ผลิตภัณฑ์ใหม่สร้างกำไรเพิ่ม เริ่มด้วยกรดไขมันเดคาโนอิกจากน้ำมันปาล์มและน้ำมันมะพร้าวนำไปสังเคราะห์เป็นแอลกอฮอล์เดคานอล จากนั้นสังเคราะห์ต่อในอีกกระบวนการจนได้ออกทิลโดเดคานอล แอลกอฮอล์อีกชนิดที่ใช้งานได้มากมายออกทิลโดเดคานอลมีโครงสร้างโมเลกุลที่แตกแขนงเป็นกิ่งก้าน ซึ่งมีคุณสมบัติหลายอย่างต่างกับแอลกอฮอล์ที่มีโครงสร้างโมเลกุลเป็นสายเดียว อย่างแรก มีจุดหลอมเหลวต่ำทำให้คงสถานะเป็นของเหลวที่อุณหภูมิต่ำได้ดี ส่งผลให้ใช้งานในเครื่องยนต์บนเครื่องบินได้ อย่างที่สอง มีความหนืดน้อยจึงสามารถนำไปผลิตเป็นสารลดแรงตึงผิวในผงซักฟอก อย่างที่สาม กักเก็บน้ำได้ซึ่งเหมาะสำหรับใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง และอย่างสุดท้าย ช่วยชะลอการเสื่อมสภาวะจากปฏิกิริยาออกซิเดชัน ผลิตภัณฑ์จึงคงสภาพดีไว้ได้ยาวนาน

การสังเคราะห์เดคานอลทำได้ไม่ยาก ทว่าการสังเคราะห์ต่อให้เป็นออกทิลโดเดคานอลด้วยปฏิกิริยาเกอเบตทำยากกว่า นักวิจัยจึงพัฒนาปฏิกิริยาดังกล่าวโดยใช้ตัวเร่งเพื่อลดอุณหภูมิขณะทำปฏิกิริยาและเพิ่มผลผลิตของสารที่ต้องการ ตัวเร่งที่ใช้ได้แก่ผงโลหะนิกเกิล ซึ่งไม่เป็นเนื้อเดียวกันกับสารอื่นในกระบวนการ หลังใช้งานแล้วยังสามารถแยกกลับมาใช้ซ้ำได้อีก จึงไม่ทิ้งการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ข้อสำคัญคือแม้ว่าปฏิกิริยาเกอเบตแบบเดิมมีข้อจำกัดตรงที่ทำให้เกิดสารผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ได้หลากหลาย แต่จากการทดลองนี้พบว่าสามารถสังเคราะห์ออกทิลโดเดคานอลสูงถึงประมาณร้อยละ 40 ของผลได้ทั้งหมด จึงเรียกได้ว่าเป็นการพัฒนาการแปรรูปเพิ่มมูลค่าสารชีวภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยกระบวนการที่ใช้ก็ยังเป็นมิตรกับธรรมชาติอีกด้วย

ผลงานโดย คุณพัชรลักษณ์ โพธิ์วัง ทีมวิจัยของอาจารย์ ดร.ดวงกมล ตุงคะสมิต ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สนใจติดต่อ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ โทร 02-218-4141 ถึง 2 เว็บไซต์ www.petromat.org และเฟซบุ๊ก petromat.coe

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
petromat@chula.ac.th