การใช้ยาเป็นวิธีรักษาผู้ป่วยมะเร็งนอกเหนือไปจากการผ่าตัดและการฉายแสงรังสี มีเป้าหมายในการชะลอหรือหยุดการเจริญเติบโตเพื่อทำลายมะเร็งให้หายไปจากร่างกาย รวมถึงควบคุมการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งไปยังอวัยวะต่าง ๆ โดยตัวยาที่ใช้มีทั้งในรูปแบบยากิน ยาฉีด และยาทา ทั้งนี้แผ่นแปะผิวหนังเป็นวิธีหนึ่งที่สามารถนำส่งยาได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ
การรับยาทางผิวหนังทำให้ตัวยาไม่ต้องผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางชีวเคมีซึ่งเกิดขึ้นในตับหลังถูกดูดซึมที่ทางเดินอาหาร และทำให้ผู้ป่วยไม่เจ็บตัวจากการใช้เข็มฉีด โดยนักวิจัยได้คิดค้นนวัตกรรมแผ่นแปะผิวหนังเพื่อนำส่งยาฟลูออโรยูราซิลภายใต้สนามแม่เหล็กและสนามไฟฟ้าซึ่งช่วยในการลำเลียงตัวยาให้ซึมผ่านผิวหนังได้ดีกว่าการทาทั่วไป
ตัวแผ่นแปะผลิตจากพอลิบิวทิลีนซักซิเนตโคอะดิเพต ซึ่งเป็นพอลิเมอร์ชีวภาพที่เข้ากันได้กับร่างกายและแข็งแรงทนทาน จึงเหมาะกับการใช้เป็นวัสดุรองรับ โดยผ่านการขึ้นรูปด้วยวิธีหล่อจากสารละลาย และใช้สารลดแรงตึงผิวในการทำให้เนื้อพอลิเมอร์มีรูพรุนเพื่อช่วยในการกักเก็บตัวยาเอาไว้ภายใน ส่วนตัวยาที่ใช้เคลือบอยู่บนสารเพกตินที่เคลือบอยู่บนแมกนีไทต์อีกชั้นหนึ่ง โดยเพกตินทำให้แมกนีไทต์กระจายตัวในเนื้อยาได้มากขึ้นซึ่งช่วยเพิ่มการตอบสนองของแมกนีไทต์ต่อสนามแม่เหล็กและสนามไฟฟ้า ในขณะที่แมกนีไทต์ซึ่งสังเคราะห์ด้วยวิธีตกตะกอนร่วม เป็นอนุภาคแม่เหล็กระดับนาโนที่ไม่เป็นพิษต่อร่างกาย เมื่ออยู่ภายใต้สนามแม่เหล็กและสนามไฟฟ้าก็จะช่วยผลักตัวยาให้ซึมซาบผ่านผิวหนังได้ในปริมาณที่เข้มข้นมากพอต่อการบำบัดมะเร็ง
แผ่นแปะผิวหนังจะเป็นทางเลือกใหม่ในการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง เช่น มะเร็งผิวหนังและมะเร็งเต้านม ซึ่งในอนาคตอาจนำไปใช้ร่วมกับวิธีอื่นให้การรักษามีประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
นวัตกรรมนี้สร้างสรรค์โดย คุณนิตินนท์ วิรัตน์ชัยบุตร ทีมวิจัยของศาสตราจารย์ ดร.อนุวัฒน์ ศิริวัฒน์ วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่านที่สนใจสามารถติดต่อ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ โทร 02-218-4141 ถึง 2 เว็บไซต์ www.petromat.org และเฟซบุ๊ก petromat.coe