ตรวจวัดสารพิษด้วยนวัตกรรมเซนเซอร์ชนิดใหม่ ใช้ตรวจจับไซยาไนด์ในน้ำ พร้อมส่งสัญญาณเปลี่ยนสีให้รู้ว่าปลอดภัย มองเห็นด้วยตาเปล่าได้ง่าย เพื่อความใส่ใจต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมนวัตกรรมใหม่ที่ว่านี้เรียกว่า อินดิเคเตอร์ดิสเพลสเมนต์แอสเซย์ ซึ่งตัวเซนเซอร์เป็นสารประกอบเคมีเชิงซ้อนที่ถูกสังเคราะห์ขึ้น อันประกอบไปด้วย หน่วยรับสัญญาณหรือรีเซปเตอร์ และอินดิเคเตอร์หรือหน่วยให้สัญญาณ ทั้งสองส่วนนี้จับรวมกันเป็นกลุ่มก้อนเรียกว่า เอนเซมเบิลรับรู้ทางเคมีและมีสีฟ้า ทว่าหากตรวจพบไซยาไนด์เอนเซมเบิลก็จะเปลี่ยนเป็นสารไม่มีสี เนื่องจากโครงสร้างทางเคมีเปลี่ยนแปลงไปจากการที่ไซยาไนด์เข้ามาจับเพิ่มเติมในเอนเซมเบิล
การสังเคราะห์เอนเซมเบิลที่ใช้เป็นตัวเซนเซอร์ในการตรวจจับไซยาไนด์ไม่ยุ่งยากซับซ้อน ซึ่งงานวิจัยนี้ใช้สารประกอบเชิงซ้อนของธาตุทองแดงเป็นรีเซปเตอร์ ส่วนอินดิเคเตอร์ใช้เป็นสารประกอบไพโรแกลลอล นอกจากนี้ ข้อดีอีกประการคือ เอนเซมเบิลที่สังเคราะห์ขึ้นยังมีความจำเพาะต่อไซยาไนด์ จึงสามารถตรวจวัดการปนเปื้อนในน้ำได้อย่างแม่นยำ ช่วยป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นทั้งต่อร่างกายและสิ่งแวดล้อม
ผลงานโดย คุณรัตนากร ธีรศรัณยานนท์ ทีมวิจัยของศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย ตัณฑุลานิ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สนใจติดต่อ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ โทร 02-218-4141 ถึง 2 เว็บไซต์ www.petromat.org และเฟซบุ๊ก petromat.coe