
เรื่องโดย ดร.ทัศชา ทรัพย์มีชัย
ฝุ่น PM2.5 เป็นภัยคุกคามทางอากาศที่โลกกำลังเผชิญ ประเทศไทยเองก็หนีไม่พ้นวิกฤต โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงหลายจังหวัดภาคเหนือ ที่ต้องเผชิญกับฝุ่นพิษจากควันรถ โรงงาน และการเผา ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพผู้คน ทำให้เกิดการพัฒนานวัตกรรม “Smog Free Tower” หรือเครื่องฟอกอากาศกลางแจ้ง เพื่อคืนอากาศบริสุทธิ์สู่พื้นที่สาธารณะ

แนวคิดและการพัฒนา
Smog Free Tower ได้รับการออกแบบโดย Daan Roosegaarde นักออกแบบชาวดัตช์ที่มุ่งมั่นในการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม หลังจากที่เขาเดินทางไปยังกรุงปักกิ่ง เมื่อปี 2556 ซึ่งเขาได้สัมผัสกับมลพิษทางอากาศที่รุนแรง จนทำให้มองไม่เห็นวิวทิวทัศน์ด้านนอก เขาตระหนักว่า
“การแก้ไขปัญหานี้ ไม่สามารถรอได้จากรัฐบาล หรือองค์กรใหญ่ๆ เท่านั้น แต่ต้องมีการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ที่สามารถช่วยบรรเทาปัญหาได้อย่างแท้จริง” ด้วยเหตุนี้ Smog Free Tower จึงถือกำเนิดขึ้น และได้รับการติดตั้งที่เมืองร็อตเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นที่แรก

คุณสมบัติและประสิทธิภาพ
Smog Free Tower เปิดตัวเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2558 มีความสูงประมาณ 7 เมตร และทำงานคล้ายกับเครื่องฟอกอากาศในโรงพยาบาล แต่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ สามารถกรองอากาศได้มากถึง 30,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง รวมทั้งใช้เทคโนโลยีไอออนไนเซชันในการปล่อยไอออนประจุบวกออกไปเพื่อดักจับฝุ่นละอองในอากาศ ซึ่งช่วยลดฝุ่น PM10 ได้ถึง 70% และ PM2.5 ได้ประมาณ 25% นอกจากนี้ ยังมีระยะหวังผลในการลดมลพิษในรัศมี 20 เมตรรอบตัวเครื่อง ทั้งหมดนี้ ใช้พลังงานเพียง 1,170 วัตต์ หรือแค่เพียง 1 กาต้มน้ำไฟฟ้าเท่านั้น!
หลักการทำงานของ Smog Tower:
การดูดอากาศมลพิษ:
- อากาศที่ปนเปื้อนฝุ่นละอองและมลพิษจะถูกดูดเข้าไปในหอคอยผ่านพัดลมแรงดันสูง
การกรองมลพิษ:
- ผ่านระบบ HEPA Filters หรือ Electrostatic Precipitators เพื่อดักจับฝุ่นละอองและก๊าซพิษ
- ระบบบางแห่งใช้เทคโนโลยี ไอออนลบ (Negative Ion Technology) เพื่อดักจับอนุภาคขนาดเล็กที่ยังหลงเหลืออยู่ในอากาศ
การปล่อยอากาศบริสุทธิ์:
- หลังจากกรองแล้ว อากาศที่สะอาดจะถูกปล่อยกลับสู่สิ่งแวดล้อม
นอกจากความสามารถในการฟอกอากาศ Smog Free Tower ยังได้รับการออกแบบให้มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและใช้งานง่าย ด้วยโครงสร้างที่สามารถตั้งอยู่ในพื้นที่สาธารณะ เช่น สวนสาธารณะหรือจัตุรัสกลางเมือง โดยไม่รบกวนการใช้งานพื้นที่โดยรอบ
ผลกระทบและการใช้งาน
Smog Free Tower ได้รับการติดตั้งในหลายเมืองที่ประสบปัญหามลพิษทางอากาศ เช่น ร็อตเตอร์ดัมในเนเธอร์แลนด์ ปักกิ่งและเทียนจินของจีนที่ต้องต่อสู้กับหมอกพิษจากอุตสาหกรรม คราคูฟในโปแลนด์ หนึ่งในเมืองที่มลพิษทางอากาศรุนแรงในยุโรป และมุมไบของอินเดีย โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยลดมลพิษในพื้นที่ที่มีปัญหา ด้วยการออกแบบที่สามารถดักจับอนุภาคฝุ่นและปล่อยอากาศสะอาดออกมาในพื้นที่สาธารณะ Smog Free Tower ยังสามารถกระตุ้นการตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการลดมลพิษทางอากาศในกลุ่มประชาชนทั่วไป
หนึ่งในตัวอย่างที่น่าสนใจคือการติดตั้ง Smog Free Tower ในกรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองที่มีปัญหามลพิษทางอากาศรุนแรงที่สุดในโลก หลังจากการติดตั้ง พบว่าปริมาณฝุ่นละอองในบริเวณใกล้เคียงลดลงอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ ประชาชนที่ได้สัมผัสกับพื้นที่อากาศบริสุทธิ์ยังรายงานถึงความพึงพอใจและความต้องการให้มีการติดตั้งอุปกรณ์ลักษณะนี้เพิ่มเติม

