เคยได้ยินกันมาบ้างแล้วว่า ไบโอพลาสติกสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ไม่ทิ้งมลพิษในสิ่งแวดล้อม แต่ถ้าเอาไบโอพลาสติกมาใช้ซ่อมแซมอวัยวะในร่างกายคนเลยล่ะ จะเป็นอย่างไรกัน? ช่วงที่วิศวกรรมเนื้อเยื่อเข้ามามีบทบาทในการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ วัสดุตัวหนึ่งที่ได้รับความสนใจก็คือ ไบโอพลาสติกอย่างพอลิแลกติกแอซิด เพราะปลอดภัย ย่อยสลายภายในร่างกายได้ และในเมืองไทยเองก็มีการนำโปรตีนใยไหมหรือไฟโบรอินมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ด้วย เพราะสามารถเข้ากันได้ดีกับเซลล์ในร่างกาย ดังนั้น วัสดุสองตัวนี้จึงเหมาะแก่การทำโครงเลี้ยงเซลล์ เพื่อสร้างเนื้อเยื่อซ่อมแซมอวัยวะเมื่อร่างกายบาดเจ็บ

โดยนักวิจัยได้นำพอลิแลกติดแอซิดกับโปรตีนเส้นใยไหมไทยมาผสมกัน แล้วขึ้นรูปให้เป็นแผ่นเส้นใย จากนั้นได้ศึกษาสมบัติของชิ้นงานที่ขึ้นรูปได้ เช่น โครงสร้างสัณฐานวิทยาของแผ่นเส้นใย ความแข็งแรงและระยะเวลาในการย่อยสลายของชิ้นงาน รวมทั้งได้ทดลองนำชิ้นงานไปเพาะเลี้ยงเซลล์ โดยมีเป้าหมายว่าจะนำเอาวัสดุดังกล่าวไปใช้รักษาหมอนรองกระดูกข้อเข่าได้จริง

ผลงานนี้สร้างสรรค์โดยคุณสิริปัญโญ พรหมนิล ทีมวิจัยของรองศาสตราจารย์ ดร.ยุพาพร รักสกุลพิวัฒน์ และรองศาสตราจารย์ ดร.ไชยวัฒน์ รักสกุลพิวัฒน์ สาขาวิชาวิศวกรรมพอลิเมอร์ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมด้วยอาจารย์ แพทย์หญิง ดร.ปิยาอร นำไพศาล สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

ผู้สนใจสามารถติดต่อศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ โทร 0-2218-4141 ถึง 2 เว็บไซต์ www.petromat.org และเฟซบุ๊ก petromat.coe

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
petromat@chula.ac.th