แม้อากาศจะร้อนอบอ้าวจนทำให้เหงื่อออกมากก็ไม่เหม็นอับ หากสวมใส่เสื้อผ้าใยสังเคราะห์ที่ผลิตจากโพลีเอสเตอร์ เพราะมีน้ำหนักเบา ระบายอากาศได้ดี ให้สัมผัสโล่งสบาย ไม่อับชื้น แถมยังดูแลรักษาง่ายกว่าเสื้อผ้าเส้นใยธรรมชาติ แต่รู้ไหมว่า การซักเสื้อผ้าประเภทนี้อาจกำลังทำลายสิ่งแวดล้อมโดยที่คุณไม่รู้ตัว
โดยมีรายงานการค้นพบอนุภาคเส้นใยไมโครไฟเบอร์ประเภทโพลีเอสเตอร์ ปนเปื้อนในระบบนิเวศโดยเฉพาะในทะเล เนื่องจากโพลีเอสเตอร์ไม่สามารถย่อยสลายได้เอง ทำให้ตกค้างสะสมเป็นมลพิษในธรรมชาติ ซึ่งส่วนหนึ่งมากับน้ำทิ้งจากการซักผ้าในครัวเรือน
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยได้ค้นคว้าจนพบว่าแบคทีเรียและเชื้อราบางชนิดสามารถผลิตเอนไซม์ที่เรียกว่า เอสเทอร์เรส มาย่อยสลายโพลีเอสเตอร์ได้ ดังนั้น คุณโกมลชนก ผลาหาญ ทีมของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุษา แสงวัฒนาโรจน์ ภาควิชาวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงต้องการทดลองหาวิธีการย่อยอนุภาคเส้นใยไมโครไฟเบอร์ที่พบในน้ำทิ้งจากการซักเสื้อผ้าที่มีส่วนประกอบของโพลีเอสเตอร์ โดยใช้เอนไซม์เอสเทอเรส จากแบคทีเรียชนิดเทอร์โมบิฟิดา โดยได้ทดสอบประสิทธิภาพการทำงานของเอนไซม์ดังกล่าว ที่อุณหภูมิ ระยะเวลา และพีเอชต่าง ๆ
ทั้งนี้ ผลการทดสอบในเบื้องต้นพบว่า อนุภาคเส้นใยไมโครไฟเบอร์ของโพลีเอสเทอร์ในน้ำทิ้ง ถูกย่อยสลายด้วยสารละลายเอนไซม์เอสเทอเรสความเข้มข้น 75% ได้มากกว่าในสารละลายเอนไซม์ความเข้มข้นอื่น ๆ ซึ่งเอนไซม์นี้สามารถทำงานได้ดีที่สุดที่อุณหภูมิ 55 องศาเซลเซียส ในสารละลายที่มีค่าพีเอชเท่ากับ 9 โดยในขณะนี้ผู้วิจัยกำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาประสิทธิภาพการย่อยสลายโพลีเอสเตอร์ด้วยวิธีดังกล่าว เพื่อให้เรายังสามารถใส่เสื้อผ้าที่สบายตัว และสบายใจ เพราะรู้ว่าไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแน่นอน
ผู้ที่สนใจในเทคโนโลยีนี้ สามารถติดต่อ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ โทร 0-2218-4141 ถึง 2 เว็บไซต์ www.petromat.org และเฟซบุ๊ก petromat.coe