ไบโอดีเซลเป็นพลังงานทดแทนที่ผลิตได้จากแหล่งทรัพยากรหมุนเวียนโดยเฉพาะปาล์มน้ำมันซึ่งมีการปลูกกันมากในประเทศไทย โดยภาครัฐสนับสนุนให้มีการจำหน่ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็วที่ผสมไบโอดีเซลในอัตราส่วนต่าง ๆ อาทิ “ดีเซล B7” และ “ดีเซล B10” ซึ่งมีสมบัติการเผาไหม้ให้พลังงานคล้ายกับน้ำมันดีเซลที่ผลิตจากปิโตรเลียม อีกทั้งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า เพราะช่วยลดการปลดปล่อยฝุ่นละอองขนาดเล็กและก๊าซเรือนกระจกบางชนิด ทั้งนี้การผลิตไบโอดีเซลทำให้ได้สารกลีเซอรอลเป็นผลพลอยได้ออกมาด้วยในปริมาณมาก

กระบวนการผลิตไบโอดีเซลเรียกว่าทรานเอสเทอริฟิเคชัน โดยไทรกลีเซอไรด์ในไขมันสัตว์หรือไขมันพืชอย่างน้ำมันปาล์ม และแอลกอฮอล์จะทำปฏิกิริยาระหว่างกันกลายเป็นผลิตภัณฑ์สองชนิด ได้แก่ สารประกอบเอสเทอร์ซึ่งเป็นส่วนที่เรานำไปใช้เป็นไบโอดีเซล และสารกลีเซอรอลซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในหลายผลิตภัณฑ์ เช่นเป็นสารให้ความชุ่มชื้นในเครื่องสำอาง อย่างไรก็ดี กลีเซอรอลสามารถสังเคราะห์ให้เป็นสารโมโนกลีเซอไรด์ ซึ่งใช้ประโยชน์ได้หลากหลายกว่าและมีมูลค่าสูงขึ้น

การสังเคราะห์โมโนกลีเซอไรด์เกิดขึ้นในกระบวนการกลีเซอโรไลซิส ซึ่งมีสารตั้งต้นคือกลีเซอรอลและไทรกลีเซอไรด์ โดยทั่วไปมีการใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาร่วมด้วย ทั้งนี้ คุณอิทธิฤทธิ์ พิไชยอ้น ทีมวิจัยของศาสตราจารย์ ดร.สมเกียรติ งามประเสริฐสิทธิ์ ร่วมด้วย ดร.เรืองวิทย์ สว่างแก้ว ภาควิชาเคมีเทคนิค คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการคิดค้นวิธีในการสังเคราะห์โมโนกลีเซอไรด์ในกระบวนการที่ไม่ต้องใช้ตัวเร่งให้ยุ่งยาก โดยผสมตัวทำละลาย เช่น ไอโซโพรพานอลและน้ำ ลงไปในสารตั้งต้นเพื่อลดความหนืด ซึ่งช่วยเพิ่มการเกิดปฏิกิริยาระหว่างกลีเซอรอลกับไทรกลีเซอไรด์ในน้ำมันปาล์ม โดยมีการศึกษาผลของตัวแปรอื่นด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น อัตราส่วนของสารตั้งต้นกับตัวทำละลาย อุณหภูมิและระยะเวลาในการเกิดปฏิกิริยา จนได้สูตรและสภาวะที่ดีที่สุดของการสังเคราะห์

โมโนกลีเซอไรด์เป็นสารอิมัลซิไฟเออร์ที่ช่วยให้น้ำและน้ำมันผสมกันได้ดี ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในหลายอุตสาหกรรม ตั้งแต่การผลิต อาหาร ยา เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ตลอดจนพลาสติก นับเป็นการประโยชน์จากสารชีวภาพที่ต่อเนื่องกันไปอีกในหลายมิติ โดยมีวัตถุดิบเริ่มต้นคือปาล์มน้ำมันที่ผลิตได้ในประเทศไทย ท่านใดสนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ โทร. 02-218-4141 ถึง 2 เว็บไซต์ petromat.org และเฟซบุ๊ก petromat.coe

เครดิตภาพ
– ภาพโดย Orientierungslust จาก Pixabay
– ภาพโดย PublicDomainPictures จาก Pixabay
– ภาพโดย jmexclusives จาก Pixabay
– ภาพโดย marcelkessler จาก Pixabay

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
petromat@chula.ac.th