สารหนู ชื่อเหมือนจะน่ารัก แต่กลับมีพิษร้ายอันตรายถึงชีวิตหากได้รับเข้าสู่ร่างกายจากน้ำหรือดิน ซึ่งส่วนหนึ่งปนเปื้อนมากับน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรม การกำจัดสารหนูในน้ำเสียก่อนปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อมจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เช่น การดักจับมันด้วยวัสดุต่าง ๆ

เช่นเดียวกับงานวิจัยของคุณญาติกา ไพสาทย์ หนึ่งในทีมวิจัยของรองศาสตราจารย์ ดร.เฟื่องฟ้า อุ่นอบ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่กำลังพัฒนาวัสดุจากธรรมชาติอย่างไคโตซานที่สกัดได้จากเปลือกกุ้งปูและเซลลูโลสที่พบได้ในพืช ซึ่งล้วนหาง่าย ราคาถูก และย่อยสลายได้ทางชีวภาพได้อีกด้วย ทั้งนี้ ไคโตซานสามารถจับกับสารหนูด้วยแรงดึงดูดทางไฟฟ้าสถิต เพราะมีหมู่ทางเคมีประเภทเอมีนเป็นจำนวนมาก ส่วนเซลลูโลสนั้นก็มีหมู่ไฮดร็อกซิลที่สามารถถูกดัดแปรทางเคมีให้เป็นหมู่เอมีนจึงจับกับสารหนูได้ดีเช่นกัน ข้อดีของเซลลูโลสอีกประการก็คือ เราสามารถสังเคราะห์ให้เป็นอนุภาคระดับนาโนเมตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซับสารหนู พร้อมทั้งเสริมความแข็งแรงของโครงสร้างวัสดุไปในตัว

โดยนักวิจัยได้เตรียมวัสดุผสมสองชนิดนี้ร่วมกับวัสดุโครงข่ายโลหะอินทรีย์ชนิดหนึ่ง เพื่อให้วัสดุที่ถูกเตรียมขึ้นสามารถดักจับสารหนูได้ดียิ่งขึ้นไปอีก จากนั้นได้นำไปทดสอบประสิทธิภาพการดูดซับสารหนูในน้ำที่ปนเปื้อนจริงจากโรงงาน รวมถึงประเมินความสามารถในการนำวัสดุดูดซับกลับมาใช้ซ้ำ เป็นตัวอย่างของการนำวัสดุชีวภาพมาใช้ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ จนได้น้ำที่ใสสะอาดปลดปล่อยกลับคืนสู่สิ่งแวดล้อม

หากท่านใดสนใจในรายละเอียด สามารถติดต่อ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ โทร 0-2218-4141 ถึง 2 เว็บไซต์ www.petromat.org และเฟซบุ๊ก petromat.coe

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
petromat@chula.ac.th