ใครเล่าจะรู้ น้ำมันปาล์มก็สามารถนำมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพเพื่อใช้ในอากาศยานได้ เพียงแค่ต้องรู้ก่อนว่าเชื้อเพลิงอากาศยานต้องใช้งานได้ในอากาศเย็นจัดที่อุณหภูมิไม่เกิน -47 องศาเซลเซียส และไม่เแยกตัวเป็นของแข็งจนทำให้ท่อเชื้อเพลิงอุดตัน ดังนั้น การลดจุดเยือกแข็งของเชื้อเพลิงชีวภาพด้วยกระบวนการเปลี่ยนสารนอร์มอลพาราฟินให้เป็นไอโซพาราฟินโดยใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาจึงมีบทบาทสำคัญ
โดยทีมวิจัยของรองศาสตราจารย์ ดร.อรรถศักดิ์ จารีย์ ได้สังเคราะห์น้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพจากน้ำมันปาล์มในเครื่องปฏิกรณ์แบบช่องจุลภาคที่เด่นด้านการถ่ายเทมวลสารและความร้อน ส่งผลให้ระยะเวลาในการเกิดปฏิกิริยาเคมีน้อยลงตามไปด้วย พร้อมกันนี้ยังได้ศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อคุณภาพและปริมาณของไอโซพาราฟิน ได้แก่ อัตราส่วนระหว่างนอร์มอลพาราฟินกับก๊าซไฮโดรเจน ความดันและอุณหภูมิ ช่วยผลักดันการใช้ประโยชน์จากปาล์มน้ำมันในมิติใหม่ ไม่แน่ว่าในอนาคตเราอาจเห็นประเทศไทยผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพไว้ใช้เองได้
การสังเคราะห์เชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพจากน้ำมันปาล์ม วิจัยและพัฒนาโดยรองศาสตราจารย์ ดร.อรรถศักดิ์ จารีย์ ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ผู้สนใจสามารถติดต่อศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ จุฬาฯ ผ่านทางเว็บไซต์ www.petromat.org หรือ โทร 0-2218-4141 ถึง 2