ไบโอดีเซลและไบโอเอทานอลเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพที่ผลิตได้จากน้ำมันปาล์มโดยต้องผ่านสามกระบวนการ ได้แก่ กระบวนการโฮโดรดีออกซีจีเนชันภายใต้อุณหภูมิและความดันสูง เพื่อสังเคราะห์สารประกอบไฮโดรคาร์บอนชนิดอิ่มตัวโดยเติมไฮโดรเจนและกำจัดออกซิเจนในโมเลกุลน้ำมันซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วยไตรกลีเซอไรด์ ต่อมาก็คือกระบวนการโฮโดรไอโซเมอไรเซชัน เพื่อเปลี่ยนสารไฮโดรคาร์บอนชนิดอิ่มตัวจากโครงสร้างแบบเส้นตรงให้เป็นโครงสร้างแบบมีหลายกิ่งก้าน และสุดท้ายกระบวนการไฮโดรแครกกิง เพื่อแยกสลายสารไฮโดรคาร์บอนโมเลกุลใหญ่อันมีจุดเดือดสูงให้ได้สารอันมีจุดเดือดต่ำลง ซึ่งมีความเหมาะสมต่อการนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิง โดยกระบวนการดังกล่าวต้องใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาอย่างซีโอไลต์ร่วมด้วย
ทั้งนี้การศึกษาเพื่อหาสภาวะที่เหมาะสมในการผลิตไบโอดีเซลไม่จำเป็นต้องทำในเครื่องปฏิกรณ์ขนาดใหญ่ เนื่องจากเราสามารถทดลองได้ในอุปกรณ์ขนาดเล็กที่เรียกว่าเครื่องปฏิกรณ์แบบช่องจุลภาค ซึ่งภายในตัวเครื่องมีท่อขนาดเล็กทำหน้าที่นำน้ำมันปาล์มและก๊าซไฮโดรเจนจากภายนอกเข้าสู่ส่วนที่ทำหน้าที่เสมือนเครื่องปฏิกรณ์
จากการทดลองพบว่าร้อยละผลได้ของไบโอดีเซลมีมากถึงเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ เมื่ออัตราการไหลของน้ำมันปาล์มและก๊าซโฮโดรเจนอยู่ที่ 0.04 และ 17.5 มิลลิลิตรต่อนาทีตามลำดับ ภายใต้อุณหภูมิ 500 องศา-เซลเซียส และความดัน 500 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว โดยใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาเพียง 50 มิลลิกรัม ซึ่งเห็นได้ว่าเทคโนโลยีนี้ใช้ปริมาณสารตั้งต้นน้อยมาก นอกจากนี้ การถ่ายเทมวลสารก็เกิดได้อย่างต่อเนื่องและทั่วถึง จึงเกิดปฏิกิริยาได้รวดเร็วและง่ายต่อการดูแลควบคุม อีกทั้งช่วยประหยัดทั้งต้นทุนสารและเวลา โดยผลการทดลองที่ได้สามารถนำไปปรับปรุงกระบวนการผลิตไบโอดีเซลได้จริง ทั้งนี้เพื่อนำไปใช้ทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลนั่นเอง
ผลงานโดย คุณเดือนฉาย บุญพิมพ์ ทีมวิจัยของรองศาสตราจารย์ ดร.อรรถศักดิ์ จารีย์ ร่วมด้วย
รองศาสตราจารย์ ดร.อภิญญา ดวงจันทร์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมราภรณ์ แก้วชะฎา ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
สนใจติดต่อ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ โทร 02-218-4141 ถึง 2 เว็บไซต์ petromat.org และเฟซบุ๊ก petromat.com