RECs เครดิตทางสิ่งแวดล้อมด้วยพลังงานหมุนเวียน

เรื่องโดย นุสรา จริยะสกุลโรจน์

เครดิตทางสิ่งแวดล้อมสำหรับชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทุกท่านรู้จักกันดีและนิยมใช้ในปัจจุบันคงจะเป็น คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) แต่ทราบหรือไม่ว่ายังมีเครดิตอีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน หรือ Renewable Energy Certificates (RECs) ซึ่ง RECs คืออะไร ต่างจาก Carbon Credit อย่างไร เรามาทราบข้อมูลและความแตกต่างไปพร้อม ๆ กันเลยค่ะ

Carbon Credit และ RECs คืออะไร ได้มาจากไหน

คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลด / กักเก็บได้ เกิดจากการทำโครงการ ไม่ว่าจะเป็นการดูดออกจากชั้นบรรยากาศ เช่น ปลูกป่า การดักจับคาร์บอน หรือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ต่ำกว่าเส้นฐาน (Baseline Emission) หรือปริมาณการปล่อยตามกระบวนการขั้นตอนปกติ ซึ่ง การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 1 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq) จะยื่นขอการรับรอง Carbon Credit ได้ 1 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq)

ใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificates : RECs) เป็นการรับรองสิทธิ์ในการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน หรือ การเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยมี The International REC Standard (I-REC) ประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นหน่วยงานรับรอง ปัจจุบันการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นรายเดียวที่ได้สิทธิ์เป็นผู้ให้การรับรองในประเทศไทย

RECs ถือเป็นกลไกที่ช่วยให้ผู้ผลิตและผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถอ้างสิทธิ์การผลิตและการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ด้วยการรับรองจากหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าของกลไก ช่วยสนับสนุนให้เกิดการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนผ่านการซื้อและขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน ทำให้ผู้ลงทุนพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนสามารถสร้างรายได้เพิ่มจากการขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน การซื้อขายมีหน่วยเป็น REC ซึ่งคำนวณจากการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจริง โดยที่ ไฟฟ้า 1 MWh มีค่าเท่ากับ 1 REC การขาย REC แบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ

  1. Bundled REC ผู้ซื้อจะได้รับไฟฟ้าพลังงานสะอาดหรือไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy: RE) พร้อมกับ REC ที่ผู้ผลิตขอออกใบรับรองจากการผลิตไฟฟ้านั้นด้วย
  2. Unbundled REC ผู้ซื้อจะได้รับเพียง REC หรือใบรับรองการผลิตไฟฟ้าเท่านั้น ซึ่งในขณะนี้ประเทศไทยจะมีเพียงแบบ Unbundled REC เท่านั้น

ใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificates : RECs)

ต่อมาสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจ คือ คาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร เป็นการคำนวณปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กร แบ่งการพิจารณาออกเป็น 3 SCOPE ดังนี้

SCOPE I: การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรง (Direct Emissions) จากกิจกรรมขององค์กรโดยตรง เช่น การเผาไหม้ของเครื่องจักร การใช้พาหนะขององค์กร (ที่องค์กรเป็นเจ้าของเอง) การใช้สารเคมีในการบำบัดน้ำเสีย การรั่วซึม/รั่วไหล จากกระบวนการหรือกิจกรรมการผลิต เป็นต้น

SCOPE II: การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงาน (Energy Indirect Emissions) โดยการซื้อพลังงานมาใช้ในองค์กร ได้แก่ พลังงานไฟฟ้า ความร้อน ความเย็น ไอน้ำ เป็นต้น

SCOPE III: การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมด้านอื่น ๆ การเดินทางของพนักงานด้วยพาหนะที่ไม่ใช่ขององค์กร การเดินทางไปสัมมนานอกสถานที่ การใช้วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ เป็นต้น

แหล่งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร

ที่มา : Green Power Partnership U.S. Environmental Protection Agency, 2018

Carbon Credit และ RECs นำไปใช้ชดเชยได้อย่างไร

การจะเลือกซื้อ Carbon Credit หรือ RECs เพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรนั้น ขึ้นอยู่กับนโยบายและเป้าหมายด้านความยั่งยืนขององค์กร

