จมูกอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ดิจิทัลที่ช่วยยกระดับการดมกลิ่นไปอีกขั้น เพราะได้รับการออกแบบให้สามารถรับรู้กลิ่นที่หลากหลายและทำงานต่อเนื่องยาวนานได้อย่างมีประสิทธิภาพ นับว่าเป็นการทลายทุกข้อจำกัดการดมกลิ่นของมนุษย์จมูกอิเล็กทรอนิกส์ที่ว่านี้ประกอบด้วยเซนเซอร์อาร์เรย์หรือชุดตัวรับรู้ที่ถูกจัดเรียงกันเป็นแถว มีความสามารถในการรับรู้กลิ่นได้คล้ายกับประสาทในจมูกของมนุษย์ ตัววัสดุผลิตจากพอลิเมอร์หลากหลายชนิดที่สามารถจับกับโมเลกุลที่มีกลิ่นและส่งสัญญาณการรับรู้ได้แตกต่างกัน หนึ่งในนั้นก็คือวัสดุนาโนคาร์บอน

วัสดุดังกล่าวผลิตจากพอลิเมอร์สังเคราะห์ที่มีชื่อว่าพอลิเบนซ็อกซาซีน ซึ่งให้ผลิตภัณฑ์เป็นคาร์บอนอันมีรูพรุนในระดับนาโนเมตรและมีพื้นที่ผิวในปริมาณมาก จึงสามารถเกิดปฏิกิริยาได้ว่องไว จากนั้นนักวิจัยก็นำวัสดุที่ได้ไปเตรียมร่วมกับแผ่นฟิล์มพอลิเมอร์อีกตัวในอัตราส่วนที่เหมาะสม แล้วนำไปทดสอบความสามารถในการตอบสนองต่อไอระเหยชนิดต่างต่าง เพื่อพัฒนาจมูกอิเล็กทรอนิกส์ประสิทธิภาพสูงที่สามารถทำหน้าที่ตรวจสอบเอกลักษณ์ด้านกลิ่นทดแทนการทำงานของมนุษย์ ช่วยอำนวยความสะดวกรวมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตให้ปลอดภัยได้อีกด้วย

ผลงานโดย คุณทิพย์ศิรินทร์ วงศ์ใจเย็น ทีมวิจัยของรองศาสตราจารย์ ดร.ธัญญลักษณ์ ฉายสุวรรณ์ วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สนใจติดต่อ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ โทร 0-2218-4141 ถึง 2 เว็บไซต์ www.petromat.org และเฟซบุ๊ก petromat.coe

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
petromat@chula.ac.th