คีโทนเป็นสารที่ตับและไตสร้างจากไขมันที่สะสมไว้ เพื่อใช้เป็นแหล่งพลังงานสำรองเมื่อร่างกายมีน้ำตาลในเลือดไม่เพียงพอ ซึ่งอาจเกิดขึ้นอย่างเป็นปกติ ตัวอย่างเช่นในคนที่รับประทานอาหารโดยจำกัดคาร์โบไฮเดรตตามหลัก “คีโทไดเอต” เพื่อหวังผลด้านสุขภาพอย่างการลดน้ำหนัก ทว่าการมีสารคีโทนในร่างกายอาจมีสาเหตุจากโรคอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ซึ่งร่างกายผู้ป่วยไม่สามารถนำน้ำตาลไปเผาผลาญให้เป็นพลังงานได้ ส่งผลให้ตับและไตสร้างสารคีโทนออกมาในปริมาณมาก หากอวัยวะต่าง ๆ ไม่สามารถใช้สารคีโทนได้ทันก็จะเกิดการสะสมจนมีภาวะเลือดเป็นกรดซึ่งเป็นอันตรายมาก โดยสารคีโทนส่วนหนึ่งจะถูกขับออกทางปัสสาวะ
ภาวะผิดปกติดังกล่าววินิจฉัยได้โดยการตรวจวัดระดับสารคีโทนในเลือด ซึ่งต้องทำในสถานพยาบาล อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีในปัจจุบันทำให้เราสามารถตรวจวัดสารคีโทนในปัสสาวะในเบื้องต้นได้ด้วยตัวเอง โดยคุณกานต์พิชชา เมืองเดช ทีมวิจัยของ รองศาสตราจารย์ ดร.เฟื่องฟ้า อุ่นอบ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ประดิษฐ์ชุดตรวจวัดสารคีโทนในปัสสาวะแบบที่อ่านผลได้ง่ายจากการสังเกตการเปลี่ยนแปลงของสีบนแถบกระดาษ ซึ่งเป็นผลมาจากการเกิดสารประกอบเชิงซ้อน โดยอาศัยการเกิดปฏิกิริยาระหว่างสารคีโทนในปัสสาวะกับสารเฟอร์ริกไอออน และการจับกันระหว่างเฟอร์ริกไอออนที่เหลือจากปฏิกิริยาข้างตันกับสารเคอร์คูมินสีเหลืองที่อยู่บนแถบกระดาษ ซึ่งจะกลายเป็นสารประกอบเชิงซ้อนสีน้ำตาลแดง ดังนั้นหากในปัสสาวะมีสารคีโทนในระดับที่สูงขึ้นก็จะทำให้เฟอร์ริกไอออนที่เหลืออยู่มีปริมาณลดลงและส่งผลให้เกิดการจับกับเคอร์คูมินได้น้อยลง แถบกระดาษก็จะปรากฏสีน้ำตาลแดงชัดเจนน้อยลงแต่ค่อนไปเป็นสีเหลืองมากขึ้นนั่นเอง
เทคโนโลยีดังกล่าวช่วยให้เราเฝ้าระวังอาการผิดปกติของผู้ป่วยได้อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้การตรวจสารคีโทนในปัสสาวะยังเป็นที่นิยมในหมู่คนรักสุขภาพที่ต้องการติดตามการเปลี่ยนแปลงของร่างกายระหว่างการควบคุมอาหารตามหลักคีโทไดเอต โดยนักวิจัยยังต้องการพัฒนาให้ชุดตรวจสามารถวัดสารคีโทนได้ในระดับต่ำกว่า 0.5 มิลลิโมลาร์ และมีประสิทธิภาพมากกว่าชุดตรวจที่วางจำหน่ายอยู่ในปัจจุบัน ท่านที่ต้องการทราบในรายละเอียดสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโดยติดต่อ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ โทร. 02-218-4141 ถึง 2 เว็บไซต์ www.petromat.org และเฟซบุ๊ก petromat.coe