Smog Free Tower เปลี่ยนฝุ่นเป็นอัญมณี
หนึ่งในแนวคิดสร้างสรรค์คือการนำฝุ่นละอองที่สะสมได้มาอัดเป็น “เพชรคาร์บอน” หรือ “หินคาร์บอน” ขนาดเล็ก ซึ่งสามารถนำไปทำเครื่องประดับได้ เช่น แหวน สร้อยคอและต่างหู ตัวอย่างเช่น โครงการ Smog Free Tower ในเนเธอร์แลนด์ โดย Daan Roosegaarde ได้นำฝุ่นมลพิษที่อัดแน่นไปผลิตเป็นแหวนที่เรียกว่า “Smog Free Ring” โดยแหวนแต่ละวงเกิดจากการฟอกอากาศบริสุทธิ์กลับสู่เมืองถึง 1,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งผู้สนับสนุนโครงการ สามารถได้รับแหวนที่ทำจากฝุ่นควันเป็นของที่ระลึกและรายได้ส่วนหนึ่งก็นำไปสนับสนุนโครงการสิ่งแวดล้อมต่อไป

ข้อจำกัดของ Smog Free Tower
แม้ว่านวัตกรรมนี้จะมีประสิทธิภาพสูง สามารถกรองอากาศได้ถึง 30,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง แต่การลดฝุ่น PM2.5 ได้เพียงประมาณ 25% และ PM10 ได้ประมาณ 70% ซึ่งอาจไม่เพียงพอในการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศในระดับที่สูงมาก โดยเฉพาะในเมืองที่มีมลพิษรุนแรง อีกทั้งเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ
นอกจากนี้พื้นที่ครอบคลุม Smog Free Tower มีประสิทธิภาพในรัศมีประมาณ 20 เมตรจากตัวเครื่อง ซึ่งหมายความว่า มันไม่สามารถจัดการกับมลพิษในพื้นที่กว้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องมีการติดตั้งหลายเครื่องเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ใหญ่
ด้านต้นทุนและการบำรุงรักษา: การติดตั้งและบำรุงรักษา Smog Free Tower อาจมีค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคสำหรับบางเมืองหรือประเทศที่มีงบประมาณจำกัด
ถึงแม้ว่า Smog Free Tower จะมีข้อจำกัด แต่ยังสร้างแรงบัลดานใจให้มีนวัตกรรมช่วยให้เมืองปลอดฝุ่นพิษอีกหลายตัวตามมา เช่น
Smog Eating Billboard: ป้ายโฆษณาที่เคลือบด้วยสารเคมีชนิดพิเศษ ใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์และลม เพื่อฟอกอากาศให้กับประชากรกว่า 104,000 คนต่อวัน ซึ่งพัฒนาโดย UDEM University ในเม็กซิโก

Smog Free Bicycle: จักรยานที่ใช้เทคโนโลยีเดียวกับ Smog Free Tower ช่วยฟอกอากาศขณะปั่น เกิดจากความร่วมมือในเวิร์กช็อปที่ปักกิ่ง โดยศิลปิน Matt Hope และ Professor Yang จากมหาวิทยาลัย Tsinghua

Smog Free Tower เป็นตัวอย่างที่ดีของนวัตกรรมที่ผสมผสานระหว่างการออกแบบและเทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในโลกยุคปัจจุบัน ด้วยการใช้ทรัพยากรที่น้อยแต่มีประสิทธิภาพสูง เครื่องนี้ไม่เพียงช่วยลดมลพิษในอากาศ แต่ยังสร้างความตระหนักในความสำคัญของการปกป้องสิ่งแวดล้อมให้กับสังคมอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ การต่อยอดแนวคิดและเทคโนโลยีนี้ยังเปิดโอกาสให้เกิดการพัฒนาโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในอนาคต