สร้างตัวเร่งโลหะออกไซด์ เอาไว้ใช้สังเคราะห์ไบโอดีเซลจากน้ำมันด้วยกระบวนการผลิตที่สะอาดกว่ามีราคาถูก จะสังเคราะห์กี่ครั้งก็ยังไหว เพราะตัวเร่งสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ในกระบวนการสังเคราะห์ ตัวเร่งจะเปลี่ยนกรดไขมันในน้ำมันพืชหรือน้ำมันสัตว์ และแอลกอฮอล์อย่างเมทานอลหรือเอทานอล จนได้ไบโอดีเซลผ่านปฏิกิริยาเอสเทอร์รีฟีเคชัน โดยตัวเร่งที่ใช้งานได้ดีมักเป็นกลุ่มสารละลายซึ่งมีเนื้อเดียวกันกับไบโอดีเซล เช่น โซเดียมไฮดรอกไซด์ โพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ และโซเดียม-เมทอกไซด์
อย่างไรก็ตาม ตัวเร่งดังกล่าวอาจทำปฏิกิริยาข้างเคียงกับกรดไขมันจนเป็นไข อีกทั้งตัวเร่งยังถูกแยกออกจากผลิตภัณฑ์ได้ยาก จึงเพิ่มขั้นตอนการกำจัดด้วยการล้าง และทำให้ไม่สามารถกลับมาใช้ใหม่ ดังนั้น ตัวเร่งโลหะออกไซด์ซึ่งมีสถานะเป็นของแข็ง ไม่เป็นเนื้อเดียวกันกับสารตั้งต้นและสารผลิตภัณฑ์ จึงช่วยแก้ปัญหาได้ ตัวเร่งกลุ่มนี้ ได้แก่ แคลเซียมออกไซด์ และแมกนีเซียมออกไซด์ ทว่ามีข้อเสียคือไม่ทนต่อกรดไขมันอิสระ จนอาจทำให้ประสิทธิภาพในการเร่งปฏิกิริยาด้อยลงหากต้องการใช้ซ้ำ นักวิจัยจึงกำลังพัฒนาตัวเร่งชนิดใหม่โดยใช้ธาตุหายากที่ทนทานต่อกรดไขมันอิสระ ทำให้สามารถนำกลับมาใช้เร่งปฏิกิริยาสังเคราะห์ไบโอดีเซลซ้ำได้หลายครั้ง ซึ่งจะช่วยลดทั้งของเสียในกระบวนการและต้นทุนในการสร้างพลังงานทดแทน
ผลงานโดย คุณภีร์ฌณัฐ ดวงดี ทีมวิจัยของรองศาสตราจารย์ ดร.เพ็ญจิตร ศรีนพคุณ ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
สนใจติดต่อ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ โทร 0-2218-4141 ถึง 2 เว็บไซต์ www.petromat.org และเฟซบุ๊ก petromat.coe