สารหนูมีการใช้ประโยชน์หลายอย่างในบางอุตสาหกรรม ตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมแบตเตอรี่ การผลิตวัสดุประเภทแก้วและอัลลอยด์ การถนอมเนื้อไม้ การสังเคราะห์สารกำจัดศัตรูพืช ฯลฯ ซึ่งอาจเกิดการกระจายออกสู่สิ่งแวดล้อมและปนเปื้อนตามแหล่งธรรมชาติ โดยส่วนมากสะสมในน้ำและในดิน ทำให้อาจตรวจพบได้ในผลิตผลทางการเกษตรอย่างข้าวและผักผลไม้ จึงส่งผลให้บางคนอาจรับสารหนูโดยไม่รู้ตัวจนเกิดปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะโรคมะเร็งหากร่างกายรับสารนี้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานาน ทั้งนี้ประชากรทั่วโลกกว่าล้านคนมีความเสี่ยงจากการบริโภคสารหนูที่ปนเปื้อนในแหล่งน้ำ ซึ่งรวมทั้งคนไทย

ในแหล่งน้ำมีการปนเปื้อนของสารหนูในรูปสารประกอบอาร์เซไนต์และอาร์ซีเนต ซึ่งทั้งสองรูปแบบมีความเสถียรในธรรมชาติ แนวทางที่ดีที่สุดในการป้องกันการรับสารนี้ก็คือการหลีกเลี่ยงการบริโภคน้ำที่มีปริมาณสารหนูเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้ โดยการวิเคราะห์เชิงคุณภาพและเชิงปริมาณอย่างถูกต้องและแม่นยำสามารถทำได้หลายวิธี อาทิ เทคนิคทางสเปกโทรสโกปีและเทคนิคทางโครมาโทกราฟี อย่างไรก็ดีเทคนิคเหล่านี้ล้วนต้องทำในห้องปฏิบัติการและมีราคาสูง ทว่าการตรวจวัดสารหนูด้วยอีกวิธีโดยใช้ตัวรับรู้เชิงสีเป็นเทคนิคที่สามารถวิเคราะห์สารหนูได้ทันทีในภาคสนามและมีต้นทุนต่ำกว่า

นักวิจัยนำโดยคุณชิดชนก โพธิ์ศรี ทีมวิจัยของรองศาสตราจารย์ ดร.อภิชาติ อิ่มยิ้ม ร่วมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.ณรงค์ ประไพรักษ์สิทธิ์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงมีแนวคิดในการพัฒนาตัวรับรู้หรือเซนเซอร์ที่สามารถเปลี่ยนสีเมื่อตรวจพบว่ามีสารหนูปนเปื้อนในน้ำ โดยเซนเซอร์ดังกล่าวผลิตจากทองคำซึ่งมีขนาดอนุภาคในระดับนาโนเมตร โดยผ่านการดัดแปรด้วยสารสามชนิด ได้แก่ ซิเทรต ทาร์เทรต และเฟอร์ริกไอออน เพื่อเพิ่มความเสถียรของอนุภาคทองคำ ส่งผลให้การเปลี่ยนแปลงสีของเซนเซอร์สามารถสังเกตด้วยตาเปล่าได้อย่างชัดเจน

เทคนิคการตรวจวัดเชิงสีเป็นวิธีเบื้องต้นที่สามารถวิเคราะห์สารหนูในแหล่งน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งช่วยให้ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย ในกรณีที่มีการตรวจพบสารหนูก็สามารถส่งน้ำไปวิเคราะห์ด้วยวิธีอื่นในห้องปฏิบัติการเพื่อให้ทราบข้อมูลเชิงปริมาณให้แน่ชัด ก่อนจะออกมาตรการป้องกันเพื่อมิให้มีการนำน้ำจากแหล่งที่มีสารหนูเกินเกณฑ์มาตรฐานไปใช้ในการอุปโภคบริโภค รวมถึงวางแผนจัดการการปนเปื้อนอย่างถูกวิธี ท่านใดต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ โทร. 02-218-4141 ถึง 2 เว็บไซต์ petromat.org และเฟซบุ๊ก petromat.coe

เครดิตภาพ
– Food photo created by freepic.diller – www.freepik.com

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
petromat@chula.ac.th