เปลี่ยนกลีเซอรอลเป็นโพรเพนไดออล โดยใช้ไบโอเอทานอลและตัวเร่งปฏิกิริยาโลหะออกไซด์ กลายร่างสารธรรรมดาให้เป็นสารมูลค่าสูง สู่อุตสาหกรรมอาหารและยาในการสังเคราะห์โพรเพนไดออลโดยทั่วไปแล้ว กลีเซอรอลต้องทำปฏิกิริยาร่วมกับก๊าซไฮโดรเจนผ่านปฏิกิริยาไฮโดรจีโนไลซิส ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง นักวิจัยจึงได้พัฒนากระบวนการซึ่งมีราคาถูกลงโดยหันมาใช้ไบโอเอทานอล ซึ่งสามารถทำปฏิกิริยาร่วมกับกลีเซอลจนได้เป็นโพรเพนไดออลเช่นกัน นอกจากนั้นแล้วเอทานอลชีวภาพยังสามารถทำปฏิกิริยากับกรดแลกติกที่เป็นผลพลอยได้ในกระบวนการให้กลายเป็นสารเอทิลแลกเทต ซึ่งเอาไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอาหารได้อีกด้วย

กระบวนการดังกล่าวต้องใช้ตัวเร่งปฏิกิริยา โดยนักวิจัยได้เลือกใช้ตัวเร่งโลหะออกไซด์ที่เตรียมได้จากวัสดุเลเยอร์ดับเบิลไฮดรอกไซด์ จากการทดสอบประสิทธิภาพในการสังเคราะห์โพรเพนไดออล พบว่าตัวเร่งที่ผสมคอปเปอร์สามารถผลิตโพรเพนไดออลและเอทิลแลกเทตได้ในปริมาณมากกว่าที่ตัวเร่งซึ่งมีเฉพาะโลหะแมกนีเซียมและอะลูมิเนียมสามารถทำได้ งานวิจัยนี้จึงเป็นอีกตัวเลือกใหม่ในการเพิ่มมูลค่าสารเคมีด้วยวิธีที่คุ้มค่าคุ้มราคากว่านั่นเอง

ผลงานโดย คุณจิรายุ กุลจิราเสฐ ทีมวิจัยของศาสตราจารย์ ดร.ศิริรัตน์ จิตการค้า วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สนใจติดต่อ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ โทร 0-2218-4141 ถึง 2 เว็บไซต์ www.petromat.org และเฟซบุ๊ก petromat.coe

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
petromat@chula.ac.th