภูมิหน้าร้อนของประเทศไทย ขณะที่กำลังบ่นเรื่องอากาศร้อนแต่เจอบิลค่าไฟที่แพงขึ้นมา 2 – 3 เท่าตัว ก็หนาวทันที จนหลายคนเริ่มมองหาทางเลือกอื่นในการช่วยประหยัดค่าไฟ

หนึ่งในวิธีที่พูดถึงกันมากคือ การติดตั้งโซลาร์เซลล์ ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งที่คนสนใจกันมาก โดยเฉพาะเมื่อมีคนออกมาแชร์ประสบการณ์ว่าติดโซลาร์เซลล์แล้วแทบไม่ต้องจ่ายค่าไฟเลย จึงเกิดคำถามว่าการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เป็นทางออกของการลดค่าไฟที่คุ้มค่าการลงทุนจริงหรือ มีอะไรบ้างที่ควรต้องรู้ก่อนการติดตั้ง

อย่างแรกที่ควรพิจารณาคือในบ้านมีการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าช่วงกลางวันมากน้อยแค่ไหน หากเป็นบ้านที่มีพ่อแม่วัยเกษียณอยู่บ้านช่วงกลางวัน หรือมีการ work form home ซึ่งใช้ไฟช่วงกลางวันในปริมาณมาก

เรื่องต่อมาคือทำเลของบ้านต้องเป็นพื้นที่เปิดโล่ง ไม่มีตึกสูงหรือต้นไม้ปกคลุมบริเวณบ้าน รวมไปถึงพื้นที่บริเวณรอบมีการก่อสร้างบ่อยหรือไม่ เพราะอาจเกิดฝุ่นปริมาณมากไปลดทอนการทำงานของโซลาร์เซลล์ได้ ซึ่งตัวหลังคาบ้านต้องใช้พื้นที่ในการติดตั้งและควรหันโซลาร์เซลล์ไปทางทิศใต้หรือทิศตะวันตก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรับแสงแดด

มารู้จักโซลาร์เซลล์กันเถอะ

โซลาร์เซลล์ (Solar Cell) หรือ เซลล์โฟโตโวลเทอิก (Photovoltaic Cell) คือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งกระแสไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์นั้น จะเป็นไฟฟ้ากระแสตรง ซึ่งเราสามารถใช้ประโยชน์ได้ทันที แถมยังเก็บไว้ในแบตเตอรี่เพื่อเก็บไว้ใช้ภายหลังได้

หลักการทำงาน

แผงโซลาร์เซลล์

คือการนำโซลาร์เซลล์ จำนวนหลาย ๆ เซลล์ มาต่อวงจรรวมกัน ซึ่งแผงโซลาร์เซลล์ทำมาจากซิลิคอน (Silicon)  ซึ่งซิลิคอนอาจจะอยู่ในรูปแบบแตกต่างกันไป ด้วยคุณสมบัติและองค์ประกอบทางเคมีแล้ว ซิลิคอนที่มีความบริสุทธิ์กว่า จะมีโมเลกุลจัดเรียงตัวดีและเป็นระเบียบกว่า และทำให้มีคุณสมบัติในการเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้าได้มากกว่านั่นเอง

ซึ่งที่มีขายกันในท้องตลาดตอนนี้มี 3 ชนิดด้วยกัน Poly, Mono และ Thin-film

ระบบการทำงานของโซลาร์เซลล์

ระบบการทำงานของโซลาร์เซลล์ มี 3 แบบด้วยกัน คือ  On grid,  Off grid และ Hybrid

ระบบการทำงานของโซลาร์เซลล์แบบ On grid จะมีการต่อเชื่อมกับการไฟฟ้า ถึงแม้จะไม่มีการขายไฟคืนให้การไฟฟ้า แต่ถ้ามาการเชื่อมต่อก็คือว่าเป็นแบบ On grid

ระบบการทำงานของโซลาร์เซลล์แบบ Off grid จะเป็นระบบโซลาร์เซลล์ที่ไม่มีการเชื่อมต่อกับการไฟฟ้า กระแสไฟที่ผลิตได้มาจะถูกเก็บในแบตเตอรี่ และนำมาใช้งานเมื่อเปิดอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งปริมาณความจุของแบตเตอรี่ ขึ้นอยู่กับปริมาณความต้องการใช้พลังงานของบ้านแต่ละหลัง

ระบบการทำงานของโซลาร์เซลล์แบบ Hybrid จะเป็นการพัฒนาโดยรวมข้อดีของแบบ On grid และ Off grid มารวมกันคือเชื่อมต่อกับการไฟฟ้าสำหรับช่วงไม่มีแสงแดดก็สามารถใช้ไฟฟ้าได้ตามปกติ และมีการใช้แบตเตอรี่เพื่อเก็บไฟฟ้าส่วนที่เหลือไว้ใช้ในตอนกลางวันไปใช้พลังงานตอนกลางคืน

ติดตั้งโซลาร์เซลล์ ต้องขออนุญาตหน่วยงานราชการใดบ้าง

เมื่อติดตั้งโซลาร์เซลล์ระบบ On grid หรือ Hybrid เนื่องจากมีระบบเชื่อมขนานไฟจากการไฟฟ้า จึงต้องมีการขออนุญาตหน่วยงานราชการ จำนวน 3 หน่วยงานด้วยกัน

  • ยื่นขออนุญาตหรือแจ้งหน่วยงานราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น สำนักงานเขต เทศบาล หรือ อบต. ในท้องที่ที่ตั้งอยู่ เพื่อรับทราบการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์เพื่อขออนุญาตปรับปรุงแก้ไข ก่อสร้าง ดัดแปลงบ้านหรืออาคาร
  • ยื่นขออนุญาตคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อขอจดแจ้งยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาตการผลิตไฟฟ้า
  • ยื่นขอขนานไฟฟ้าเข้ากับระบบไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) รวมถึงยื่นเอกสารทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับทางการไฟฟ้า

 

ติดโซลาร์เซลล์แล้วจะคุ้มไหม

การคิดจุดคุ้มทุนว่าถ้าเราติดแล้วจะใช้เวลานานแค่ไหนกว่าจะคืนทุน  วิธีคิดให้เอาค่าใช้จ่ายในการติดตั้ง ค่าอุปกรณ์และค่าบำรุงรักษามารวมกัน แล้วหารด้วยค่าไฟที่ประหยัดได้ต่อเดือน ก็จะเป็นเดือนที่ใช้ในการคืนทุน หากจะคิดเป็นปีให้หาร 12 เดือน จะได้จำนวนปีที่คืนทุน และสิ่งที่ต้องพิจารณาต่อ  คือระยะเวลาที่เราคืนทุน จะมาถึงก่อนระยะเวลาประกันของอุปกรณ์ไหม เพราะถ้าเกิดว่าระยะเวลาคืนทุนนานกว่าระยะรับประกันของอุปกรณ์ที่สั้นที่สุด ก็มีโอกาสที่อุปกรณ์ชิ้นนั้นจะเสีย ทำให้เราต้องเสียเงินเพิ่มอีก ส่งผลให้ระยะเวลาคืนทุนนานออกไปอีก ซึ่งเป็นแบบนี้ไม่แนะนำให้ติดตั้งนะคะ

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
  petromat@chula.ac.th