  • หากองค์กรมีเป้าหมาย ความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutrality และ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทุกชนิดสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero GHG Emission องค์กรควรพิจารณาซื้อ Carbon Credit ซึ่งสามารถนำมาชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน SCOPE ใดก็ได้
  • หากองค์กรต้องการบรรลุเป้าหมาย RE100 (กลุ่มบริษัทที่รวมตัวกันและแสดงเจตจำนงที่จะใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ในการดำเนินธุรกิจ) องค์กรควรพิจารณาซื้อ RECs เนื่องจากเมื่อพิจารณาการคำนวนคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงาน (Energy Indirect Emissions) จัดอยู่ใน SCOPE II ซึ่งจำนวน RECs ที่ซื้อมานั้นจะเป็นการลดข้อมูลกิจกรรม (Activity Data) ในแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้พลังงานไฟฟ้าเท่านั้น และสามารถอ้างสิทธิ์ในการใช้พลังงานหมุนเวียน ทดแทนการใช้ไฟฟ้าจากสายส่ง (Conventional Grid) เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการเป็นองค์การที่ใช้พลังงานหมุนเวียนทั้งหมด หรือ RE100 ได้

RECs นำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้อีกหรือไม่

จากความตื่นตัวเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการส่งเสริมการผลิต-ใช้พลังงานหมุนเวียนในระดับประเทศและระดับองค์กร  RECs จึงถูกนำไปใช้แสดงความมุ่งมั่นที่จะใช้พลังงานหมุนเวียนในรายงานและการจัดอันดับของบริษัทชั้นนำต่าง ๆ อาทิเช่น รายงานความยั่งยืน (Sustainability Report)  รายงานจัดอันดับบริษัทชั้นนำของโลกตามกลุ่มอุตสาหกรรม (Dow Jones Sustainability Indices : DJSI) รายงานเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมของบริษัทชั้นนำ (Carbon Disclosure Project : CDP) หรือการเข้าร่วมกลุ่มบริษัทที่รวมตัวกันและแสดงเจตจำนงที่จะใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ในการดำเนินธุรกิจ (RE100)

RECs ถูกนำไปใช้รายงานเพื่อแสดงความมุ่งมั่นในการใช้พลังงานหมุนเวียน

ที่มา : https://egc.egat.co.th/rec คืออะไร

ตารางสรุปความแตกต่างของ Carbon Credit และ RECs

ประเด็นสำคัญในเรื่องความแตกต่างของ Carbon Credit และ RECs รวมถึงเป้าหมายการชดเชยที่แตกต่างกันนั้น การหลีกเลี่ยงการนับซ้ำเป็นสิ่งจำเป็น ทั้งในขั้นตอนการนำไปใช้และการพัฒนาโครงการ ซึ่งทาง TGO ได้ออกหลักเกณฑ์การป้องกันการนับซ้ำจากการขอรับรองใบรับรองสิทธิ์ในการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (REC) โดยกรณีโครงการที่เป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และมีการขอรับรองใบรับรองสิทธิ์ในการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate: REC) จะไม่สามารถขอรับรองคาร์บอนเครดิตในช่วงระยะเวลาคิดเครดิตเดียวกันกับที่มีการขอใบรับรอง REC ได้ ซึ่ง TGO กับ กฟผ. ที่รับผิดชอบการออก REC จะมีการประสานงานใกล้ชิดและตรวจสอบข้อมูลช่วงระยะเวลาของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน

การใช้ Carbon Credit และ RECs ชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นการทำให้องค์กรบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนได้ แต่แนวทางการแก้ไขที่ดีที่สุดคือ การลดการปล่อยตั้งแต่เริ่มต้น ไม่ว่าจะด้วยการใช้พลังงานสะอาด ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เพิ่มประสิทธิภาพของอุปกรณ์และเครื่องจักร และเพิ่มการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกออกจากชั้นบรรยากาศ เป็นวิธีลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีประสิทธิภาพมากกว่าการชดเชย

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
  petromat@chula.ac.th