ข่าวการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้คนไทยหันมาสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลกันมากขึ้น รวมถึงการสวมถุงมือ เพราะไม่ต้องการสัมผัสกับเชื้อโรค ว่าแต่รู้หรือไม่ว่าประเทศไทยครองอันดับผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ทำจากยางพารา ทั้งถุงมือยางและถุงยางอนามัย มานานแล้วแต่ยังไม่พอ การแพทย์สมัยใหม่อยากได้อะไรมากกว่านั้น ทางการแพทย์ต้องการให้เวชภัณฑ์บางชนิดที่ทำจากยางพารามีสมบัติกลัวน้ำ ซึ่งหมายความว่าเวชภัณฑ์เหล่านั้นต้องไม่ชอบให้น้ำสัมผัสกับพื้นผิวของตัวเอง ตัวอย่างเช่น ถุงมือยางต้องไม่ดูดซับน้ำเพื่อไม่ให้สิ่งสกปรกหมักหมม พลาสเตอร์ยางต้องกันน้ำ เพราะต้องรักษาให้แผลแห้งอยู่เสมอ สายยางเช่นสายน้ำเกลือต้องไม่มีการเกาะติดของของเหลวในท่อจนเกิดการอุดตัน ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์จึงต้องยื่นมือเข้ามาช่วย โดยคร่าว นักวิจัยได้เตรียมผลิตภัณฑ์ยางพาราด้วยวิธีเดียวกับการขึ้นรูปถุงมือยางทางการแพทย์ แล้วเพิ่มด้วยขั้นตอนการแช่ในสารละลายกรด ตามด้วยการแช่ในสารละลายเมทิลไตรคลอโรไซเลน เพื่อปรับปรุงพื้นผิววัสดุให้มีความไม่ชอบน้ำจนมีคุณสมบัติตามที่ทางการแพทย์ต้องการ นอกจากนี้ ยังอาจช่วยให้ยางพาราไทยเพิ่มมูลค่าในตลาดโลกได้

ผลงานนี้พัฒนาโดยคุณพัชรรุจี งามดี ทีมวิจัยของศาสตราจารย์ ดร.นพิดา หิญชีระนันทน์ ภาควิชาเคมีเทคนิค คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผู้สนใจสามารถติดต่อศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ โทร 0-2218-4141 ถึง 2 เว็บไซต์ www.petromat.org และเฟซบุ๊ก petromat

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
petromat@chula.ac.th