พอลิแล็กติกแอซิดสุดแกร่ง เสริมแรงด้วยใยกาบมะพร้าวและใบไผ่ เกิดเป็นพลาสติกชีวภาพสูตรใหม่ที่ผสมเส้นใยพืชสองชนิดนี้เป็นครั้งแรก ย่อยสลายได้จึงเหมาะกับการนำไปใช้ทดแทนพลาสติกปิโตรเคมี

ทุกปีเกิดการสะสมมากขึ้นของขยะพลาสติกปิโตรเคมีในสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับปริมาณการใช้พลาสติกที่สูงขึ้นกว่า 20 เท่าในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ด้วยความแข็งแรงทำให้ใช้งานได้อย่างทนทาน แต่กลับส่งผลให้การย่อยสลายใช้ระยะเวลานานมากด้วยเช่นกัน ในการหาวัสดุทดแทนจากธรรมชาติจึงต้องคำนึงถึงวัสดุที่สามารถย่อยสลายได้ดี แต่ก็ต้องมีสมบัติอื่นที่แข่งขันได้กับพลาสติกปิโตรเคมีด้วย เช่น ความแข็งแรง การขึ้นรูปได้ดี และราคาที่ไม่แพง

พอลิแล็กติกแอซิดเป็นพลาสติกชีวภาพที่ผลิตได้จากอ้อย ข้าวโพด และมันสำปะหลัง มีความต้านทานต่อแรงดึงเทียบเท่าหรือสูงกว่าพลาสติกปิโตรเคมีประเภทโอเลฟินส์ ที่สำคัญคือย่อยสลายได้ในธรรมชาติ ทั้งยังช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพเพราะเป็นการแปรรูปวัตถุดิบทางการเกษตรให้มีมูลค่าสูงขึ้น อย่างไรก็ตามการขึ้นรูปด้วยวิธีทางความร้อนให้เป็นชิ้นงานทำได้ยาก เพราะพอลิแล็กติกแอซิดค่อนข้างเปราะและไม่เสถียรที่อุณหภูมิสูง ด้วยเหตุนี้นักวิจัยจึงผสมเส้นใยกาบมะพร้าวและใบไผ่เข้าไปด้วย ซึ่งช่วยเพิ่มทั้งความแข็งแรงและความเสถียรทางความร้อน โดยวัสดุผสมที่ได้ยังคงคุณสมบัติการย่อยสลายได้ไว้เหมือนเดิม

งานวิจัยนี้เป็นครั้งแรกที่ใช้เส้นใยพืชมากกว่าหนึ่งชนิดในการเสริมแรงพอลิแล็กติกแอซิด เพราะต้องการเอาชนะข้อจำกัดของการนำไปใช้งานเนื่องจากเส้นใยพืชแต่ละชนิดมีข้อดีแตกต่างกันไป โดยคาดหวังว่าจะได้พลาสติกชีวภาพชนิดใหม่ที่สามารถนำไปใช้ทดแทนพลาสติกปิโตรเคมีได้อย่างกว้างขวาง

ผลงานโดย คุณสุพิชชา ใยสุ่น ทีมวิจัยของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ตติยา ตรงสถิตกุล สาขาวิชาวิศวกรรมพอลิเมอร์ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

สนใจติดต่อ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ โทร 02-218-4141 ถึง 2 เว็บไซต์ petromat.org และเฟซบุ๊ก petromat.coe

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
petromat@chula.ac.th