เปลี่ยนขยะทะลายปาล์มเปล่าเป็นวัตถุดิบมีมูลค่า เค้นน้ำมันที่เหลือออกมาแล้วแปรรูปให้เป็นน้ำมันอากาศยาน รีดศักยภาพสร้างพลังงานหมุนเวียนจากปาล์มให้หมดจดจนหยดสุดท้ายปัจจุบันทะลายปาล์มเปล่าจำนวนมากถูกทิ้งจากการผลิตน้ำมันปาล์ม ทั้งที่ยังสามารถเค้นน้ำมันที่เหลือออกมาได้ ทว่าส่วนใหญ่แล้วน้ำมันจะเจือไปด้วยสิ่งปนเปื้อนและมีธาตุออกซิเจนเป็นองค์ประกอบในปริมาณมาก ซึ่งไม่เป็นที่ต้องการทำให้ต้องมีวิธีกำจัดสิ่งเหล่านั้นออกไปอย่างการหมักที่มักใช้ระยะเวลานาน ต่างจากกระบวนการทางเคมีความร้อนที่เรียกว่าไพโรไลซิส ซึ่งทำภายใต้สภาวะไร้ออกซิเจนที่อุณหภูมิสูง โดยมีข้อดีคือใช้เวลาน้อยกว่า และสามารถแปรรูปน้ำมันให้มีมูลค่าสูงขึ้นได้
นักวิจัยจึงเลือกใช้กระบวนการไพโรไลซิสเพื่อปรับปรุงน้ำมันจากทะลายปาล์มเปล่าให้มีคุณภาพเทียบเท่าน้ำมันอากาศยาน โดยเพิ่มปริมาณเชื้อเพลิงเหลวสัดส่วนเบา ซึ่งรวมทั้งน้ำมันก๊าดที่สามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในเครื่องบิน ทั้งนี้ ทีมนักวิจัยได้ศึกษาประสิทธิภาพของตัวเร่งปฏิกิริยาหลายชนิดที่ใช้ในกระบวนการไพโรไลซิส ซึ่งได้แก่ ถ่านกัมมันต์ แมกนีเซียมออกไซด์ ตัวเร่งซีโอไลต์ ตัวเร่งนิกเกิลบนตัวรองรับซีโอไลต์ โดยพบว่าการใช้ตัวเร่งหลายชนิดร่วมกันสามารถเพิ่มผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงเหลวสัดส่วนเบาได้สูงถึงเกือบร้อยละ 50 งานวิจัยดังกล่าวจึงเป็นแนวทางในการใช้ประโยชน์สูงสุดจากวัตถุดิบไม่ให้เหลือทิ้งเป็นขยะ ทั้งจะช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรได้ในอนาคตอันใกล้
ผลงานโดย คุณสุดาพร สุนทร ทีมวิจัยของศาสตราจารย์ ดร.ธราพงษ์ วิทิตศานต์ ภาควิชาเคมีเทคนิค คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สนใจติดต่อ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ โทร 02-218-4141 ถึง 2 เว็บไซต์ www.petromat.org และเฟซบุ๊ก petromat.coe